- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 12 November 2019 19:53
- Hits: 2762
ประมูลคลื่น 5G 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 62 ปรับราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จาก 300 ล้านบาท เป็น 423 ล้านบาท
กสทช. เห็นชอบหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 5G และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ วันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 62 โดยให้ปรับราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จาก 300 ล้านบาท เป็น 423 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติกรอบการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 5G
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 พ.ย. 2562) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications-IMT) ย่านความถี่ 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications-IMT) ย่านความถี่ 24.25-27 กิกะเฮิรตซ์ และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยให้รับข้อสังเกตของ กสทช. ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ด้วยพร้อมทั้งให้ความเห็นชอบกรอบเวลาดำเนินการและงบประมาณในการจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz
โดยสำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูล 5G กสทช. กำหนดจัดการประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านคลื่นความถี่ ในปี 2563 เพื่อเปิดให้บริการ 5G โดยคลื่นที่จะนำมาประมูลได้แก่คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ดังนี้
คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จำนวน 2x15 MHz นำมาประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8,792 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 2,637.60 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 440 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุดในการประมูลผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้ตามที่ต้องการ สำหรับการชำระเงินค่าประมูลแบ่งการชำระออกเป็น 10 งวด งวดละ 10% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล
คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2x35 MHz นำมาประมูล 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 4,994.40 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินค่าประมูลแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% และงวดที่ 3 ชำระอีก 25% โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังได้กำหนดเงื่อนไขให้ ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้บริการครอบคลุม 40% ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปี และ 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
คลื่นความถี่ย่าน 2,600 MHz จำนวน 190 MHz นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท นำมาประมูล 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 1,862 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวนเงิน 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 93 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 10 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินค่าประมูล ปีแรก ชำระงวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาประมูลสูงสุดที่ชนะการประมูล ปีที่ 2-4 ยกเว้นยังไม่ต้องชำระค่าการประมูล ปีที่ 5-10 (งวดที่ 2-7) ชำระ ปีละ 15% โดยร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังได้กำหนดเงื่อนไขให้ ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้บริการครอบคลุม 40% ของพื้นที่ EEC ภายใน 1 ปี และ 50% ของพื้นที่เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละจังหวัด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา และภูเก็ต) ภายใน 4 ปี
คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 2700 MHz นำมาประมูล 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 423 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการมูลเป็นจำนวนเงิน 507.6 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 22 ล้านบาท เป็นใบอนุญาตทั่วประเทศ มีอายุ 15 ปี โดยคลื่นย่านนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 12 ใบอนุญาต สำหรับการชำระเงินค่าประมูลชำระงวดเดียว
การประมูล 5G ในครั้งนี้ จะใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ขั้นตอนการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ (Allocation Stage) และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage)
สำหรับ กรอบเวลาดำเนินการในการจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz หลังจากนี้จะนำร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.-12 ธ.ค. 2562 และคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 27 ธ.ค. 2562 จากนั้นวันที่ 2 ม.ค.–3 ก.พ. 2563 จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล และกำหนดให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 (เป็นการประมูลแบบ Multiband Auction) จากนั้นจะจัดให้มีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน ออกใบอนุญาตได้ในเดือน มี.ค. 2563 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือน ก.ค. 2563 ในบางพื้นที่ อาทิ พื้นที่ EEC
สำนักงาน กสทช. เตรียมจัดกิจกรรมพันธมิตรจิตอาสาระหว่างประเทศเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 ในวันที่ 16 พ.ย. นี้ เชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ นักวิทยุสมัครเล่นจาก 11 ประเทศ รวมทั้งนักวิทยุสมัครเล่นในประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสื่อสารกรณีเกิดภัยพิบัติ สร้างฐานข้อมูลนักวิทยุสมัครเล่นจิตอาสาระหว่างประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันเสาร์ที่ 16 พ.ย. 2562 นี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดจัดกิจกรรมพันธมิตรจิตอาสาระหว่างประเทศเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักวิทยุสมัครเล่นด้านการสื่อสารในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติด้วย งานนี้สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร เชิญผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ (International Amateur Radio Union หรือ IARU)ซึ่งเป็นองค์กรผู้ชำนาญการในเรื่องกิจการวิทยุสมัครเล่นภายใต้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นักวิทยุสมัครเล่นจาก 11 ประเทศ ที่ทำความตกลงต่างตอบแทนในกิจการวิทยุสมัครเล่นกับประเทศไทย (Reciprocal Agreement) นักวิทยุสมัครเล่นทั่วประเทศไทย ผู้แทนจากสถานทูต ร่วมกับสมาคมวิทยุสมัครเล่นไทยเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือกันในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติและประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เป็นต้น รวมกว่า 200 คน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสื่อสารกรณีเกิดภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การให้ความช่วยเหลืออื่นๆ
นายฐากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในงานผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ (IARU) นักวิทยุสมัครเล่นจากต่างประเทศ จะมาเล่าประสบการณ์การสื่อสารขณะเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ประสบการณ์จากประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ส่วนนักวิทยุสมัครเล่นจากประเทศไทยจะมีการถอดประสบการณ์นักวิทยุสมัครเล่นจิตอาสาประเทศไทย กรณีศึกษาถ้ำหลวง ซึ่งจากกิจกรรมในวันดังกล่าว จะทำให้เกิดฐานข้อมูลของนักวิทยุจิตอาสา ทำให้รู้ว่าใครมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญด้านใด เคยผ่านประสบการณ์แบบไหนมาบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติ ประเทศไทยสามารถประสานงานขอความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์ได้ทันที ทั้งนี้ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ สำนักงาน กสทช. จะอนุญาตให้มีการนำเข้าอุปกรณ์วิทยุสื่อสารได้เป็นการชั่วคราว โดยการยกเว้นใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการลดขั้นตอน ประหยัดเวลาดำเนินการ เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติเวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผ่านการอบรมและสอบเพื่อเป็นนักวิทยุสมัครเล่นทั้งขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง จำนวนกว่า 400,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้มาขอสัญญาณเรียกขานเพื่อใช้งานแล้ว จำนวนกว่า 200,000 คน โดยจากข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ปัจจุบันมีนักวิทยุสมัครเล่นที่มีการใช้งานวิทยุสมัครเล่น เพื่อติดต่อสื่อสาร อยู่จำนวน 76,436 คน ซึ่งทุกคนสามารถเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเหลือในด้านการติดต่อสื่อสารยามเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดภัยพิบัติได้ เพราะในขณะเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ กรณีการติดต่อสื่อสารหลักทางโทรศัพท์อาจใช้งานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า วิทยุสื่อสารจะเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารที่สำคัญที่จะมีบทบาทในภาวะวิกฤติเหล่านี้ ติดต่อสื่อสารเพื่อประสานกำลังในการเข้าไปช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ให้กำลังใจผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือในพื้นที่ ช่วยให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ไม่ขาดตอน
“การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 แล้ว เรายังหวังว่าจะสามารถพัฒนาทักษะของนักวิทยุสมัครเล่นในด้านการสื่อสาร การรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมทั้งจะเป็นการสร้างฐานข้อมูลนักวิทยุสมัครเล่นจิตอาสาระหว่างประเทศขึ้น อันจะเป็นประโยชน์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติในภายหน้า” นายฐากร กล่าว
คณะอนุกรรมการเยียวยาทีวีดิจิตอล สำนักงาน กสทช. เคาะกรอบค่าเยียวยา MUX รวมกว่า 761.42 ล้านบาทแล้ว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 พ.ย. 2562) คณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชย ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินค่าทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือ MUX ที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ จำนวน 4 ราย (5 ใบอนุญาต) ได้แก่กองทัพบก 2 โครงข่าย ไทยพีบีเอส 1 โครงข่าย บมจ. อสมท 1 โครงข่าย และกรมประชาสัมพันธ์อีก 1 โครงข่าย เป็นจำนวนเงินรวม 761,420,123 บาท โดยกองทัพบกจะได้รับเงินค่าเยียวยาจำนวนรวมทั้งสิ้น 159,284,487 บาท ส่วนไทยพีบีเอสจะได้รับเงินค่าเยียวยาจำนวนรวมทั้งสิ้น 254,076,774 บาท สำหรับบมจ. อสมท จะได้รับเงินค่าเยียวยาจำนวนรวมทั้งสิ้น 219,918,752 บาท และกรมประชาสัมพันธ์ จะได้รับเงินค่าเยียวยาจำนวนรวมทั้งสิ้น 128,140,110 บาท
นายฐากร กล่าวว่า หลังจากนี้เมื่อผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทั้ง 4 ราย ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ฯ เรียบร้อย เมื่อมีหนังสือเรียกเก็บเงินตามงวดงานมา ก็ส่งหนังสือดังกล่าวมาเบิกเงินกับสำนักงาน กสทช. ได้เลย ตามราคาที่ได้กำหนดไว้ตามงวดงานนั้นๆ ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดของสำนักงาน กสทช. เป็นการแก้ปัญหาทีวีดิจิตอลตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 ที่ให้เยียวยากับผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เพื่อนำไปใช้งานในกิจการโทรคมนาคม
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web