- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 21 May 2018 09:06
- Hits: 2330
กสทช.ยันเดินหน้าจัดประมูลคลื่น 1800 MHz แม้อาจเหลือผู้เข้าร่วมเพียงรายเดียว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. จะยังคงเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ต่อไป แม้อาจจะเหลือผู้ประกอบการที่เข้าประมูลเพียงรายเดียว หลังจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประกาศว่าจะไม่เข้าประมูลในครั้งนี้
"อาจจะมีรายอื่นเพิ่มเข้ามาหรือไม่ เพราะด้วยกฏ N-1 แม้เหลือผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวก็ยังประมูลได้"นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ นายฐากร กล่าวว่า รู้สึกเสียดายแทนหากผู้ประกอบจะละทิ้งโอกาสที่ดีไป เพราะ กสทช.เคยประเมินไว้ว่าเมื่อเทคโนโลยี 5G ให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 63 ผู้ประกอบการทุกรายควรจะมีจำนวนคลื่นความถี่อย่างน้อยรายละ 100 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้เพียงพอรองรับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่
ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงกรณีกลุ่มทรูประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้ทรูไม่ได้ยืนยันความชัดเจนที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นตั้งแต่แรก ส่วนที่รีบออกมาประกาศทั้งที่เพิ่งเปิดให้รับเอกสารหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นไปไม่กี่วันก็เป็นสิทธิที่จะทำได้
จากนี้ คงต้องดูว่า จะมีผู้ประกอบการรายอื่นประกาศไม่เข้าร่วมประมูลอีกหรือไม่ คงต้องรอดูจนถึงช่วงให้ยื่นแสดงความจำนงเข้าประมูลและตรวจคุณสมบัติจนเสร็จเรียบร้อยว่าจะเหลือผู้ประกอบการอีกกี่ราย ตามหลักเกณฑ์การประมูลหากเหลือผู้ประกอบการน้อยราย กสทช.จะขยายเวลาในการยื่นแสดงความประสงค์เข้าประมูลออกไปอีก 90 วัน หลังจากนั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทตัดสินใจในการประชุมที่จะมีขึ้นราวปลายเดือน พ.ค.นี้
TRUE แจงไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz หลังเงื่อนไขไม่เอื้อประโยชน์-มั่นใจคลื่นที่มีเพียงพอ
นายกิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มทรูได้เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลต่าง ๆ ในเอกสารแล้ว และพิจารณาว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz
ทั้งนี้ หลังจากการพิจารณาเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะผู้บริหารพิจารณาว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ เรื่องปริมาณคลื่นความถี่ที่ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบันที่มีมากถึง 55 MHz ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และเมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศแล้ว ปริมาณคลื่นของทรูมูฟ เอช ยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งจะรักษาประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในเรื่องการใช้งานทั้งวอยซ์และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน
นอกจากนี้ จากการพิจารณารายละเอียดกฎเกณฑ์การประมูลตามเอกสารแล้ว ทั้งเรื่องราคาและข้อกำหนดต่าง ๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งนี้จะมีความได้เปรียบอย่างมีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด และที่สำคัญคือความเชื่อของกลุ่มทรูในเรื่องของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ที่จะไม่เข้าร่วมประมูลเพียงเพื่อจะทำให้ราคาสูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง หรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่ผู้ชนะประมูลแต่อย่างใด ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น บริษัทจึงพิจารณาว่า ยังไม่มีเหตุผลที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้
อินโฟเควสท์
กสทช. เผย TURE-AIS-DTAC ยื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHZ ในวันแรก
กสทช. เผย TURE-AIS-DTAC ยื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHZ ในวันแรก ก่อนกำหนดยื่นใบขอรับอนุญาต 15 มิ.ย. เป็นขั้นตอนต่อไป
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.)กล่าวว่า วันนี้ (15 พ.ค. 2561) สำนักงาน กสทช. เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นวันแรก และจะเปิดให้รับเอกสารฯ ไปจนถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2561โดยวันนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายหลักของประเทศไทย ได้เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ฯ โดยกลุ่มบริษัท AIS รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) กลุ่มบริษัท DTAC รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด (DBB) ส่วนกลุ่มบริษัท TRUE รับเอกสารไป 1 ชุด ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
สำนักงานฯ เห็นว่า คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ยังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นความต้องการของตลาด เพื่อที่จะรองรับการให้บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการอย่างเพียงพอ
นายก่อกิจ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16-28 มิ.ย. 2561 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 29 มิ.ย. 2561 ส่วนในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561
สำหรับ คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ มีจำนวนทั้งหมด 45 MHZ โดยกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูลสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ์ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ครั้งนี้ด้วย