- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:29
- Hits: 2304
การเมืองไม่เปลี่ยน รูปแบบประมูลเดินตาม 3 จี
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า กำหนดการเดิมของ กสทช.ต้องเปิดการประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่ได้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย.56 ในช่วงเดือน ส.ค.57 ที่ผ่านมา และเปิดประมูล 4 จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือน ก.ย.57 ที่ผ่านมา แต่เมื่อมีคำสั่ง คสช.ให้ระงับการประมูลออกไป 1 ปีนั้น
กสทช.ต้องเริ่มเตรียมความพร้อมในการประมูลไปก่อน เมื่อผ่านช่วงเวลาระงับการประมูล กสทช.จะสามารถเปิดการประมูลได้ทันที ซึ่งหากการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะยึดรูปแบบการประมูลแบบเดียวกับการประมูล 3 จี ในครั้งก่อน เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมเป็นที่ยอมรับในสากล แต่ราคาเริ่มต้นการประมูลนั้น จะต้องสูงกว่าเดิมแน่นอน ไม่ควรลดลง เพราะประเทศชาติจะเสียประโยชน์ได้ เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจที่ต่างจากเดิม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่จะต้องนำมาคำนวณใหม่ จึงอาจจะทำให้มีการปรับราคาเริ่มต้นการประมูล
อีกทั้ง ตอนนี้กำลังคิดกันอยู่ว่าจะนำคลื่น 1800 เมกะ เฮิรตซ์ของดีแทคที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561 มาประมูลล่วงหน้าพร้อมกันเลยทีเดียวหรือไม่ เพราะปี 2558 กับปี 2561 ต่างกันไม่กี่ปี ซึ่งเรื่องนี้จะมีนักวิชาการเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลถึงข้อดี-ข้อเสียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำเสนอที่ประชุมกรรมการว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และ กสทช.ต้องเร่งให้เกิดแผนงานสำหรับเตรียมการประมูลภายในเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.58 ให้ได้ เพื่อนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และเปิดประมูล 4 จี ในเดือน ส.ค.-ก.ย.58
ประธาน กทค.กล่าวต่อว่า แม้ว่าขณะนี้ กสทช.ถูกจับตามองว่าต่อไปจะกลายเป็นเพียงองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อบทบาทการทำงานของ กสทช.หรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช.ในมาตรา 45 เสียก่อน ซึ่งถ้าจะทำได้ต้องรอให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ดังนั้น กสทช.ก็ยังคงต้องดำเนินการประมูลต่อไป และหากแผนการประมูลเสร็จสิ้น และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ก็ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้
"มีความมั่นใจว่าจะไม่มีการยุบรวมกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) และ กทค. อย่างแน่นอน เนื่องจากภาพใหญ่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชัดเจนว่าจะมีการเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งก็จะทำให้เห็นความชัดเจนว่า กสทช.จะเดินไปในจุดไหน ซึ่งก็จะต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถ้า พ.ร.บ.กสทช.ไม่ถูกยกเลิก กทค.ก็ยังคงเดินหน้าประมูลต่อไป แต่หาก พ.ร.บ.กสทช.ถูกยกเลิก ในขณะที่หลักเกณฑ์การประมูลได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา กทค.ยังจะต้องดำเนินการประมูลต่อไป และเชื่อว่า กสทช.จะไม่อยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที กสทช.ยังเป็นองค์กรอิสระที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบอำนาจต่อไป" พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ประเมินตลาดหลังการเปิดประมูล 4 จี ว่าการประมูลจำนวน 4 ใบอนุญาตบนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์นั้น จะมีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมมากกว่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ค่าประมูลใบอนุญาตที่ต้องส่งให้เป็นรายได้แผ่นดินไม่ต่ำกว่า 42,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะเป็นเงินจากการลงทุนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ตามเงื่อนไขของ กสทช. ซึ่งตัวเลขนี้มีพื้นฐานมาจากการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี ของคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีเม็ดเงินมากกว่า 220,000 ล้านบาท
เร่งเคลียร์คลื่นปี 58
ส่วนนโยบายการดำเนินงานของ กทค.ในปี 2558 กทค.ยังคงเร่งติดตามดำเนินการการประเมินการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300-2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับโครงข่ายบรอดแบนด์ไร้สายในอนาคต รวมถึงการผลักดันความถี่ย่านอี-แบนด์ (70-80 กิกะเฮิรตซ์) ซึ่งอยู่ในระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุม กทค. เพื่อนำมาใช้งานเป็นฟิกซ์ลิงค์ สำหรับโครงการหลักแบล็กฮอลล์ของโครงข่ายโทรทัศน์เคลื่อนที่ หรือเป็นการใช้งานโครงข่ายภายในองค์กรต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเข้าไปเจรจากับทีโอทีที่มีคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยการใช้คลื่นความถี่สำหรับควบคุมการจราจรและรักษาความปลอดภัยของระบบรางจีเอสเอ็ม-อาร์ รวมถึงการกำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่ด้านภารกิจเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอยู่ในแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2557-2561 และการวางแนวทางการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม
นอกจากนี้ กทค.ยังต้องติดตามผลการดำเนินการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 3 ราย ในเรื่องการจัดการข้อกำหนดด้านการสร้างโครงข่ายเพื่อการให้บริการ, อัตราค่าบริการ, คุณภาพในการให้บริการ ขณะนี้มีผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์ทั่วประเทศรวมกว่า 130 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 120% ของจำนวนประชาชน เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้โทรศัพท์นิยมใช้โทรศัพท์คนละ 2 เครื่อง หรือใช้โทรศัพท์ควบคู่กับแท็บเล็ต รวมทั้งการติดตั้งซิมการ์ดเลขหมายโทรศัพท์ในอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ปริมาณการใช้เลขหมายโทรศัพท์เพิ่มสูงมาก ส่วนการใช้งานเลขหมายโทรศัพท์ในระบบ 3 จี มีการใช้งานแล้วประมาณ 40 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 25% ของเลขหมายโทรศัพท์ ผลจากการเปิดใช้บริการโทรศัพท์ระบบ 3 จี.