- Details
- Category: ศาล
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:05
- Hits: 9677
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8676 ข่าวสดรายวัน
อธิบดีศาล แจงแย้ง 99 ศพ ระบุเป็นคดีใหญ่ ต้องสู้กัน 3 ศาล อัยการดูสำนวน เตรียม'อุทธรณ์'
ยังฟิต - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นาย วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ร่วมเตะฟุตบอลกระชับมิตรที่สนามเอสซีจี เมืองทองธานี พร้อมเผยเสื้อแดงขณะนี้ขออยู่ในที่ตั้ง เมื่อ 29 ส.ค. |
แจงเหตุแย้งคำตัดสินคดี 99 ศพอธิบดีศาลอาญา ระบุเพราะเป็นคดีใหญ่ มีคนตายมาก ผลกระทบเยอะ จนต้องกลั่นกรองรอบคอบ ให้สิทธิผู้เสียหายตามกระบวนการยุติธรรม และหากเป็นศาลอาญาก็มีโอกาสต่อสู้ 3 ศาล ไม่เหมือนศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ตัดสินเพียงศาลเดียว รับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทำความเห็นแย้ง ระบุไม่มีผลผูกพันกับคำพิพากษา แต่ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องพิจารณาความเห็นทั้งหมดด้วย ส่วนอัยการเตรียมศึกษาสำนวนยื่นอุทธรณ์ ด้านป.ป.ช.ยันรับพิจารณาคดีมาร์ค-เทือก แค่ความผิดตามม.157 เท่านั้น
จากกรณีศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90
จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิต บริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการในพื้นที่ย่านราชปรารภ บาดเจ็บสาหัส
โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำความผิดต่ออำนาจหน้าที่ ต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ทำความเห็นแย้ง โดยระบุว่า กรณีความผิดทางอาญาเป็นคนละกรณีกับความผิดตามอำนาจหน้าที่ ตามที่ข่าวสดเสนอไปก่อนหน้านี้
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 29 ส.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นไปตามที่ตนเคยยืนยันมาตลอดว่า ข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาตนในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และพระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีว่าเป็นการทำในหน้าที่ราชการทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนของตนคือ การประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้น หากมีการ กระทำผิดก็เป็นเรื่องที่ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและลงความเห็นว่าจะส่งฟ้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งดีเอสไอก็วินิจฉัยลักษณะนี้ในคดีอื่นมาตลอด แต่กรณีนี้กลับมาทำในสิ่งที่ต่างไปจากคดีอื่น จึงถือว่าทำผิดมาแต่ต้น ส่วนเหตุการณ์นี้ใครจะทำผิดอะไร อย่างไร ทางป.ป.ช.กำลังสอบสวนอยู่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนยังไม่ได้พิจารณาว่าจะฟ้องกลับนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ที่เป็นคนลงนามสั่งฟ้องในกรณีนี้ เพราะกำลังยื่นอุทธรณ์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ หลังจากเคยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นแต่ไม่รับฟ้อง สำหรับความเห็นแย้งของอธิบดีศาลอาญาที่แสดงความเห็นต่างจากคำพิพากษาก็ถือเป็นสิทธิที่ท่านเห็นแย้งได้ ส่วนในคดีนี้ก็ต้องดูต่อไปว่า อสส.จะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่า พร้อมยอมรับที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายที่ถูกต้อง
นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวชี้แจงถึงการทำความเห็นเเย้งประเด็นข้อกฎหมายอำนาจฟ้องที่เห็นต่างจากองค์คณะว่าเป็นอำนาจของศาลอาญา ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า การทำความเห็นแย้งดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายในกรณีที่อธิบดีผู้พิพาก ษาศาลอาญาจะมีความเห็นแตกต่างในคดี โดยกฎหมายให้อำนาจนั้นไว้ ซึ่งความเห็นแย้งจะไม่มีผลบังคับผูกพันใดๆ เหมือนดั่งเช่นคำพิพากษา แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นประกอบคำพิพากษาเท่านั้น และจะผูกติดกับสำนวนและคำพิพากษาขององค์คณะจนไปถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งหากคู่ความยื่นอุทธรณ์คัดค้านคดีดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมด ทั้งคำพิพากษาขององค์คณะ และความเห็นแย้งนั้น รวมทั้งคำอุทธรณ์ของคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายด้วย ซึ่งความเห็นแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นข้อแตกต่างในมุมมองดุลยพินิจทางข้อกฎหมาย และไม่ใช่การก้าวก่ายการทำงานขององค์คณะแต่อย่างใด
นายธงชัย กล่าวต่อว่า คดีนี้ถือเป็นคดีใหญ่และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากรวมทั้งมีชาวต่างชาติเสียชีวิตด้วย ดังนั้นองค์คณะจึงต้องปรึกษาหารือตนในข้อกฎหมายในฐานะอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่ใช่ความผิดระหว่างตัวบุคคลต่อตัวบุคคลด้วยกัน แต่มีการนำผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตของแต่ละรายมาประกอบในสำนวนคดี ซึ่งบางรายศาลก็มีคำสั่งชี้ว่ากระสุนปืนถูกยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างเช่นกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่ศาลมีคำสั่งว่ากระสุนปืนถูกยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร
"นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่รับราชการที่ตนเคยทำความเห็นแย้งในคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ต้องรอดูการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อีกครั้ง" นายธงชัยกล่าว
เมื่อถามว่า ข้อแตกต่างถ้าหากคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา กับการที่คดีเข้าสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สิ้นสุดเพียงศาลเดียว นายธงชัย กล่าวว่า ถ้าคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ก็ศาลเดียวจบ แต่ถ้าคดียังอยู่ในศาลอาญา ก็มีโอกาสสู้กันถึง 3 ชั้นศาล ซึ่งอัยการโจทก์มีภาระต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ตามข้อกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ และศาลจะลงโทษเพียงใด ขณะที่การพิจารณาคดีในชั้นศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็จะประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะกลั่นกรองคดีตามลำดับชั้นรวมกว่า 20 คน
เมื่อถามว่า หากคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่านั้น ศาลฎีกาจะมีอำนาจพิจารณาในข้อหานี้ด้วยหรือไม่ นายธงชัยกล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วการพิจารณาคดีถ้าในสำนวนปรากฏการกระทำของจำเลยที่มีความผิดอย่างอื่นขึ้นมาด้วยนั้น ศาลก็จะมีอำนาจในการพิจารณาคดีได้ แต่ทั้งนี้หลักฐานจะปรากฏในชั้นพิจารณาแค่ไหน เพียงใด ตนไม่ทราบและคงไม่มีความเห็นใดๆ เพราะเป็นหน้าที่ของทางป.ป.ช. ซึ่งไม่อาจไปก้าวล่วงหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้
นายวันชัย รุจนวงศ์ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางอัยการกำลังอยู่ระหว่างการขอคัดคำพิพากษาและความเห็นแย้งในสำนวนคดีดังกล่าว เพื่อนำมาศึกษาดูในรายละเอียดของคดี โดยคณะทำงานอัยการจะพิจารณาร่วมกันในการดูเหตุผลและข้อกฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อไป
ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต ในฐานะโจทก์ร่วม กล่าวว่า ทางโจทก์ร่วมเตรียมจะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น แต่คงจะต้องหารือกับทีมทนายความและทางอัยการอีกครั้ง รวมทั้งจะต้องขอคัดคำพิพากษามาศึกษาในรายละเอียด เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตีความในเชิงข้อกฎหมาย ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องนี้เคยมีบรรทัดฐานอยู่แล้ว เช่น ตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดีอัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย หรือคดีน้องฟลุกก็ตาม ก็ยังเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญา มิใช่ให้อำนาจป.ป.ช.เป็นผู้ไต่สวน รวมทั้งตามกฎหมาย ป.วิอาญาก็ระบุชัดเจนว่าหากการตายเกิดจากความเกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ จะต้องไต่สวนการตายและส่งสำนวนให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อส่งฟ้องต่ออัยการ
"ข้อเท็จจริงชัดเจนว่า เกิดจากการสั่งการของจำเลยให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงในการเข้ากระชับพื้นที่ ขณะที่จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรอง นายกฯ จึงทำให้เกิดการตายต่อเนื่อง ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลอาญาพิจารณาได้ ทั้งนี้ความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนคดีจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลไหนก็มีความชัดเจน มิเช่นนั้นทางอัยการสูงสุดคงไม่สั่งฟ้อง และศาลอาญาก็คงไม่รับคดีดังกล่าวไว้ตั้งแต่แรก นอกจากนี้ตนยังตั้งข้อสังเกตว่าคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของป.ป.ช. ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งถือว่ามีความล่าช้าเป็นอย่างมาก" นายโชคชัยกล่าว
ที่สนามเอสซีจี เมืองทองธานี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ทุกคนอยู่ในที่ตั้ง เพราะมีบทเรียนในการต่อสู้ที่ผ่านมา สำหรับเรื่องในอนาคตยังไม่มีการคุยกัน ขอให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามปกติ ตามกติกา ส่วนเรื่องที่ศาลยกฟ้องคดี 99 ศพ ทราบว่าทนายความ นปช.กำลังติดตามและหารืออยู่ หากมีความคืบหน้าก็จะแจ้งให้ทราบ
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.ไต่สวนคดีดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เป็นกรณีการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบในตำแหน่งราชการ ในการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงปี"53 ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไม่เกี่ยวกับคดีพยายามฆ่าที่ศาลอาญาไม่รับพิจารณา ซึ่งเป็นคนละฐานความผิดกัน ดังนั้น ป.ป.ช.จึงทำงานต่อเนื่องในคดีนี้และมีความคืบหน้าไปมาก เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่าทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจริงหรือไม่ เมื่อศาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของป.ป.ช. จึงไม่มีปัญหาเพราะป.ป.ช.ทำคดีนี้อยู่แล้ว