- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:28
- Hits: 2427
คนไทยต้องได้ใช้ 4 จี
ไทยโพสต์ : หลังจากมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ชะลอการประมูลคลื่นเพื่อนำมาใช้ในเทคโนโลยี 4 จี ที่จะต้องประมูลตั้งแต่เดือน ก.ย.57 ที่ผ่านมา ออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดเดือน ก.ค.58 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่นั้น ได้เตรียมพร้อมโดยการส่งหนังสือไปสอบถาม คสช.ว่า ในระยะเวลาที่ถูกระงับการประมูลนั้น กสทช.สามารถเตรียมความพร้อมอะไรได้บ้าง และล่าสุดก็มีคำตอบจากฟากรัฐบาล เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่าจะต้องมีการเปิดประมูล 4 จี ในปี 2558 อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการ
3 ค่ายมือถือจุดยืน 4 จี เดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี ในปี 2558 ตามนโยบายและแนวคิดของรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล
โดยผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย มีจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการประมูลในปีหน้าเรื่อง ควรจะนำคลื่นมาจัดสรรให้สามารถใช้งานได้เพียงพอกับเทคโนโลยี 4 จี และรองรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่การนำคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ของเอไอเอสที่จะสิ้นสุดสัมปทานใน ก.ย.58 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่อยู่ในแผนเท่านั้น แต่ควรนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ ที่ดีแทคแสดงความประสงค์ที่จะมอบคืนเพื่อนำมาประมูลร่วมกัน มารวมในการประมูลครั้งนี้ด้วย เพื่อหาผู้ชนะล่วงหน้าในการได้สิทธิ์จัดการคลื่นดังกล่าว
อีกทั้ง 3 ค่ายมือถือยังเห็นร่วมกันว่า สำหรับการให้บริการ 4 จี ไม่ใช่เพียงคลื่นความถี่สูง 1800 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น แต่ควรต้องรวมถึงย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคม ซึ่งคลื่นความถี่ทั้งหมดที่จะถูกนำไปประมูลควรจะเป็นช่วง 2x5 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 2x10 เมกะเฮิรตซ์ เพราะเป็นขนาดของช่วงความถี่ที่เหมาะสมในเชิงเทคนิคกับการให้บริการดาต้าความเร็วสูง
* เอไอเอส
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวว่า ผลที่จะตามมาจากการประมูลครั้งนี้ ผู้ได้รับประโยชน์คือประเทศและประชาชนคนไทยทุกคน จะเกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าสากล เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ที่มีมูลค่ามหาศาลจากการขยายการลงทุนสู่ทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดคือ รายได้จากการประมูลการพัฒนา
ทั้งนี้ เอไอเอสพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 4 จีในครั้งนี้อย่างมาก ส่วนเรื่องเงินลงทุนหรืองบประมาณนั้น ต้องขอดูเงื่อนไขการประมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหารือร่วมกับคณะกรรมการของบริษัทก่อน ซึ่งตนมองว่าการให้บริการ 4 จีอย่างมีคุณภาพต่อ 1 ใบอนุญาตควรมีคลื่นความถี่ 30 เมกะเฮิรตซ์
โดยหน้าที่ของเอไอเอสคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับบริการด้านดิจิตอลต่างๆ ส่วนดิจิตอลอีโคโนมีของรัฐบาล เอไอเอสมองว่า นโยบายดังกล่าวเป็นภาพใหญ่ในการยกระดับอุตสาหกรรมภาคส่วนต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ดียิ่งขึ้นโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน
ทั้งนี้ หากเกิดดิจิตอลอีโคโนมีอย่างเต็มรูปแบบจะเกิดผลสำเร็จ 3 ด้าน คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนในชาติ 2.ลดต้นทุน รายจ่ายต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการในทุกประเภทธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันกับต่างประเทศ และ 3.เกิดนวัตกรรม สร้างสรรค์ผลงานใหม่ให้กับประเทศ ผ่านโครงข่ายพื้นฐานใหม่ทั้งโมบายล์ เน็ตเวิร์กและอินเทอร์เน็ตประจำที่ (ฟิกซ์ บรอดแบนด์) รวมไปถึงบริการไว-ไฟ
โดยเอไอเอสได้เดินหน้าพัฒนาใน 3 ส่วน คือ เครือข่ายมือถือ 3 จี รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับ 4 จี ที่กำลังจะมีในอนาคต, เอไอเอส ไว-ไฟ และเอไอเอส ฟิกซ์ บรอดแบนด์ ที่เริ่มขยายพื้นที่การให้บริการอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายคือการมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพของดีเอ็นเอเอส
* ดีแทค
นายซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ในปี พ.ศ.2558 สำหรับการนำคลื่นความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนถึงการนำย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ มาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคม จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับภาครัฐ ดีแทคยินดีคืนคลื่น 1800 ที่ว่างไปประมูลอีก 25 เมกะเฮิรตซ์ รวมกับคลื่นที่หมดสัมปทานแล้วจำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับดีแทคช่วงคลื่นใบอนุญาตที่เหมาะจะให้บริการคือคลื่นช่วงต่ำ 850-900 จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นช่วงบน 1800 จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 1 ใบอนุญาต จำนวน 30 เมกะเฮิรตซ์
ทั้งนี้ มองว่านโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล หรือดิจิตอลอีโคโนมี คือการมุ่งสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สู่การปลดล็อกศักยภาพทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่สำหรับการให้เข้าถึงเชื่อมต่อ และทำให้การบริการหรือข้อมูลเป็นระบบดิจิตอล กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมมีพลวัตเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ตามที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้คนไทย 80% มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันได้ภายในปี พ.ศ.2560
สำหรับ ดีแทค เชื่อมั่นว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการพัฒนาสู่นวัตกรรม ทั้งสินค้าและบริการที่ราคาเป็นธรรมและแข่งขันได้ มีการส่งเสริมให้มีการคุ้มครองและให้ข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้บริโภค ทั้งหมดนี้จะนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบเคลื่อนที่
* กลุ่มทรู
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มทรู กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4 จี ซึ่งจำเป็นต้องเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการวางแผนและการนำคลื่นความถี่ที่มีทั้งหมดมาจัดสรรใหม่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คลื่นความถี่ทั้งหมดควรจัดสรรเป็นช่วง 5 เมกะเฮิรตซ์ และ 10 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นขนาดของช่วงความถี่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน และมองว่าจำนวนใบอนุญาต 4 จีควรอยู่ที่ 20 เมกะเฮิรตซ์
สำหรับ การเปลี่ยนประเทศไปสู่ดิจิตอลอีโคโนมี เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 นั้น มองว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้มาจาก 2 ส่วนคือ 1.ฮาร์ดไซต์ ซึ่งประกอบไปด้วย อินเทอร์เน็ต แอ็คเซ็ส, การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (ไอไอจี), ดาต้า เซ็นเตอร์, โมบิลิตี้ เน็ตเวิร์ก และ
2.ซอฟต์ไซต์ ประกอบด้วย คลาวด์, ดาต้า อะนาไล ติกส์, ซอฟต์แวร์ ดีเวลลอปเปอร์, คอนเทนต์ อี-คอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนเครือข่ายไฮ- สปีดอินเทอร์เน็ต เอฟวีแวร์ของกลุ่มทรู ในปี 2558-2559 จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมไทย สู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีที่ให้ออนไลน์ได้ด้วยความเร็วสูง พร้อมรองรับบริการต่างๆ ในอนาคต อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายด้านดิจิตอลอีโคโนมีของรัฐบาล ที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที เป็นปัจจัยสำคัญ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทรู ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลระดับภูมิภาค
โดยกลุ่มทรูเชื่อมั่นว่า การขยายดิจิตอลอีโคโนมีดังกล่าวควบคู่กับการเดินหน้ายุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ที่ให้ความคุ้มค่าสูงสุดและตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า จะเสริมให้กลุ่มทรูคงความเป็นผู้นำในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ จากกรณีที่มีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายว่าควรเปลี่ยนการจัดสรรคลื่นความถี่ 4 จี จากการประมูล เป็นการพิจารณาให้ใบอนุญาตตามความเหมาะสม หรือ บิวตี้คอนเทสต์นั้น ผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอสและดีแทค เห็นควรว่าเพื่อความเหมาะสม ยุติธรรม และความโปร่งใสในการให้ใบอนุญาต ก็ควรจะจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีประมูลตามเดิม และรัฐบาลจะได้มีรายได้จากเงินค่าประมูลไปใช้ได้ด้วย ส่วนกลุ่มทรูมองว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ใช่ให้เอกชนได้คลื่นความถี่ไปใช้งาน แต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และไม่ควรมองว่าเอาเงินจำนวนมากมากองแข่งกัน เพราะบางประเทศมีการจัดสรรคลื่นความถี่แบบให้ไปเลย ไม่ต้องประมูล และไม่ต้องใช้เกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์แต่อย่างใด ดังนั้นก็อยากให้มองที่วัตถุประสงค์ของการจัดสรรมากกว่าจะใช้วิธีประมูลหรือบิวตี้คอนเทสต์ กลุ่มทรูยอมรับได้