- Details
- Category: กสทช.
- Published: Friday, 27 July 2018 11:23
- Hits: 4123
กสทช.เผย Q1/61 รายได้จากให้บริการโทรมือถือรวม 6.92 หมื่นลบ.โต 0.7%
กสทช. เผยไตรมาส 1/61 รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์มือถือของโอเปอร์เตอร์รวมทุกค่ายอยู่ที่ 69,200 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ประจำไตรมาส 1 ปี 2561 ของสำนักงาน กสทช. พบว่า รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 69,200 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากไตรมาส 4 ของปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ 68,700 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากบริการเสียงและรายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียง 62,900 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 6,300 ล้านบาท
สำหรับ รายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ APRU ในไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 241 บาท เมื่อแยกประเภทเป็น บริการระบบพรีเพด หรือระบบเติมเงิน มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายอยู่ที่ 154 บาท เท่ากับไตรมาส 4 ของปี 2560 ส่วนระบบโพสต์เพด หรือระบบรายเดือน มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายอยู่ที่ 532 บาท ลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2560 อยู่ 5 บาท ในส่วนของอัตราค่าบริการประเภทเสียงในไตรมาส 1 ปี 2561 มีอัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 0.41 บาทต่อนาที ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ของปี 2560) ร้อยละ 4.7 โดยอัตราค่าบริการประเภทเสียงในไตรมาส 4 ปี 2560 มีอัตราค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 0.43 บาทต่อนาที
บอร์ดกสทช.อนุมัติให้ผู้ชนะประมูลคลื่น 1800 MHz สลับช่องความถี่ได้,เตรียมเปิดประมูล USO NET เฟส 2 ในส.ค.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. วันนี้มีมติเห็นชอบใน 3 เรื่อง ได้แก่ ให้ผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ที่มีผลรวมของการเสนอราคาสูงสุดมีสิทธิเลือกย่านความถี่เป็นลำดับแรก แต่ในกรณีที่มีผู้ชนะการประมูลที่มีผลรวมของการเสนอราคาเท่ากัน กสทช. จะใช้วิธีการจับสลากเพื่อกำหนดผู้ที่จะได้เลือกย่านความถี่ก่อน
โดยย่านความถี่สำหรับผู้ชนะการประมูลแต่ละรายจะเป็นชุดคลื่นความถี่ที่อยู่ติดกัน ซึ่งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะเข้าร่วมการประมูลอยากให้สำนักงาน กสทช. ประกาศกำหนดเงื่อนไขในการที่จัดเรียงช่องคลื่นความถี่ดังกล่าวให้มีความชัดเจน ก่อนที่จะมีการยื่นเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 8 ส.ค.61
ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติในเรื่องดังกล่าว และให้สำนักงาน กสทช. ออกประกาศดังกล่าวต่อไป โดยเงื่อนไขที่สำคัญที่ระบุไว้มีดังนี้ หากผู้ชนะการประมูลด้วยการประมูล เป็นผู้ที่ไม่ได้ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz อยู่เดิม จะต้องไม่เลือกคลื่นความถี่ที่ทำให้ผู้ถือครองคลื่นความถี่รายเดิมและเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียงติดกับคลื่นความถี่เดิมได้
แต่หากผู้ชนะประมูลเป็นผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz เดิมอยู่ก่อนแล้ว และไม่สามารถเลือกช่องความถี่ใหม่ให้เรียงติดกับคลื่นความถี่เดิมได้ ให้ผู้ใช้งานคลื่นดังกล่าวสามารถย้ายการใช้งานคลื่นความถี่ตามสิทธิทั้งหมดไปยังช่วงความถี่ที่ว่างพอสำหรับตัวเองได้
ทั้งนี้ หลังจากผู้ชนะการประมูลเลือกช่องความถี่แล้วสำนักงาน กสทช. จะนำเสนอที่ประชุม กสทช. ให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช.เห็นชอบให้มีมาตรการเพิ่มเติม สำหรับการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ ลงทะเบียนซิม โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย จะต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กรณีบุคคลธรรมดา ให้มีจำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อหนึ่งผู้ใช้บริการ
หากพบการลงทะเบียนผู้ใช้บริการเกินจำนวนที่กำหนดไว้ ต้องซื้อที่ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น และให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายงานต่อสำนักงาน กสทช. รวมถึงให้มีข้อกำหนดในสัญญาระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับตัวแทนจำหน่ายที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะตัวการตัวแทน ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในทางแพ่งต่อผู้ใช้บริการและบุคคลภายนอกในการกระทำของตัวแทนจำหน่ายด้วย
อีกทั้ง ที่ประชุม กสทช. มีมติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 แบบมีโครงข่าย อายุใบอนุญาต 15 ปี แก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้บริการโครงข่าย สามารถวางโครงข่ายระบบท่อ เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสาร นำสายลงดิน เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความเป็นระเบียบ ทัศนยภาพสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สามารถใช้บริการเช่าท่อของ กทม. เพื่อให้บริการได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่ง
นายฐากร กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดประมูลโครงการ USO NET เฟส 2 ในขณะนี้ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นจะมีการออกประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์จากนี้และคาดว่าจะเปิดให้บริการครอบคลุม 70% ของ WIFI ได้ในเดือน มี.ค.62 และครบ 100% ในเดือน พ.ค.62
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัลให้อยู่ได้ในระยะยาว
อินโฟเควสท์