- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 05 January 2015 22:09
- Hits: 2483
กทค.เล็งหารือข้อเสนอ ADVANC นำคลื่น 900MHz เปิดประมูลก่อนหมดสัญญาสิ้นก.ย
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 1/2558 ในวันพุรุ่งนี้ (6 ม.ค.) จะมีการเตรียมนำข้อเสนอของบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เข้าสู่ที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ซึ่งบริษัทมีหนังสือลงวันที่ 23 กันยายน 2556 ขอให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการเปิดประมูลการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 เพื่อเป็นการเปิดเสรีทางโทรคมนาคมและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่จะสามารถวางแผนการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้า
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และเป็นกรรมการ กทค. มีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของบริษัท โดยมองว่า กสทช. มีหน้าที่ดำเนินการที่ต้องคำนึงถึงการใช้คลื่นความถี่อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่จึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดระยะเวลาในการใช้คลื่นแต่อย่างใด ขณะที่หากชักช้าอาจทำให้ประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่สำหรับใช้งานในอนาคตได้
“ถ้ามีการเตรียมประมูลล่วงหน้า ก็ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ เหมือนเช่นกรณีที่สัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นประกาศที่ผมเห็นว่า กสทช. ออกโดยไม่มีฐานอำนาจของกฎหมาย และถือเป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" กสทช. ประวิทย์กล่าว
อย่างไรก็ดี การพิจารณาวาระนี้คาดว่าที่ประชุม กทค.น่าจะเห็นชอบให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ล่วงหน้าก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด เพราะก่อนหน้านี้ กสทช.ก็เคยมีแผนจัดประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้ล่วงหน้า โดยตั้งใจว่าจะจัดให้มีการประมูลในเดือน พ.ย.57 แต่ภายหลังมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 17 ก.ค.57 ให้ชะลอการจัดประมูลคลื่นออกไป 1 ปี และให้ปรับปรุงระเบียบและคำสั่งต่างๆ เพื่อรองรับการจัดประมูลให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
ดังนั้น ประเด็นที่น่าจับตากันต่อไปในเรื่องนี้คือเรื่องเงื่อนไขและกติกาการจัดประมูล ซึ่งยังคงมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประการ ทั้งเรื่องความครอบคลุมโครงข่ายที่เงื่อนไขเดิมกำหนดไว้ค่อนข้างต่ำที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ภายใน 4 ปี การแบ่งบล็อกคลื่นสำหรับนำไปประมูลที่มีการแบ่งเป็น 2 x 17.5 MHz ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการทางเทคนิคและความเหมาะสมในการใช้งาน ตลอดจนเรื่องราคาตั้งต้นในการประมูลที่กำหนดไว้ต่ำเกินไป
นายประวิทย์ เปิดเผยว่า เงื่อนไขเดิมที่กำหนดความครอบคลุมโครงข่ายไว้ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ภายใน 4 ปี เป็นระดับความครอบคลุมที่อาจน้อยเกินไป เนื่องจากคลื่นย่าน 900 MHz เป็นคลื่นที่มีลักษณะทางเทคนิคในการให้ความครอบคลุมได้ดี (Coverage Band) ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจึงควรมีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่นี้ และควรครอบคลุมในเขตเมืองและชุมชนที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นทั้งหมด ส่วนเรื่องการแบ่งบล็อกคลื่น ควรมีการนำคลื่นย่าน 900 MHz ออกประมูลทั้งหมด โดยแบ่งบล็อกคลื่นเป็น 2 X 20 MHz เนื่องจากหากนำคลื่นออกประมูลในปริมาณที่น้อย ก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับคุณภาพบริการไม่เต็มประสิทธิภาพ
“การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ระบบใบอนุญาต ไม่ควรเป็นเพียงการนำคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานมาจัดสรรตามเดิมทั้งในมิติของขนาดคลื่นความถี่และจำนวนใบอนุญาต โดยไม่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แต่สามารถปรับช่วงความกว้างคลื่นย่าน 900 MHz เพิ่มเป็น 2 X 20 MHz ด้วยการลดขนาด Guard Band ลง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรคลื่นความถี่ และทำให้การแบ่งช่วงคลื่นความถี่ในการประมูลทำได้เหมาะสมยิ่งขึ้น และควรต้องพิจารณาขนาดบล็อกคลื่นความถี่ตามเทคโนโลยีที่มีการใช้งานจริงในวงการอุตสาหกรรมปัจจุบัน ซึ่งบล็อกละ 5 MHz จะทำให้ใช้งานคลื่นความถี่ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหากปรับช่วงความกว้างคลื่นเป็น 2 x 20 MHz จะสามารถแบ่งชุดคลื่นเป็น 2 ใบอนุญาตในขนาดเท่าๆ กัน และควรกำหนดให้แต่ละรายประมูลเพียง 1 ใบอนุญาต เพื่อสนับสนุนการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม" นายประวิทย์ กล่าว
สำหรับ ประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นที่เงื่อนไขเดิมกำหนดอัตราคิดลดไว้ที่ 30 เปอร์เซ็นต์จากราคาคลื่นที่มีการประมาณการ นายประวิทย์ เห็นว่า การกำหนดราคาตั้งต้นควรกำหนดให้ใกล้เคียงกับมูลค่าคลื่นที่ประมาณได้ เพื่อมิให้รัฐและสังคมเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
จากข้อมูลที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU ) ศึกษา พบว่าการกำหนดอัตราคิดลดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการร่วมประมูลแต่อย่างใด อีกทั้งอัตราดังกล่าวยังใกล้เคียงกับรายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยศึกษาเมื่อครั้งที่มีการเตรียมการจัดประมูลคลื่น 2100 MHz ว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 3 ราย ราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ ในตอนการประมูลทีวีดิจิตอล กสทช. ก็กำหนดให้ราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่เป็นราคาขั้นต่ำที่ยอมรับได้และเป็นราคาตั้งต้น ซึ่งถือเป็นการประกันความเสียหายจากความล้มเหลวของการแข่งขันในการประมูลได้ดีกว่า
นอกจากนี้ ที่ประชุม กทค.จะพิจารณาแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมของบริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด มีประเด็นที่น่าจับตาคือ เรื่องสิทธิของผู้ใช้บริการที่จะขอระงับการใช้บริการชั่วคราว ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่
ทั้งนี้ ในแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมที่เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณา ระบุเงื่อนไขเรื่องการขอระงับใช้บริการชั่วคราวว่า “ในกรณีมีเหตุจำเป็น ผู้ใช้บริการมีสิทธิขอระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน..." อย่างไรก็ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้มีการออกประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้ให้สิทธิผู้ใช้บริการในการขอระงับบริการชั่วคราวได้เช่นกัน เพียงแต่ในการนี้ มีการกำหนดเพิ่มเติมว่า “ให้ผู้ให้บริการจะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงที่ยินยอมให้ผู้ใช้บริการระงับการให้บริการโทรคมนาคมชั่วคราวไว้ในแบบสัญญาด้วยก็ได้" ขณะเดียวกัน พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เองก็ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาประกอบการพิจารณาสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมด้วย
จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเกิดการตีความกฎหมายไปใน 2 แนวทาง แนวทางแรกมองว่า ประกาศทั้งสองฉบับมีความขัดแย้งกัน จึงควรยึดตามประกาศ กทช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ โดยให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการระงับการใช้บริการชั่วคราว ขณะที่แนวทางที่สองเห็นว่า ประกาศทั้งสองฉบับไม่ได้ขัดแย้งกัน นั่นคือเป็นการให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถระงับบริการชั่วคราวได้ ดังนั้น ในการพิจารณาอนุมัติแบบสัญญาก็ควรคำนึงถึง พ.ร.บ คุ้มครองผู้บริโภคฯ ด้วย ซึ่งก็คือกำหนดให้สามารถขอระงับบริการชั่วคราวได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
เรื่องนี้ จะตีความกฎหมายไปในทิศทางใดก็อาจต้องตระหนักด้วยว่าแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมที่ได้รับความเห็นชอบจะเป็นแบบสัญญาที่ใช้บังคับกันระหว่างบริษัทกับผู้ใช้บริการ ดังนั้นเนื้อหาของสัญญาจึงเกี่ยวพันกับประโยชน์ของผู้ใช้บริการโดยตรง ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีวาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อทำหน้าที่ปรับปรุงประกาศ กทช. 2 ฉบับ คือ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
เจตนารมณ์ในการแก้ไขประกาศทั้งสองฉบับนับว่าเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ เพราะปัจจุบันสังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องความเสี่ยงอันตรายจากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่กันมากขึ้น อีกทั้งต่างประเทศในหลายประเทศก็มีการปรับค่ามาตรฐานความปลอดภัยให้เข้มข้นขึ้นโดยยึดหลักปลอดภัยไว้ก่อน
แต่แนวทางปฏิบัติการตั้งเสาส่งสัญญาณของบ้านเราที่ผ่านมา กลับพบว่าบางแห่งมีการตั้งเสาสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาต บางแห่งมีการตั้งเสาสัญญาณติดกับบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นสถานที่เปราะบาง มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบสูง รวมถึงกระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนบางครั้งก็ทำแค่การปิดประกาศ ทำให้หลายชุมชนมีการต่อต้านการตั้งเสาสัญญาณ โดยปัญหาที่ว่านี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหานี้ไม่ใช่เพียงปัญหาเชิงเทคนิค แต่เป็นปัญหาเชิงสังคมด้วย
วาระนี้ จึงน่าจับตาอย่างยิ่งว่า การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขประกาศ ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการล้วนแล้วแต่เป็นนักเทคนิค จะมีการประมวลบทเรียนจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเพื่อปรับปรุงแก้ไขประกาศดังกล่าวนี้อย่างไร และจะทันการณ์ต่อปัญหาเพียงใด หรือจะเป็นเพียงอีก 1 อนุกรรมการท่ามกลางที่ตั้งไว้มากมายของ กสทช.
อินโฟเควสท์