- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 08 April 2018 21:38
- Hits: 6350
TDRI อัดกสทช.หนุนเอกชนยืดจ่ายค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แนะรัฐชี้ขาดบนผลประโยชน์ของปชช.
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันนี้ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือที่จะขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) เพื่อรองรับการให้บริการโครงข่าย 4G ที่อาจจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยระบุว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลแถลงว่านายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4G ของกลุ่มบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และกลุ่มบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) ว่า ให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1. ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจ และ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย
ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏข่าวว่า เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอความเห็นแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้ 1. รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาทจากดอกเบี้ย 1.5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว
2. รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย
"แม้นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามชักจูงรัฐบาลให้ "อุ้ม" ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใด ๆ รัฐบาลจึงควรตัดสินใจอย่างมั่นคงบนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ"นายสมเกียรติ ระบุ
นายสมเกียรติ ระบุว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. เอกชนต้องสามารถประกอบธุรกิจได้ ซึ่งโดยภาพรวมผู้ประกอบการทั้งสองรายคือ เอไอเอสและทรู ไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด เอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และมีผลกำไรถึง 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 แม้จะลดลงจากก่อนหน้านั้นไปบ้าง ส่วนทรูนั้น แม้จะมีกำไรน้อยกว่าเอไอเอสมาก แต่ก็ยังมีกำไร 2.3 พันล้านบาทในปี 2560 ที่สำคัญ ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 20.9% เมื่อไตรมาส 4/58 ซึ่งมีการประมูลคลื่น เป็น 26.9% ในไตรมาส 4/60 และแจ้งต่อนักลงทุนว่า สามารถเพิ่มลูกค้าได้ 2.7 ล้านรายในปี 2560 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีลูกค้าลดลง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินธุรกิจได้ดี
2. ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจากผลประกอบการที่ดีดังกล่าว นักลงทุนจึงยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท สะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น ที่สำคัญกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบางบริษัทคือความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้ทุกเรื่องหากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปกติทางธุรกิจในระบบตลาดเสรี ย่อมไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับกำไรเสมอไป เพราะการประกอบธุรกิจทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจตามปกติ (normal business risk) ซึ่งเอกชนจะต้องแบกรับเอง รัฐไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทุกรายให้ไม่ขาดทุน หากสาเหตุของการขาดทุนนั้นไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎระเบียบของรัฐ (regulatory risk) ในกรณีนี้ เอไอเอสและทรู เสนอราคาในการประมูลโดยสมัครใจและเข้าใจเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าประมูลเป็นอย่างดี จึงควรต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตน
3. ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย ซึ่งเงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ไม่ใช่ 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช. เสนอ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอของ กสทช. ก็จะเป็นการยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนทั้งสอง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช.ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้กันในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลด้วย ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ทั้ง 2 รายกู้ในอัตราดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ตามสัญญาแล้ว ยังขาดทุนทางการเงินด้วย การอ้างว่า รัฐจะมีรายได้จากดอกเบี้ยถึง 3.6 พันล้านบาทจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง
ขณะที่ผู้ประกอบการทั้งสองรายออกแถลงการณ์ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นดังกล่าว "ไม่ได้เป็นการขอลดค่าประมูลคลื่น" เป็นแต่เพียงการ "ขยายเวลา" เท่านั้น ไม่ได้ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ คำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการขยายเวลาโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก ก็มีผลเหมือนการขอลดค่าประมูลคลื่น ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย
ส่วนการขอใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพราะ "ต่างได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นจากกสทช. มาเช่นเดียวกัน" ก็ไม่สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการดำเนินการที่บกพร่องของ กสทช. ในขณะที่ เอไอเอสและทรูมีกำไรและไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช. ส่วนการที่เอไอเอสและทรูยังอ้างว่าสามารถกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ได้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็สมควรไปกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาชำระค่าประมูล ไม่ใช่ให้รัฐปล่อยกู้ในอัตราขาดทุน โดยผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระแทน
4. การเข้าร่วมประมูลคลื่นในอนาคต โดยเลขาธิการกสทช. อ้างว่า การขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูล จะช่วยให้รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่น 1800 MHz มากขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย ข้ออ้างดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการคาดเดาฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของเอไอเอสและทรูก็ไม่ได้ระบุเลยว่า จะเข้าประมูลรอบใหม่หากได้รับการผ่อนชำระค่าประมูล
ที่สำคัญ หากเอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยเหตุผลจากการเจรจาแบบ "หมูไปไก่มา" ก็ยิ่งจะเป็นผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะแทนที่การประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นตามกลไกตลาด ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใส กลับเกิดขึ้นจากการต่อรองกันเป็นครั้งๆ หรือการวิ่งเต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรคาดหวังว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ในอนาคตจะต้องได้ค่าประมูลสูงเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจาก ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอสและทรู ได้ประมูลคลื่นไปจำนวนหนึ่งแล้ว จึงอาจไม่ต้องการประมูลคลื่นเพิ่มเติมอีกมาก (นอกจากเพื่อกีดกันคู่แข่ง) รายได้จากการประมูลคลื่นรอบใหม่นี้จะมากหรือน้อยจึงควรเป็นไปตามอุปทานและอุปสงค์ ภายใต้การออกแบบการประมูลที่ดี โดยไม่ต้องพยายามบิดเบือนให้ได้ราคามากหรือน้อย
อินโฟเควสท์
TDRI ขวางรัฐอุ้มค่ายมือถือติงมาตรการ กสทช.ยกประโยชน์ของรัฐให้เอกชน-กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการสนับสนุนการช่วยเหลือเอกชน แต่ควรอยู่บนหลักการที่ทำให้เอกชนประกอบดำเนินธุรกิจและไม่กระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเอกชนต้องรับความจริงถึงการดำเนินธุรกิจและไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเข้าใจเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นอย่างดี
ขณะที่ กสทช.ยังจับประเด็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไม่ถูกต้อง ยังมีการนำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่ไม่สมเหตุผลในการอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 2 รายด้วยการให้ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 4 แนวทางของ กสทช.จึงไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพราะเอกชนทั้ง AWN และทรูมูฟมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรในการดำเนินธุรกิจ กรณีทรูมูฟมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 18.8% เป็น 26% ในปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ยังได้มีรายงานกรณีรัฐบาลไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมขยายระยะเวลาชำระเงิน โดยเห็นว่าฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการทั้ง 2 รายยังแข็งแกร่งไม่มีปัญหาอะไร
"สำหรับประเด็นความเชื่อมั่นของนักลงทุน สิ่งที่นักลงทุนกลัวคือความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐในเรื่องต่างๆ ดังนั้นหากรัฐบาลมีการออกกฎระเบียบอะไรแล้วมาเปลี่ยนภายหลัง ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การขยายระยะเวลาการชำระเงินงวดที่ 4 ออกไป เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขในการประมูลใบอนุญาตที่ผู้เข้าประมูลทุกรายได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำลายความเชื่อมั่นของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยโดยมองว่าเป็นประเทศสารขัณฑ์เคยออกกฎระเบียบไว้แล้วอยู่ดีๆ จะมาเปลี่ยนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางรายก็ทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด ที่สำคัญจะกระทบกับกสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลด้วย" นายสมเกียรติ กล่าว
พร้อมมองว่า การทำธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ เมื่อธุรกิจมีปัญหาไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะต้องเข้าไปอุ้มทุกราย กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 รายไม่ได้มีปัญหา ทั้ง 2 บริษัทรู้เงื่อนไขในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เมื่อประมูลคลื่นได้ ก็มีการเฉลิมฉลอง ทุกคนรู้ดีว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจอยู่ตลอดและยอมรับในความเสี่ยงนั้น สิ่งที่ กสทช.เสนอต่อรัฐบาลจึงไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
สิ่งที่ กสทช.ยื่นข้อเสนอให้ช่วยผู้ประกอบการ เป็นการยกประโยชน์ของรัฐและประชาชนไปให้กับเอกชน หากตีมูลค่าก็เท่ากับดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระจาก 15% มาคิดที่ 1.5% ส่วนต่างตรงนี้ถ้าคิดเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เอกชนสามารถระดมทุนด้วยการกู้เงิน ออกตราสารหนี้ ออกหุ้นเพิ่มทุนได้ โดยน่าจะมีต้นทุนประมาณ 9% (ทรูอาจจะสูงกว่า) กสทช.บอกว่าถ้าคิดอัตราดอกเบี้ย 1.5% รัฐจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยนั้นไม่เป็นความจริง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 1.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีไว้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ การเอาอัตราดอกเบี้ยนี้มาใช้ จึงเป็นการเหมาโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีหลักแหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น อัตราดอกเบี้ย 1.5% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุน เวลารัฐบาลต้องไปกู้เงินเพื่อทำโครงการ ดังนั้นการที่บอกว่ารัฐจะได้ประโยชน์จึงไม่จริง
ส่วนประเด็นว่าหากให้เอกชนขยายเวลาชำระเงินจะทำให้มีผู้มาประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ จะทำให้มีเอกชนมาประมูลคลื่นมากขึ้นนั้น นายสมเกียรติ มองว่า สิ่งที่ กสทช.กล่าวอ้างเป็นการมโน อยู่ๆ ก็คิดไปเอง โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ถ้าจะมีก็คงเป็นการไปเจรจากับบางรายมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร การจะจัดประมูลให้คนสนใจ ควรจัดการประมูลให้ดี มีความเป็นธรรมในการแข่งขัน เอกชนก็จะมาเอง ไม่ใช่ไปแอบชวนใครมา
"เชื่อว่าการประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ น่าจะไม่มีการแข่งขันเท่ากับการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการทั้ง 2 รายมีคลื่นอยู่ในมือมากพอควรแล้ว เป็นธรรมชาติของหลักเศรษฐศาสตร์ที่จะไม่เข้ามาประมูลมาก สิ่งที่จะทำให้เกิดการแข่งขันควรเปิดเสรีตลาดให้มีคนเข้ามาแข่งขัน หรือลดราคาคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ให้เหมาะสม การตั้งราคาประมูลควรตั้งราคาปกติ" นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ สรุปได้ว่า รัฐบาลและ คสช.ไม่มีเหตุผลที่จะช่วยให้เอกชนผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพราะไม่มีประโยชน์อะไร แต่กลับเป็นการโอนประโยชน์ของรัฐและประชาชนไปสู่ผู้ประกอบการ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุน ฝากหลักคิดในการกำกับดูแลให้เกิดความเชื่อมั่นไปถึง กสทช.ว่า การกำกับดูแลต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ผู้ประกอบการ, การกำหนดนโยบายกำกับดูแลต้องใช้ข้อมูลและหลักวิชาไม่ใช่การคาดเดาหรือมโน, กติกาต้องเหมาะสมเป็นธรรม ไม่ใช่กติกาที่ถูกล็อบบี้จากผู้ประกอบการบางรายแล้วเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม, เมื่อกำหนดกติกาแล้ว ต้องรักษาความน่าเชื่อถือโดยการทำตามกติกาไม่ใช่มาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และต้องรับผิดชอบและพร้อมให้ตรวจสอบผลการกำกับดูแล
นายสมเกียรติ มองว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น มีเหตุมีผลที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือได้ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากความความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลแล้วไม่สามารถปฎิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล ทั้งนี้ การช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายควรแยกออกจากกัน โดยเห็นว่าการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ควรมีมาตรการช่วย เหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DE) ระบุว่า ข้อเสนอของการนำมาตรา 44 มาใช้ขยายงวดการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ มีเหตุผลของข้อเสนอว่าการพิจารณนมองที่ผลประโยชน์ที่จะตกกับประเทศและประชาชน เมื่อขยายเวลาจ่ายค่างวดป็นการผ่อนเบาผู้ประกอบการให้สามารถนำงบประมาณไปใช้ลงทุนขยายและพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐาบาล ซึ่งการพัฒนาโครงข่ายจะมีส่วนสนับสนุนภาคประชาชนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ขณะที่ตัวเงินหรือรายได้ที่รัฐบาลจะได้เพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงส่วนประกอบ
อินโฟเควสท์
กสทช.ย้ำหากไม่ยืดจ่ายค่าไลเซ่นส์คลื่น 900 MHz อาจกระทบประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ทำรายได้รัฐหด
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า สำนักงานฯ อยู่ระหว่างทำรายละเอียดมาตรการให้ความข่วยเหลือเพื่อกลับไปร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสงสัยที่เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการพ่วงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมนาคมเข้ากับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งความจริงแล้ว ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ยื่นเรื่องมาถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และอยู่ระหว่างการพิจารณา
อย่างไรก็ดี กสทช.คำนึงว่าทั้งอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมมีความสำคัญและจำเป็นพอๆ กัน
"หลายฝ่ายสงสัยว่ามาตรการช่วยทีวีดิจิทัล เหตุใดไม่รอให้ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์คดีของบริษัทไทยทีวีก่อน ขอให้ทำความเข้าใจว่าผลของคดีในชั้นอุทธรณ์นั้น ไม่เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเอกชนยื่นขอความช่วยเหลือมา ก็ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรม ดังนั้นอย่าว่ามาตรการครั้งนี้เป็นการช่วยทีวีพ่วงโทรคมนาคมเลย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องเรียกว่าช่วยโทรคมนาคมพ่วงทีวีถึงจะถูก" นายฐากร กล่าว
กรณีการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม เหตุผลที่ผู้ประกอบการขอให้รัฐช่วยเหลือ เนื่องจากมีภาระเงินกู้เพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยหากไม่ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้ประกอบการจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีภาระเงินกู้ประมาณ 120,000 ล้านบาท (ทรู 60,218 ล้านบาท AWN 59,000 ล้านบาท) วงเงินกู้เต็มกรอบวงเงิน
นายฐากร กล่าวว่า คณะทำงานของกสทช. เชื่อว่า หากกสทช.เปิดประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ ในปีนี้ ทั้งบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิวเคชั่น จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด (AWN)บริษัทย่อย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) รวมทั้งบริษัท ดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะเข้าร่วมประมูลด้วยจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
กสทช.ประเมินว่า หากประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาท ถ้าประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท ประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรณีไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ และคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะมียอดเงิน 166,991.16 ล้านบาทในปี 63
แต่หาก คสช.ให้ขยายเวลาชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไปโดยคิดอัตราดอกเบยี้ย 1.5% ต่อปีไปจนถึงปี 67 และมีการจัดประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์ ได้ 3 ใบอนุญาต รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท แต่หากประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐจะมีรายได้ 251,154.96 ล้านบาท
ส่วนข้อเป็นห่วงว่าในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังนั้น สำนักงานฯ ประเมินว่า การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ดีแทคจะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูลที่ กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม
อีกทั้ง ผู้บริหารของดีแทคยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้น การขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทางดีแทคไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกกะเฮิรตซ์ในครั้งต่อไป และหากนำคลื่น 1800 เมกกะเฮิรตซ์มาประมูลจะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกกะเฮิรตซ์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G, Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์
กสทช.เตรียมเสนอบอร์ดเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ชงรอชุดใหม่ตัดสิน ยันยึดหลักเกณฑ์เดิม/ห้าม JAS เข้าร่วม
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับหนังสือมายังสำนักงาน กสทช.ว่าคณะกรรมการ กสทช.ชุดรักษาการสามารถเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ได้ สำนักงาน กสทช.ได้เตรียมส่งหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณาในวันที่ 11 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กสทช.จะได้คณะกรรมการชุดใหม่จากการคัดเลือกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงเชื่อว่าการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดใหม่ แต่ที่สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งส่งหลักเกณฑ์เข้าที่ประชุมบอร์ดชุดปัจจุบันก่อน เนื่องจากต้องดำเนินการตามหลักการเมื่อกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้ว เพราะหากไม่ทำอาจถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาจมีความผิดตามมาตรา 157 ได้
สำหรับ หลักเกณฑ์การประมูลนั้น สำนักงาน กสทช.ยังคงยืนยันใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิมที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา คือ เปิดประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz โดยใช้เงื่อนไข N-1 และไม่เปิดโอกาสให้ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด เข้ามาประมูล เนื่องจากเป็นต้นเหตุให้ราคาประมูลครั้งที่แล้วสูงเกินจริง หากครั้งนี้เข้ามาประมูลอีกเกรงว่าเอกชนจะไม่มีความมั่นใจในการเข้าร่วมประมูล
อินโฟเควสท์