- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 25 December 2014 19:08
- Hits: 2542
กทค.นัดประชุมมาตรการเยียวยา TRUE- ADVANC หลังหมดสัญญาสัมปทาน
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ในวันพรุ่งนี้(23 ธ.ค.) จะมีเรื่องที่ต้องพิจารณามากถึง 54 เรื่อง เนื่องจากไม่ได้มีการประชุมมานานกว่าเดือนครึ่งแล้ว
"กว่าเดือนครึ่งที่ไม่มีการประชุมกันเลย แม้จะเคยมีความพยายามนัดประชุมกันหนหนึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน แต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนประชุมนัดดังกล่าวออกไป โดยการประชุมนัดหลังสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ถึงกระนั้นในการนัดประชุมครั้งนี้มีการกำหนดระยะเวลาประชุมไว้เพียงครึ่งวัน ซึ่งคาดว่าไม่มีทางที่ กทค.จะสามารถพิจารณาวาระได้ครบถ้วนทั้งหมด" รายงานข่าว ระบุ
สำหรับ เรื่องที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องสืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 1800 MHz, เรื่องร่างประกาศการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ, เรื่องการบังคับใช้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมฯ, เรื่องแนวทางการสร้างท่อร้อยสายใต้ดิน, เรื่องการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ 3 หลักและ 4 หลัก
เรื่องสืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ มีทั้งสิ้น 4 วาระ คือ 1.การดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยา 2.ผลการพิจารณารายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ 3.ขอหารือแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงมาตรการเยียวยา และ 4.แนวทางการพิจารณาค่าใช้โครงข่ายของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งเคยบรรจุไว้ในวาระการประชุมครั้งที่ 28/2557 เมื่อวันที่ 8 พ.ย.57 แต่ถูกถอนออกจากวาระ กับอีกส่วนหนึ่งเคยบรรจุไว้ในวาระการประชุมครั้งที่ 29/2557 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.57 แต่มีการเลื่อนประชุมออกไป
"ประเด็นที่น่าจับจ้องชนิดห้ามคลาดสายตาคือ มีข้อเสนอแก้ประกาศมาตรการเยียวยาให้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สามารถรับลูกค้ารายใหม่ได้ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นอย่างมีประสิทธิภาพและมีรายได้นำส่งรัฐมากขึ้น แต่แนวทางนี้ดูจะสวนทางอย่างชัดเจนกับเจตนารมณ์แรกเริ่มของการออกประกาศที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ให้บริการใช้เป็นช่องทางแสวงหารายได้ แต่เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการเพียงชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทาน อีกทั้งหากมีการอนุญาตในลักษณะดังกล่าวยังน่าจะขัดกับมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ต้องได้มาด้วยวิธีการประมูล" รายงานข่าวง ระบุ
ส่วน ประเด็นการโอนย้ายเครือข่ายกรณีที่ผู้ใช้บริการบางส่วนยังไม่ได้โอนย้ายก็มีข้อเสนอขอแก้ไขประกาศว่า หากผู้ให้บริการแจ้งเตือนอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมเวลาทั้งสิ้น 75 วัน ถ้ายังไม่มีการโอนย้าย ผู้ให้บริการก็สามารถยกเลิกการให้บริการได้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า วิธีการนี้เท่ากับเป็นการลงดาบผู้ใช้บริการที่ไม่ได้โอนย้ายให้ต้อง “ซิมดับ" หรือเป็นการเลื่อนเวลาให้ซิมดับเร็วขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะไม่มีการพูดถึงเรื่องประสิทธิภาพของการสื่อสารและการให้ข้อมูลแต่อย่างใด
ขณะที่ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในช่วงประกาศมาตรการเยียวยา พบว่า นับตั้งแต่ประกาศใช้มาตรการเยียวยาจนถึงเดือนสิงหาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 11 เดือน 15 วัน บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด มีรายได้ที่จะนำส่งสำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 2,300 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการให้บริการของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด จำนวน 1,666 ล้านบาท และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำนวน 634 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายนี้ ยังไม่ได้รวมถึงค่าใช้โครงข่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม ไว้ด้วย ซึ่งผู้ให้บริการทั้งสองรายอ้างว่าไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่บริษัท กสท โทรคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงข่าย แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 14,141 ล้านบาท และเรียกเก็บค่าใช้โครงข่ายมายังสำนักงาน กสทช. ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าใครคือผู้ที่ต้องชำระค่าใช้โครงข่ายให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม, ผู้ให้บริการทั้งสองรายควรต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ก่อนนำเงินส่งสำนักงาน กสทช.หรือไม่, ต้นทุนค่าใช้โครงข่ายที่แท้จริงคือจำนวนเท่าไร เนื่องจากตัวเลขที่บริษัท กสท โทรคมนาคม ทวงถามมาที่สำนักงาน กสทช.ก็มียอดสูงกว่าผลการตรวจสอบรายได้ที่ผู้ให้บริการต้องนำส่งหลายเท่า และหากสำนักงาน กสทช. เป็นฝ่ายต้องควักกระเป๋าจ่าย แล้วจะไปไล่เบี้ยเรียกเก็บเงินจากใคร
อินโฟเควสท์