WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:15 น. ข่าวสดออนไลน์


นักวิชาการชี้ กสท.แก้ปัญหากรณีช่อง 3 ผิดพลาด - เหมือนลิงผูกแห

     เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ตัวแทนของบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เชิญเข้าร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการออกอากาศของช่อง 3 อนาล็อกและช่อง 3 ดิจิตอล ตามคำสั่งศาลปกครอง โดยมีนายพสุ ศรีหิรัญ ผอ.สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) เป็นผู้รับหนังสือ

       เวลา 17.00 น. ทางบอร์ดกสท. 4 คน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. และ 4 กรรมการ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า, นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ หารือกับผู้บริหารช่อง 3 ประกอบด้วย นายประสาร มาลีนนท์ รองประธานกรรมการบริหาร นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 และนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ใช้เวลาหารือร่วม 2 ชั่วโมง

     พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท. กล่าวว่า แนวทางใดที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมจะทำ ส่วนมติบอร์ดกสท. เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ให้บริษัท บีอีซี-มีเดีย จำกัด ยื่นผังรายการที่จะออกอากาศในช่องดิจิตอล 33 เอชดี ตามแนวทางในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบอนาล็อก ตามที่บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ประสงค์จะนำรายการโทรทัศน์ช่อง 3 อนาล็อกของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด มาออกอากาศทางช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล หรือช่องดิจิตอล 33 เอชดี หากทางบีอีซียืนยันว่า ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล, มีอำนาจควบคุมและสามารถรับผิดรับชอบได้ ทั้งนี้ มติดังกล่าวนั้นไม่ใช่มติคำสั่งทางปกครองที่ช่อง 3 ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งถ้าช่อง 3 ไม่เห็นด้วย สามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์มติดังกล่าวมาได้ หรือจะไปฟ้องต่อศาลได้ก็เป็นสิทธิ์

      ด้านนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 กล่าวว่า การหารือยังไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ การหารือมาเป็น 2 ส่วน ในส่วนของบริษัทบางกอกฯ ช่อง 3 อนาล็อก หาแนวทางร่วมกันตามคำสั่งศาลปกครองเมื่อวันที่ 26 ก.ย. และส่วนของบริษัทบีอีซี-มีเดีย มารับฟังมติบอร์ดกสท.เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งต้องดูวิธีในการปฏิบัติทำอย่างไร และต้องอยู่ในวิสัยที่บริษัททำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยยังมีเวลา แม้ว่าจะใกล้สิ้นสุดแล้ว คาดว่าในอีก 1-2 วันจะมีการประชุมร่วมกันอีก ตอนนี้จะกลับไปศึกษาแนวทางดังกล่าวก่อน เพราะจะยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ต้องชัดเจนกันก่อนว่าทำได้ และไม่ขัดต่อกฎหมาย พร้อมกันนี้ทราบว่าทางกสท.จะแต่งตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้เป็นทีมพิเศษเพื่อลุยเรื่องนี้

     บ่ายวันเดียวกัน คณะนิเทศศาสตร์ ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ช่อง 3 กับ กสทช. : ประเด็นทางกฎหมายและสังคม ที่มากกว่าภาวะ จอดำ บนเคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้เสวนาประกอบด้วย นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, น.ส.อรพรรณ พนัสพัฒนา อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ, น.ส.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คระเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และน.ส.พิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วยผู้จัดละครช่อง 3 อย่าง พงษ์พัฒน์ ธัญญา วชิรบรรจง จริยา เอนโฟเน่ และจันจิรา จูแจ้ง เข้าร่วมงานเสวนาด้วย

      นางอรพรรณ พนัสพัฒนา อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า พูดในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย กสท.ควรจะหยุดเพื่อรอศาลปกครองตัดสินคดีที่ทางช่อง 3 ยื่นฟ้องมติบอร์ดกสท.ที่มีมติให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่เป็นผู้ประกอบการฟรีทีวีรายเดิม ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 พ้นจากการเป็นผู้ให้บริการเป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) หรือไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎมัสต์แครี่ หลัง 30 วันเมื่อได้ออกอากาศเป็นระบบทีวีดิจิตอล เพื่อรอคำสั่งศาลตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งหากช่อง 3 ชนะ ทางกสท.ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่หากกสท.ชนะ ช่อง 3 ก็ต้องพร้อมจอดำ

     ระหว่างรอคำตัดสินของศาล กสท.ควรหยุดนิ่ง หากต้องแก้ปัญหาควรตรงจุดมากกว่า ตอนนี้เหมือนแก้ปัญหาผิดไปเรื่อยๆ ยิ่งแก้ก็เหมือนลิงผูกแห ในฐานะนักกฎหมายจะไม่ออกมติเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ให้โครงข่ายดาวเทียม เคเบิล หยุดออกอากาศช่องทีวีอนาล็อก ภายใน 15 วัน เพราะว่าเสี่ยงในแง่กฎหมาย หากช่อง 3 ไม่ถูกศาลคุ้มครองและจอดำ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่งผลกระทบ เดือดร้อนในวงกว้าง ทั้งคนทำคอนเทนต์ และอย่างยิ่งประชาชน นางอรพรรณกล่าว

       อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ส่วนมติวันที่ 29 ก.ย. หากตีความกรณีช่อง 33 เอชดีนำรายการช่อง 3 อนาล็อกมาออกอากาศ จะเป็นลักษณะเดียวกันกับช่องโมโน หรือนิวทีวี ที่ซื้อซีรีส์ต่างประเทศและสารคดีมาฉายในช่อง แต่ก็ยังถือว่าประกอบกิจการด้วยตัวเอง เพราะหากรายการที่นำมาฉายมีปัญหา คนที่รับผิดชอบต่อกสท.ก็คือ เจ้าของช่อง ดังนั้น หากช่อง 33 เอชดีจะซื้อรายการของช่องอนาล็อกมาออกอากาศก็ทำได้ ถือว่าอันตรายในแง่กฎหมาย อะไรที่เป็นอำนาจชอบธรรม ต้องมีกฎหมายเขียนชัดเจน บริหารโดยกลุ่มบุคคลเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นบุคคล หรือนิติบุคคลเดียวกัน

       นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัญหาจอไม่ดำ แต่ทำให้จอดำ ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กสท.ออกมาผิด และไม่ถูกต้องด้านกฎหมาย ไม่ต้องกลัวที่จะเสียหน้า สิ่งสำคัญควรแก้ไข โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ตอนนี้ปัญหาคือ ทางกสท.ใช้ดุลยพินิจทางปกครองกันมากเกินไป ซึ่งมีความเสี่ยงทางกฎหมายอย่างมาก 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!