- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 11 January 2021 17:50
- Hits: 2791
กสทช. MDES และ NT พร้อมสนับสนุนคนไทยเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกเว้นค่าใช้บริการดาต้าสำหรับแอปพลิเคชัน'หมอชนะ'
MDES และ NT พร้อมนำ Mobile 3 แบรนด์ NT mobile, my, TOT mobile ร่วมให้บริการดาต้าฟรีสำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันหมอชนะ หนุนประชาชนเฝ้าระวังการแพร่ระบาด และภาครัฐบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เต็มที่
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนร่วมมือเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยได้มอบนโยบายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนใช้งานแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ NT โดยไม่คิดค่าใช้บริการดาต้า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการใช้งานซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยกันเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแล สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของประชาชนเองและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่
"หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุน เริ่มเปิดให้ใช้งานตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เชิญชวนให้ประชาชนติดตั้งและใช้งานเพื่อให้สามารถรับแจ้งข้อมูล ข้อแนะนำในการปฏิบัติตน หรือคำเตือนเพื่อลดความเสี่ยงหรือเลี่ยงจากการติดเชื้อ รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินการสอบสวนโรคและการเฝ้าระวังโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยคุณสมบัติที่สำคัญของแอปพลิเคชันหมอชนะมีหลายประการที่ทำให้เป็นแอปพลิเคชันที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่น มีการถ่ายรูปของผู้ใช้งานเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ใช้งานจริง สามารถติดตามเส้นทางของผู้ใช้แอปพลิเคชันซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้กรมควบคุมโรคใช้ประกอบในการสืบสวนโรค และใช้ในการค้นหาว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันรายใดอยู่ในสถานที่เสี่ยงในช่วงวันและเวลาร่วมกับผู้ติดเชื้อเพื่อกรมควบคุมโรคจะได้ส่งข้อความแจ้งเตือน"
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันหมอชนะจะเก็บรูปถ่ายของผู้ใช้งานไว้ที่เครื่องของผู้ใช้งานเท่านั้น จะไม่มีการเก็บรูปถ่ายไว้ที่ Server ส่วนกลางของระบบแต่อย่างใด ในกรณีที่โทรศัพท์มือถือไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันจะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางไว้ในโทรศัพท์มือถือก่อน เมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้วจึงจะส่งข้อมูลไปจัดเก็บที่ระบบส่วนกลาง ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ และอื่น ๆ ในแอปพลิเคชันและระบบ
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่าได้เตรียมการรองรับทางด้านเทคนิคและการประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนสำหรับการยกเว้นค่าใช้บริการในการใช้งานแอปพลิเคชันหมอชนะของ NT ไว้พร้อมแล้ว โดยจะยกเว้นทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการ NT Mobile รวมทั้ง my และ TOT mobile ซึ่งเป็นบริการเดิมที่ NT ให้บริการต่อเนื่องภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ทิ่ผ่านมา โดย my เป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เคยให้บริการในนาม CAT ส่วน TOT Mobile เป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เคยให้บริการในนาม TOT
DES มาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ สนับสนุนการใช้แอปพลิเคชัน 'หมอชนะ' โดยไม่คิดค่าดาต้าเมื่อประชาชนใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค เอ็นที ได้สนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยการสนับสนุนการใช้แอปพลิเคชัน 'หมอชนะ' โดยไม่คิดค่าดาต้าเมื่อประชาชนใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับมาเกี่ยวกับการสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ของรัฐบาล โดยสำนักงานฯ ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ ผู้ให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (เน็ตบ้าน) หารือมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด–19 ระบาดรอบใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน ได้ข้อสรุปดังนี้
1.กรณีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) หรือเน็ตบ้าน
ผู้ประกอบการฯ สนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) โดยปรับเพิ่มความเร็วขึ้นไม่ต่ำกว่า 100/100 Mbps สำหรับผู้ใช้บริการที่ใช้บริการในโครงข่ายไฟเบอร์ และเพิ่มความเร็วให้เต็มขีดความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ เช่น xDSL
2.กรณีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband)
ปัจจุบันผู้ประกอบการได้มีการออกแพ็คเกจเสริมในการสนับสนุนการ Work From Home อยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม จึงมีความร่วมมือในการออกแพ็คเกจเสริมพิเศษ ในราคา 79 บาทต่อเดือน (ไม่รวม VAT) ใช้งานได้ 30 วัน ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน (Unlimited Data) ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 10 Mbps เพื่อรองรับการใช้งานแอปพลิเคชัน Work From Home ต่าง ๆ เช่น Microsoft Teams 365, ZOOM (ค่าบริการไม่รวมค่า license ในการใช้งานแอปพลิเคชัน)
นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. ได้กำชับให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายดูแลคุณภาพสัญญาณให้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ประชาชนทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยเฉพาะเรื่องโครงข่ายในการรองรับโครงการคนละครึ่งรอบใหม่ของรัฐบาล และเตรียมระบบรองรับ OTP ในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ของโครงการด้วย สำหรับโรงพยาบาลภาคสนาม สำนักงานฯ ก็ได้ขอความร่วมมือให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายสนับสนุนการติดตั้ง Internet WiFi และสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เตรียมรองรับการปฏิบัติงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ และการใช้บริการ ณ โรงพยาบาลภาคสนามที่จังหวัดสมุทรสาครเรียบร้อยแล้ว
“สำนักงาน กสทช. พร้อมสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ของรัฐบาล และกำกับดูแลให้การติดต่อสื่อสารของคนไทยใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง”นายไตรรัตน์ กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ