- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 11 April 2018 16:49
- Hits: 5345
กสทช.อาจไม่พิจารณาร่าง TOR ประมูลคลื่น 1800 MHz วันนี้ รอผลคัดเลือกบอร์ดชุดใหม่ 19 เม.ย.
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กระจายโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ซึ่งมีวาระการพิจารณาการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) โดยทางสำนักงาน กสทช.จะเสนอแนะว่าคณะกรรมการกสทช.ยังไม่ควรพิจารณาหลักเกณฑ์คลื่นความถี่ 1800 MHz แต่ควรรอผลการคัดเลือกคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่สภานิติบัญญติแห่งชาติ(สนช.) จะลงมติในวันที่ 19 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ หากคัดเลือกคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ได้ครบก็จะเสนอให้เข้ามาจัดการประมูลคลื่น แต่หาก สนช.ไม่สามารถคัดเลือกคณะกรรมการ กสทช.ได้ครบ หรือยังไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ทางสำนักงาน กสทช.ก็จะเสนอให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันพิจารณาการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในการประชุมวันที่ 25 เม.ย.นี้
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการ กสทช.ฝ่ายกิจการโทรคมนาคมส่วนใหญ่ก็ต้องการให้เดินหน้าการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันนี้ แต่เนื่องด้วยที่ผ่านมาได้มีการเปิดประชาพิจารณ์ต่อสาธารณะ ทำให้ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องมาพิจารณาเพิ่มเติมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นราคาประมูลคลื่นที่สูง และการประมูลที่จะแบ่งประมูล 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต เป็นต้น จึงควรรอคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาพิจารณาแทน
สำหรับ การมีมาตรการผ้อนผันให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในการชำระค่างวดใบอนุญาตนั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ก็เพื่อให้เอกชนททั้งสองรายมีเครดิตไลน์เพียงพอต่อการเข้าประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ ขณะที่เชื่อว่าทั้ง 2 ค่ายไม่มีความจำเป็นต้องประมูลคลื่นไปทั้ง 15 MHz เพราะมีอยู่แล้ว 15 MHz แต่ถ้าหากจะเข้าประมูลก็อาจจะประมูลเพียง 5 MHz เพราะเมื่อรวมกับคลื่นที่มีอยู่ในมืออยู่แล้วก็จะเพิ่มปริมาณเป็น 20 MHz ซึ่งสามารถบริหารจัดการคลื่นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าทุกค่ายคงต้องการรอประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz มากกว่า เนื่องจากทั่วโลกกำหนดให้เป็นคลื่นที่ใช้ทำ 5G โดยปัจจุบันคลื่นดังกล่าวใช้กับทีวีอนาล็อก ซึ่งทางช่อง 7 ก็ประกาศจะเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล ในปี 63 ส่วนที่ยังมีปัญหาคือ บมจ.อสมท.(MCOT) ที่ทำสัญญากับช่อง 3 มีระยะยาว หากเจรจาได้ก็จะคืนได้ทันในปี 63 ฉะนั้น จึงมีแนวโน้มว่าจะนำคลื่น 700 MHz มาประมูลหลังปี 63 และเป็นคลื่นที่มีราคาประมูลขั้นต่ำไม่สูง จึงมีโอกาสที่จะได้คลื่นมาในราคาไม่แพง
ดังนั้น การที่ ADVANC และ TRUE ขอผ่อนผันการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ในงวดที่ 4 ที่จะจ่ายในปี 63 เพื่อเข้าประมูลคลื่นในอนาคต แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่นในปีนี้หรือไม่
"คลื่น 1800 MHz มีความจำเป็นสำหรับคนที่ยังไม่มี ก็คือ ดีแทค ซึ่งตอนนี้ไม่ได้แปลว่า คสช.ช่วย 2 ค่ายแล้วเขาจะเข้ามาประมูล 1800 MHz แต่ถ้าไม่ช่วยเขาก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม คือจะกระทบกับแผนการลงทุน และการประมูลคลื่น 700 MHz ในอนาคต ซึ่งคาดว่า กสทช. จะนำคลื่นดังกล่าวออกมาประมูลในปี 63-64 ตรงกับที่เขาต้องชำระเงินงวดสุดท้ายที่ค่อนข้างสูงนั้นก็คือปี 63 เช่นกัน"
นอกจากนี้ หากไม่มีการแข่งขันการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือมีเพียงบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เจ้าเดียว กสทช.ก็จะมีการใช้เกณฑ์การประกวดราคาของภาครัฐทั่วไป เช่นเดียวกับ รถเมล์ NGV ซึ่งต้องมีการขยายระยะเวลาการประมูลออกไป และถ้าไม่มีคู่แข่งก็จะยอมรับว่ามีผู้ประกวดราคาเพียง 1 ราย และจัดให้มีการเคาะราคา
อย่างไรก็ตาม ราคาประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะอ้างอิงกับการประมูลในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งผู้เข้าประมูลคลื่นดังกล่าวจะต้องเคาะราคาไม่ให้ต่ำกว่าราคาเดิม หรือยื่นราคาไม่ให้ต่ำกว่าราคาเดิม จากเดิมคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 15 MHz มีมูลค่าอยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท และคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 10 MHz มีราคาอยู่ราว 7 หมื่นล้านบาท
อินโฟเควสท์