- Details
- Category: ศาล
- Published: Wednesday, 30 December 2015 10:53
- Hits: 8557
ฎีกายกฟ้อง 5 ตร.อุ้มสมชาย 'อังคณา' สู้ต่อ-ปม กฎหมาย
ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้อง 5 ตำรวจ คดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อปี 2547 ระบุพยานให้การสับสน ส่วนพยานเอกสารข้อมูลใช้โทรศัพท์ระหว่างจำเลย ขณะเกิดเหตุ รับฟังไม่ได้ ขาดความสมบูรณ์ ด้านอังคณา นีละไพจิตร เผยการบังคับสูญหาย ในทางกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ไม่มีอายุความ จะเริ่มก็ต่อเมื่อพบผู้สูญหายแล้ว ยันผลักดันให้ไทยมีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย ตามอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9163 ข่าวสดรายวัน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ธ.ค.ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีอุ้มนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หมายเลขดำ ด.1952/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย และบุตรรวม 5 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม (ขณะนี้หายสาบสูญ) ,พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 46 ปี อดีต พงส.กก.4 ป., จ.ส.ต. ชัยเวง พาด้วง อายุ 44 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. ,ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 49 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ดำรงตำแหน่ง พ.ต.อ.นภันต์วุฒิ ผกก.ฝอ.สพ. จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.49 ว่า พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ให้จำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 พิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 ตามศาลชั้นต้น ส่วน พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง ส่วนศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจน พยานให้การสับสน ส่วนพยานเอกสารการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ผิดปกติถึง 75 ครั้ง แต่พยานเอกสารเป็นเพียงสำเนา ไม่มีผู้รับรองจัดทำโดยตรง จึงถือว่าไม่สมบูรณ์ที่จะอ้างเป็นพยาน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอย ยังไม่อาจนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
ด้านนางอังคณา กล่าวว่า คดีการบังคับสูญหาย ในทางกฎหมายถือเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง จะไม่มีอายุความ อายุความจะเริ่มต่อเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย ดังนั้นคดีนายสมชาย ก็ยังคงต้องมีผู้รับผิดชอบ วันนี้คดีกลับมาที่จุดตั้งต้นอีกครั้งหนึ่ง เวลานี้ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องรีบเร่งลงนามสัตยาบันอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ แล้วก็จะต้องให้มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย ต่อไป ตอนนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการขู่บังคับให้สูญหาย ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตั้งแต่ช่วงเม.ย.58 แต่หาก ครม.ยังไม่เห็นชอบยังค้างอยู่ ไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในสภากฎหมายก็จะไม่ได้บังคับใช้ อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญปัญหาการอุ้มฆ่าและผลักดันกฎหมายที่ให้มีการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ