WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BEC เผย ศาลปกครองกลางยังให้ช่อง 3 ออกอากาศผ่านดาวเทียม เคเบิ้ล ได้จนถึง 11 คต.ค.นี้ 

    นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน เปิดเผยว่า  บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เปิดเผยว่า ด้วยบริษัทฯ ได้รับแจ้งจากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ว่าเมื่อวันที่ 26 ก.ย.57 บ.บางกอกฯ ได้ยื่นฟ้องสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) คณะกรรมการกสทช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนมติ กสท.ครั้งที่ 37/2557 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ย.57 และคำสั่งทางปกครองตามหนังสือ ทสช.0412/29664 ลงวันที่ 10 ก.ย.57 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทั้งหมด นำสัญยาณ ช่อง 3 ซึ่งกสท.ได้มีมติให้สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการทั่วไป ไปออกอากาศให้แก่ลูกค้า ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับคำสั่งตามหนังสือ (ประมาณ 27 ก.ย.57 เป็นต้นไป)

    ภายหลังการไต่สวน ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 37/2557 ประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ย.57 และคำสั่งทางปกครองตามหนังสือ ทสช.0412/29664 ลงวันที่ 10ก.ย. 57 ที่ให้โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี ยุตินำช่อง 3 ไปออกอ่ากาศบนโครงข่ายของตน โดยยังคงให้ช่อง 3 ออกอากาศในระบบโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลได้ปกติไปจนถึงวันที่ 11 ต.ค.57 เวลา 16.30 น.โดยศาลได้ให้คู่กรณีไปตกลงทำความเข้าใจกันเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาทในคดีนี้ และศาลให้คู่กรณีแจ้งผลความคืบหน้าผลการหารือให้ศาลทราบภายในวันที่ 11 ต.ค.57 เวลา 16.30 น.

ยันข้อพิพาท'ช่อง 3-กสทช.'จบก่อน 11 ตค. ปัดปมบอร์ด 'กสท'ขัดแย้งกัน

   แนวหน้า : ยันข้อพิพาท'ช่อง3-กสทช.'จบก่อน11ตค. ปัดปมบอร์ด'กสท'ขัดแย้งกัน 'นที'ชี้แค่ความเห็นไม่ลงตัว

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตช่องดิจิตอล 33 ช่องความคมชัดสูง ( HD) ยืนหนังสือขอ ให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เชิญเข้าร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการออกอากาศของ ช่อง 3 อนาล็อก อีกครั้ง  โดยมี นายพสุ ศรีหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) เป็นผู้รับหนังสือ

     ก่อนหน้านี้ ช่อง 3ยื่นฟ้อง ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครอง กรณี กสท เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2557 มีมติให้โครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี) นำช่อง 3 ระบบอนาล็อก ออกจากระบบการแพร่ภาพออกอากาศของโครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ออกไป หรือ ห้ามโครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี เผยแพร่สัญญาณช่อง 3 อนาล็อก ขณะที่ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาคำสั่งมติ กสท จนถึง วันที่ 11 ต.ค.2557

    พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธาน กสท.กล่าวว่า  กระบวนการขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล กำลังเป็นอยู่ระหว่างการเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านไปอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งกรณีของช่อง3 อนาล็อก  เชื่อว่าจะมีทางออกข้อสรุป ก่อนวันสิ้นสุดศาลฯทุเลา โดย กสท จะนัด ช่อง 3 เพื่อมาหารือให้เร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้

   พร้อมกันนี้ พันเอกนที ยืนยันว่า บอร์ด กสท ไม่ได้ขัดแย้งกันกรณีการหาทางออกของ ช่อง 3 อนาล็อก โดยมองว่า เป็นเพียงความเห็นขอบอร์ด กสท. ที่มีความเห็นไม่ลงตัวเท่านั้น

   “บอร์ดแต่ละคนวัตถุประสงค์ตรงกัน แต่แนวทางปฏิบัติแตกตางกัน ผมไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงเรื่องกฏหมายสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือทำให้อยู่ในกรอบแนวทางที่อำนาจหน้าที่ กสทช.พึงปฏิบัติ เราทำงานมา 3 ปี ผมในฐานะประธานกสท. ต้องเชื่อมั่น ของการเป็นโปรเฟสซินอลของกรรมการทุกคน”พันเอกนที กล่าว

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ผู้บริหาร จากบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)   นำโดย 1.นายประสาร มาลีนนท์ รองประธานกรรมการบริหาร 2.นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน 3. นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฏหมาย 4.นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ได้เดินทางเข้าพบ บอร์ด กสท. ทั้ง 5 คน ยกเว้น พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ ติดภาระกิจเดินทางไปประเทศเยอรมนี

ช่อง 3 อ้างมติกสท.ยังไม่ชัดเจน ยื้อส่งผัง-รอตั้งกก.หาทางออก

    แนวหน้า : ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในนาม บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด และบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด นำโดย นายประสาร มาลีนนท์ กรรมการผู้จัดการ นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน และนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เดินทางมาหารือร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในประเด็นเรื่องการออกอากาศคู่ขนานทั้งในระบบอนาล็อก และดิจิตอล โดยการหารือใช้เวลาทั้งสิ้น ราว 2 ชั่วโมง

    นายสุรินทร์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับทาง กสท. ว่า การหารือของช่อง 3 ในครั้งนี้มาในนามบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ต้องการให้คู่กรณีเจรจากัน และมาในนามบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด เพื่อสอบถามความชัดเจนจากมติบอร์ด กสท. เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้ช่อง 3 นำผังรายการมาส่งบอร์ด กสท. ให้พิจารณา เพื่อไปสู่การออกอากาศได้ทันที โดยหลังจากทางช่อง 3 หารือกับบอร์ด กสท. แล้ว พบว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนทางกฎหมาย ที่นำไปสู่การปฏิบัติในการออกอากาศคู่ขนานทั้งในระบบทีวีอนาล็อก และทีวีดิจิตอลได้

    อย่างไรก็ตาม ทางบีอีซี มัลติมีเดีย จะยังไม่ดำเนินการส่งผังรายการ ซึ่งเป็นผังรายการเดียวกับช่อง 3 อนาล็อก เพื่อออกอากาศคู่ขนานมายัง กสท. ตามมติบอร์ดดังกล่าว จนกว่าจะได้ความชัดเจนว่าวิธีการดังกล่าวนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากในทางปฎิบัติ กสท. ในฐานะผู้กำกับดูแลอาจจะยังไม่ทราบเท่ากับผู้ประกอบการเอง ว่าในธุรกิจทีวีนั้น จะมีการผูกพันเรื่องลิขสิทธิ์รายการ ที่มีทั้งปล่อยให้ผู้อื่นเช่าเวลา จ้างผลิต และผลิตเอง การจะโยกจากช่องของบริษัทหนึ่ง ไปอีกช่องของอีกบริษัทหนึ่ง จึงต้องดูในทางปฏิบัติตามกฎหมายด้วย

     นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า หลักจากนี้ภายในสัปดาห์นี้ อาจมีการนัดหารือเพิ่มอีกครั้ง ซึ่งทาง กสท. ก็ต้องยืนยันความถูกต้องในแต่ละประเด็นที่เรากังวลให้ได้ หรือไม่จนกว่าจะถึงกำหนดทุเลาคำสั่งศาลปกครองกลางในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ทาง กสท. จะมีเสนอทางออกอื่นให้พิจารณาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ กสท. แต่หากเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ทำให้เราหายกังวลได้ ทางช่อง 3 ก็พร้อมจะออกคู่ขนานทันที เนื่องจากจุดยืนของช่อง 3 เวลานี้ ต้องการหาทางออกให้ได้โดยเร็วเพื่อไปแจ้งต่อศาล ในเร็วๆ นี้ทางช่อง 3 และ กสท. อาจมีการตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายร่วมกัน เพื่อหาทางออกในข้อกฎหมาย เนื่องจากเวลาที่เหลืออยู่ของช่อง 3 ค่อนข้างจำกัดลงแล้ว

    ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ ช่อง 3 ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากมติบอร์ด กสท. เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การหารือในลำดับถัดไป ซึ่ง กสท. มีหน้าที่อธิบาย และช่วยหาทางออกเพื่อให้กระบวนการนำไปสู่การออกอากาศบนทีวีดิจิตอลง่ายขึ้น ส่วนการตั้งคณะกรรมการร่วม ยังไม่ได้มีการพูดถึงในการหารือกันแต่อย่างใด

    น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ช่อง 3 ยังคงกังวลในปัญหานิติบุคคลระหว่าง 2 บริษัท แต่ส่วนตัวคิดว่า ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วในการอธิบายความชัดเจนตาม มาตราที่ 9 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และ มาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่ทั้ง 2 ฉบับว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิ์เฉพาะตัว จะโอนหรือมอบแก่กันไม่ได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณี ทรูวิชั่นส์ ที่นำช่องบีบีซี หรือซีเอ็นเอ็น มาออกอากาศ ที่แม้ไม่ใช้เจ้าของช่องรายการ แต่ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากเนื้อหารายการที่ออกอากาศนั้นขัดต่อกฎหมาย ส่วนปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์รายการ ก็เป็นเรื่องของช่อง 3 ที่จะต้องไปจัดการเอง อย่ามาผลักภาระให้ กสท.

    ทั้งนี้ ถ้าช่อง 3 ยอมรับข้อเสนอและส่งผังรายการมาให้ กสท. ทาง กสท. ก็จะพิจารณา ซึ่งสิ่งที่ กสท.จะตรวจก็เป็นเพียงแค่เนื้อหาของสัดส่วนรายที่นำเสนอบนทีวีดิจิตอล เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตหรือไม่ เช่น ต้องมีรายการข่าวสารและสาระในอัตรา 25% มีข่าวพระราชสำนัก ทั้งนี้ช่อง 3 ในระบบทีวีดิจิตอลจะนำเนื้อหารายการบนทีวีอนาล็อกมาออกอากาศไม่เหมือนกัน 100% ก็สามารถดำเนินการได้ หากพบว่าเนื้อหา หรือสัดส่วนรายการใด ยังขัดกับกติกาของ กสท.

    “หากช่อง 3 ไม่รับข้อเสนอ ช่อง 3 ก็มีทางเลือกอื่น หากยังต้องการออกอากาศบนทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี โดยการมาขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี พร้อมทั้งทำตามกติกา แต่หากจะให้หาทางออกเพิ่มเติม แก้ไข หรือร่างกติกาข้อใด คงไม่ทำอีกแล้ว เพราะถือว่าทำอย่างดีที่สุดแล้ว เนื่องจากหาก กสท. ยังทำอะไรให้ช่อง 3 อีกจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่น”น.ส.สุภิญญา กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!