- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 10 February 2020 11:42
- Hits: 3577
เลขาธิการ กสทช. เผยแนวทางการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนอเมริกาและหลักการนำเสนอข่าวขององค์การอนามัยโลก กรณีเหตุการณ์กราดยิง และเหตุการณ์สะเทือนขวัญ พร้อมเสนอบอร์ด กสทช. พิจารณา เพื่อใช้เป็นแนวทางการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีสื่อมวลชนบางรายนำเสนอรายงานสดเหตุการณ์ที่คนร้ายกราดยิง รวมถึงการรายงานแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติการจับกุมคนร้ายที่ จ.นครราชสีมา สำนักงาน กสทช. ตระหนักถึงความเสียหายจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสถานีโทรทัศน์ในลักษณะดังกล่าว เมื่อได้ศึกษาข้อมูลที่มีการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะเดียวกันของสื่อมวลชนในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา กรณีเหตุการณ์ยิงกราด เหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ
และหลักการนำเสนอข่าวสารลักษณะนี้ของสื่อมวลชนที่องค์การอนามัยโลกได้เคยให้ไว้ พบว่า หลายประเทศมีการเลิกนำเสนอรูปคนร้ายในสื่อ เลิกการรายงานสดเหตุการณ์ ยกเลิกการนำเสนอคลิปเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ แล้ว เพราะในต่างประเทศมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และอาชญาวิทยา ออกมาเตือนถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารแบบนี้ว่านำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ ซึ่งจากผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า ข้อสันนิษฐาน ข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา และอาชญาวิทยาเหล่านั้น ออกมาเตือนนั้นเป็นความจริง
นายฐากร กล่าวว่า ผมเห็นด้วยกับแนวทางการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเหตุการณ์ยิงกราด เหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลกข้างต้น ที่การนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ควรมีการนำเสนอภาพคนร้าย รายละเอียด แผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คลิปเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่างๆ เพราะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จะทำให้คนร้ายทราบข้อมูลในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ส่งผลกระทบให้เจ้าหน้าปฏิบัติงานได้ยากขึ้น ทำเหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และไม่ควรนำเสนอข่าวถี่จนเกินไป ไม่ควรลงข่าวโดยใช้พาดหัวตัวโตๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่นำเสนอข่าวดัดแปลงให้มีลักษณะน่าตื่นเต้น เร้าใจ ไม่ชี้แจงรายละเอียด ลงลึกในรายละเอียดทุกขั้นตอนว่าฆ่าตัวตายยังไง ไม่ลงรูป หรือลงคลิปมาก
โดยเฉพาะกรณีการนำเสนอข่าวบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังไม่ควรลงชื่อคนร้ายในสื่อ หรือลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่าให้พื้นที่สื่อกับคนร้าย อย่าขุดคุ้ยเรื่องราวของคนร้ายมานำเสนอ ให้คนสนใจ ตื่นเต้น จนเกินเหตุ เพื่อให้ขายข่าวได้ และอย่าลงการแถลงคำพูด คำสารภาพผิดของคนร้าย ต้องไม่ให้ความสำคัญกับคนร้าย จนคนร้ายกลายเป็นฮีโร่ และจะนำแนวทางดังกล่าว เสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาใช้เป็นแนวทางในการทำข่าวลักษณะนี้ต่อไป
นายฐากร กล่าวว่า จากเหตุการณ์การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบ้านเราบางช่อง โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์บางสถานี ตั้งแต่ครั้งนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของ อาจารย์สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง จนกระทั่งการรายงานสดเหตุการณ์กราดยิงที่จ.นครราชสีมาในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ กระทบต่อจิตใจของประชาชนผู้รับชมข้อมูลข่าวสาร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ โดยมองแบบผิดๆ ว่าเป็นฮีโร่ การกระทำดังกล่าวทำให้ตัวเองโด่งดังได้ ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมไทยได้ ผมเห็นว่า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก และสังคมไทยไม่ควรเกิดเหตุการณ์การสูญเสียเช่นนี้อีกแล้ว การนำเสนอข่าวสารต่างๆ ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนมุมมองใหม่ ไม่ใช่นำเสนอในแนวที่เสมือนให้ผู้ชมอยู่ในเหตุการณ์อย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงผลจากการนำเสนอข่าวสารในรูปแบบนั้นๆ ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างด้วย
ดังเช่นกลยุทธ์การนำเสนอข่าวของสหรัฐอเมริกา อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่า สื่อมวลชนบ้านเราควรนำมาปรับใช้ คือ การกระทำของคนร้ายในแง่ลบเสมอ และเน้นย้ำถึงความน่าอับอายและขี้ขลาดของการกระทำของคนร้าย อย่าลงข่าวถึงเหตุผล หรือตรรกะ จนละเอียดยิบว่าทำไมคนร้ายลงมือก่อเหตุ เพราะคนร้ายคนต่อๆไป มันจะรู้สึกว่าเรื่องราวที่ดู หรืออ่านจากการนำเสนอข่าวคล้ายกับตัวเอง และอย่านำเสนอข่าวเหตุการณ์เช่นนี้นานไป อย่ามีการนำเสนอคลิปเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ควรนำเสนอข่าวสั้นๆ กระชับ และอย่านำเสนอข่าวในรูปแบบอนิเมชั่น หรือนำเสนอเป็นรายงานข่าว จำลองเหตุการณ์ให้ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก จนอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
“สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคน ทุกฝ่ายควรตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนในฐานะผู้นำเสนอข่าวสาร กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงประชาชนผู้รับสารด้วย ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน กำหนดแนวทาง แสดงท่าที ความต้องการต่อการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เหมาะสม ผมจะเสนอแนวทางการนำเสนอข่าวแบบนี้ให้บอร์ด กสทช. พิจารณา เพื่อให้มีการนำเสนอข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์เกิดประโยชน์ต่อสังคม การนำเสนอข่าวสารเหตุการณ์ที่รุนแรง สะเทือนขวัญต้องดำเนินการอย่างรอบครอบจะเน้นที่ความเร็วอย่างเดียวไม่ได้ การนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์คำนึงถึงผลดี ผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการนำเสนอและรับข้อมูลข่าวสารมากกว่า”เลขาธิการ กสทช. กล่าว
ที่มา : Face Book วิทยาศาสตร์ทันโลก และภัยพิบัติในไทย
อ้างอิง : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5296697/
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0117259
https://www.latimes.com/california/story/2019-08-11/mass-shooters-seek-notoriety-in-media
https://psmag.com/social-justice/does-naming-the-shooter-in-the-media-lead-to-more-mass-violence
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web