- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 28 May 2014 22:33
- Hits: 4040
3 ค่ายมือถือถกร่างประมูล 1800 MHz แนะกสทช.จำกัดการถือครองคลื่น
แนวหน้า : ที่ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1710 - 1722.5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) / 1805 - 1817.5 MHz และ 1748-1760.5 MHz/1843 - 1855.5 MHz พ.ศ... และ ร่างประกาศ กสทช.เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication - IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย โดยมีผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ ราว 400 คน และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ อาทิ นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และตัวแทน
นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กสทช.และ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน กทค. ยังยืนยันที่จะมีการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ต่อไป โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ สำนักงาน กสทช.จะนำข้อเสนอและความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไปวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบกับร่างประกาศฯ ซึ่งหากมีประเด็นที่แตกต่างจากร่างประกาศฯ?ดังกล่าว จะมีการพิจารณาและนำไปวิเคราะห์อีกครั้ง หลังจากนั้น เมื่อสรุปผลข้อคิดเห็นที่นำมาวิเคราะห์แล้วนั้นระยะเวลาในช่วงเดือน มิถุนายน 2557 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ 1800 MHz เพื่อพิจารณาผลประชาพิจารณ์ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กทค. กลางเดือนมิถุนายน 2557 และที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. ซึ่งในเดือน มิถุนายนจะสามารถผ่านความเห็นชอบต่อร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้ ก็จะนำไปสู่การประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม เดือน กรกฏาคม 2557 จะเป็นที่ประกาศหนังสือเชิญชวนสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูล และราวปลายเดือนสิงหาคม 2557 จะสามารถเปิดประมูล 4G ได้
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.และ กทค.เปิดเผยว่า ยังคงยืนยันเดินหน้าประมูล4G เช่นเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องโชคดีของ กสทช.ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่มีผลต่อการประมูลแต่อย่างใด อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเป็นตัวผลักดันให้เดินหน้าประมูล ทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz โดยเร็ว เนื่องจาก กสทช.มีการออกใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4G ได้ จะทำให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งขณะนี้ยังคงมั่นในว่าไม่มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประมูลในครั้งนี้
นายวิเชียร เมฆตระการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า สนับสนุน และเห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว อยากให้เกิดการประมูล 4G ขึ้น เนื่องจากจะมีการนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อจะทำให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หากร่างประกาศดังกล่าวมีข้อเสนอจำนวนมากก็ควรขยายเวลาในการรับฟังความคิดเห็นต่างๆออกไปอีกโดยเอไอเอสก็จะต้องรอผลสรุปจากเงื่อนไขต่างๆที่กสทช.กำหนดให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมบอร์ดเพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินในการเข้าประมูล 4G
นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทรูนำเสนอเรื่องของการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่เป็นคลื่นๆไปไม่ใช้เป็นการกำหนดรวมทุกคลื่นในการถือครอง เนื่องจากเป็นการป้องกันผู้ประกอบการรายใหญ่ถือครองคลื่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งการประมูล 1800-900 MHz ที่จะเกิดขึ้นก็จะมีบริษัทที่มีเงินทุนเป็นจำนวนมากเข้ามาประมูลคลื่นความถี่ไปหมด
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่าดีแทคมีความสนใจเข้าร่วมประมูล4G ในคลื่นความถี่ 1800 MHz แต่การประมูลครั้งนี้มีข้อแตกต่างจากการประมูล 3G บนคลื่น 2.1GHz ที่เป็นการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ในขณะที่การประมูล 1800 MHz เป็นการต่อยอดธุรกิจดังนั้นควรจะต้องมองภาพการลงทุนในระยะยาว และในฐานะการเป็นผู้ลงทุนต้องการความชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการวางแผนลงทุนระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ดีแทคจึงมีข้อเสนอต่อร่างประกาศดังกล่าวในประเด็นได้แก่ 1.ควรนำคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทานทั้งหมดทั้ง 850 MHz 900MHz และ1800 MHz มาประมูลพร้อมกัน(Multi band aucion) โดยกำหนดให้วันเริ่มใช้งานแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมแล้วแต่ย่านคลื่นความถี่ 2.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะอนุญาตที่กสทช.จะจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz ขนาด 12.5x2MHz จำนวน 2 ช่วงคลื่น ซึ่งดีแทคเห็นว่าเทคโนโลยีมีแนวโน้มใช้คลื่นความถี่เป็นจำนวน 5 MHz
แม้ว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้อาจจะมีผู้ชนะการประมูลนำคลื่นไปให้บริการ 2G ที่สามารถใช้งานคลื่นความถี่ช่องละ 200 KHz ซึ่งจะทำให้ใช้งานในแต่ละชุดได้มากสูงสุด 2x12.4MHz และเหลือคลื่นความถี่ 2x0.1MHz ซึ่งในอนาคตการใช้งาน 2G ต่อไปอีก 2-3 ปีจะเปลี่ยนไปเป็นเทคโนโลยี 4G ในที่สุด อีกทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่มีอายุใบอนุญาต 19 ปีซึ่งจะทำให้คลื่นความถี่จำนวน 2x2x2.5 ไม่ได้ถูกใช้งานถึง 17 ปี
ขณะเดียวกัน ในประเด็นที่ 3.เรื่องราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่(reserve price) ซึ่งมีราคาสูงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบในต่างประเทศ และในยุโรป ดีแทคเห็นว่าควรมีมูลค่า 4,170 ล้านบาทเมื่อปรับมูลค่าคลื่นความถี่ของประเทศในยุโรปด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)ของประเทศไทย ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าคลื่นความถี่จากรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย(ARPU)ของประเทศไทยจะมีมูลค่า7,880 ล้านบาทต่อขนาดคลื่น 12.5x2
"กสทช.ควรที่จะออกแผนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เหลือของดีแทคจำนวน 25 MHz ให้ชัดเจนว่าจะนำมาเปิดประมูลเมื่อใด"