- Details
- Category: กสทช.
- Published: Friday, 06 November 2020 12:08
- Hits: 15213
รุดหน้า !! กทปส. สรุปผลการจัดสรรเงินกองทุนปี 63 กว่า 2,600 ลบ. สู่ 85 โครงการ
พร้อมลงพื้นที่ตรวจการใช้งาน ‘ต้นแบบสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ’ รายงานสภาพอากาศเรียลไทม์
กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สรุปผลการจัดสรรเงินกองทุนปี 2563 มูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท สู่ 85 โครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ พร้อมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบการใช้งาน “ต้นแบบสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ” ของ สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้กองทุนประเภทที่ 1 โดยนวัตกรรมดังกล่าว เป็นระบบติดตามสภาพอากาศเรียลไทม์ ด้วยคลื่นความถี่และเน็ตไฮสปีด หนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินแนวทางป้องกันภัยพิบัติ ระบุพิกัดทีมค้นหา และช่วยเกษตรกรวางแผนเพาะปลูกแนวใหม่ หลังพบประเทศไทยและเพื่อนบ้านเผชิญสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทั้งนี้ สถานีดังกล่าว ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพและมาตรฐาน จากสมาคมวิทยุสมัครเล่นฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และล่าสุดได้รับการติดตั้งทั่วประเทศรวม 40 จุด
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า กทปส. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการจัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานต่างๆ สู่การพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่าง “นวัตกรรม/งานวิจัย” ที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน เศรษฐกิจ และสังคมในภาพรวม โดยที่ผ่านมา ในปี 2563 กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมกว่า 2,600 ล้านบาท ครอบคลุม 85 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
• ทุนประเภทที่ 1 (Open Grant) ครอบคลุม 41 โครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 256 ล้านบาท
• ทุนประเภทที่ 2 ประกอบด้วย ทุนมุ่งเน้นการบรรลุความสำเร็จตามนโยบายคณะกรรมการบริหารกองทุน มีประกาศ TOR จำนวน 33 โครงการ รวม 606 ล้านบาท ทุนต่อเนื่อง ที่ให้กับโครงการวิจัยที่เคยได้รับทุนและต้องการต่อยอดงานวิจัย จำนวน 2 โครงการ รวม 33.3 ล้านบาท และ ทุนกรณีทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐ จำนวน 4 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
• ทุนประเภทที่ 3 ทุนตามที่ กสทช. กำหนด ครอบคลุม 4 งานหลัก รวมเป็นเงินกว่า 1.31 พันล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม (Must Carry) ปี 2563 โครงการสนับสนุนอุปกรณ์คำบรรยายแทนเสียง และบรรยายเสียงแทนภาพ (AD,CC) โครงการสนับสนุนสถานพยาบาลและโรงพยาบาลภาคสนามในการต่อสู้สถานการณ์ โควิด-19 (COVID-19) กรอบวงเงิน 750,000,000 บาท และโครงการสนับสนุนการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิค
• ทุนประเภทที่ 4 ทุนสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จำนวน 500 ล้านบาท
โดยล่าสุด กทปส. ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานติดตั้ง และตรวจสอบประสิทธิภาพ “ต้นแบบสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ” ของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จังหวัดกระบี่ หนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนประเภทที่ 1/2561 ซึ่งเป็นระบบติดตามสภาพอากาศเรียลไทม์ ด้วยคลื่นความถี่และเน็ตไฮสปีด หนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินแนวทางป้องกันภัยพิบัติ ระบุพิกัดทีมค้นหา และช่วยเกษตรกรวางแผนเพาะปลูกแนวใหม่ ภายใต้โครงการ “โครงข่ายสื่อสำรองฉุกเฉินไร้สายระบุพิกัดอัจฉริยะ เพื่อการติดตามเฝ้าระวังภัยธรรมชาติและ SAR” หลังพบว่า หลายพื้นที่ในประเทศไทย เผชิญสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การมีเทคโนโลยีที่ช่วยคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ หรือรายงานข้อมูลทางธรรมชาติที่จำเป็น โดยการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายไร้สายประสิทธิภาพสูง จึงนับมีส่วนสำคัญยิ่ง ในการป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร. จักรี ห่านทองคํา นายกสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักวิจัยเจ้าของผลงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นแบบสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ 4 ส่วน ดังนี้ 1. สถานีรับข้อมูล (igate WX station) เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางธรรมชาติและข้อมูลประกอบแต่ละจังหวัด 2. อุปกรณ์ตรวจวัด (Sensor) ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งข้อมูลต่อไปยังสถานีรับข้อมูล 3. อุปกรณ์ระบบสายอากาศย่าน VHF ความถี่ 144.390 MHz และ 4. สายนำสัญญาณ แหล่งจ่ายพลังงาน พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงส่วนต่างๆ โดยขั้นตอนการทำงานของสถานีฯ คือ sensor จะตรวจวัดค่าทุก 10 นาที แล้วส่งข้อมูลมาที่สถานีรับข้อมูล igate จากนั้นจะส่งต่อข้อมูลมายังศูนย์รวมกลางเพื่อเก็บรวบรวม เพื่อนำข้อมูลมาประมวล และแสดงผล ตามที่ต้องการ ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งานในบริบทต่างๆ ได้ใน 3 มิติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
• ช่วยรัฐวางแผนเฝ้าระวัง/ป้องกันภัยธรรมชาติ ระบบจะทำการรายงานข้อมูลทางธรรมชาติที่จำเป็นแบบเรียลไทม์ (Real Time) จากอุปกรณ์ตรวจวัด (Censor) ในทุกพื้นที่ของประเทศ อาทิ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ ปริมาณน้ำฝน ทิศทางลม ค่าฝุ่นในอากาศ (PM2.5) เพื่อเป็นข้อมูลแก่ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน พลเรือน หน่วยงานของรัฐ ในการติดตาม เฝ้าระวัง และวางแผนป้องกัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ผ่านการสื่อสารในรูปแบบคลื่นความถี่วิทยุย่านความถี่ VHF ที่ไม่จำกัดโดยลักษณะภูมิศาสตร์ พร้อมทั้งแสดงผลในรูปแบบภาพกราฟิก ที่ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปใช้งาน จึงทำให้ประชาชนทุกคน มีโอกาสในการเลือกรับข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
• ปักหมุดค้นหาและช่วยเหลือแบบเรียลไทม์ ระบบจะทำการประมวลผลภูมิศาสตร์ พร้อมปักหมุดค้นหาและแสดงผลแบบเรียลไทม์ ในลักษณะ (ไฟแดงกระพริบที่โปรแกรม) โดยสามารถระบุ/จำแนกสิ่งต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งบุคคล รถยนต์ เครื่องบิน เรือ และพาหนะต่างๆ อีกทั้งยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ในทุกพื้นที่ จากทุกมุมโลกผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet) โดยผู้ใช้งานสามารถกำหนดขอบเขต หรือเส้นทางการช่วยของทีมได้แบบเรียลไทม์ สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่จริง เพื่อให้ผู้บริหารหรือผู้บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถปฏิบัติการค้นหาช่วยเหลือระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• ช่วยเกษตรกรวางแผนเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ระบบจะแสดงข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนเพาะปลูกในหลากมิติ อาทิ ปริมาณน้ำฝน ความชุ่มชื้นของดิน ระดับน้ำในแม่น้ำ/คลอง ความเร็วลม สภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังเก็บข้อมูลเป็นสถิติเพื่อนำมาใช้ในการพิจารณา รวมถึงวางแผนทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติการทำฝนหลวง ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านการบริหารจัดการด้านการบิน ในอนาคต
ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าว เป็นผลงานภายใต้ความร่วมมือกับ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยปัจจุบันทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ เป็นที่เรียบร้อยแล้วรวม 40 จุด ครอบคลุม 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยพร้อมรองรับการใช้งานได้ในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งคอมพิวเตอร์ ไอโอเอส (iOS) และแอนด์ดรอย (Android) อีกทั้งยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ โดย สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดร. จักรี กล่าว
ผู้สนใจสมัครขอรับทุนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8111, 02-554-8114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวที่ www.facebook.com/BTFPNEWS และ https://btfp.nbtc.go.th
#BTFP #กทปส #กองทุนกสทช #กองทุนวิจัยและพัฒนา #สถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ #สมาคมวิทยุสมัครเล่นฯ
A11134
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ