- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 04 January 2015 20:18
- Hits: 3168
กสทช.รุกสร้างโครงข่ายรองรับศก.ดิจิตอล
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2558 กสทช.พร้อมจะขานรับนโยบายระบบเศรษฐกิจดิจิตอล (ดิจิตอล อีโคโนมี) โดยตามแนวทางของสำนักงาน กสทช.จะเป็นการสนับสนุนเรื่องการให้บริการด้านโครงข่าย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันโครงข่ายที่มีการใช้งานอยู่แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.โครงข่ายมีสาย ผ่านสายไฟเบอร์ออพติก และโครงข่ายที่กระจายเป็นลาสไมล์เข้าถึงทุกครัวเรือน 2.โครงข่ายไร้สาย จะประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ,บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ,กลุ่มทรู ,บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โครงข่ายไร้สายที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2จี และระบบ 3จี โดยเฉพาะโครงข่ายไร้สายที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ในปัจจุบัน มีความจุในการรองรับการใช้งาน (คาปาซิตี้) ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานด้านสื่อสารข้อมูล (ดาต้า) ซึ่งปัจจุบันโครงข่ายไร้สายที่ให้บริการโทรทัศน์เคลื่อนที่ระบบ 3จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) มีการใช้งานเต็มพื้นที่เกือบหมดแล้ว
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดิจิตอลในบทบาทของ กสทช.นั้น ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความแข็งแรงและครอบคลุมให้มากที่สุด 2.พัฒนาให้ธุรกิจมีสายซึ่งมีอยู่ 7 หน่วยงาน คือ ทีโอที ,กสท โทรคมนาคม ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ,การไฟฟ้าภูมิภาค ,การไฟฟ้านครหลวง ,กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนธุรกิจไร้สายจะมีการสนับสนุนให้มีความครอบคลุมมากขึ้น จากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3.มีการตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานกลางขึ้นมากำกับดูแล และ4.สร้างความปลอดภัยของการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม โครงข่ายมีสายในขณะนี้มีทีโอที แคท เทเลคอม การไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟ้ฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือที่เรียกว่าเครือข่าย“ยูนิเน็ต”โดยโครงข่ายในระบบนี้ที่เกิดขึ้นจะต้องมีการบูรณาการสร้างโครงข่ายให้ได้มาตรฐานเดียวกัน