WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1ฎกาคกคนละ2ป

ฎีกาคุกคนละ 2 ปี อดีตอธิบดี-พวก คดีเรือขุด 2 พันล.
      ปิดคดีทุจริตซื้อเรือขุด 2,000 ล้านบาท ศาลฎีกาสั่งจำคุกอดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าและลูกน้องรวม 7 คน หลังฟ้องร้องมา ยาวนานกว่า 10 ปี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทุกคน แต่ศาลอุทธรณ์แก้คำสั่งจำคุกคนละ 10-20 ปี ฐานแก้ไขสัญญาเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนจนภาครัฐเสียหาย รวมถึงตรวจรับสินค้าสเป๊กต่ำกว่าที่กำหนด แต่ยกฟ้องนิติกรและนายช่างขุด ต่อมาอัยการยื่นฎีกาให้ลงโทษหมดทุกราย และจำเลยที่เหลือก็ขอต่อสู้คดี กระทั่งศาลฎีกาตัดสินว่า ทั้ง 7 จำเลยมีความผิดทุกคน แต่คำฎีกาฟังขึ้นบางส่วนจึงลดโทษเหลือจำคุกรายละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9108 ข่าวสดรายวัน

      เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 พ.ย. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ ด.84/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง 1.นายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) 2.ร.ต.สัญชัย กุลปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมเจ้าท่าฝ่ายปฏิบัติการ 3.ร.ต.ประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ กรม เจ้าท่า 4.นายอิทธิพล กาญจนกิจ นิติกร 8 สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า
     5.นายดนัย ศรีพิทักษ์ นายช่างขุดลอก ฝ่ายแผนงานบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล กรมเจ้าท่า 6.ร.ต.วิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กรมเจ้าท่า และ 7.นายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 กรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสารได้กระทำการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162
     คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 12 และ 28 ม.ค. 2547 ระบุพฤติการณ์ความผิดจำเลยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 ร.ท.วิทย์ วรคุปต์ อธิบดีกรมเจ้าท่าในขณะนั้น จัดทำสัญญาซื้อเรือขุดแบบหัวสว่าน 3 ลำ พร้อมเรือพี่เลี้ยง ราคา 49,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท จากบริษัทเอลลิคอตต์ กำหนดส่งมอบงานภายใน 540 วัน นับจากวันทำสัญญา โดยครบกำหนดสัญญาวันที่ 24 มี.ค. 2542 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างและระหว่างวันที่ 30 ก.ย. 2541 ถึงวันที่ 6 ส.ค. 2542 จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันกระทำผิดโดยการตรวจรับเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง ทั้งที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักตามข้อกำหนดทางเทคนิคและเงื่อนไขสัญญา นอกจากนี้ พวกจำเลยยังร่วมกันรับรองบันทึกรายงานผลการตรวจรับงาน ลงวันที่ 30 ก.ย. 2541 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 6,679,817.85 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้กรมเจ้าท่าได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2544 พวกจำเลยยังร่วมกับบริษัท เอลลิคอตต์แก้ไขสัญญาเงื่อนไขและการชำระเงินจากเดิม ให้ชำระร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 9 รวม 3 งวด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
      ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2549 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 ต่อมา วันที่ 15 ก.พ. 2549 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ยื่นอุทธรณ์ระบุว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากได้วินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อข้อมูลเอกสารทางราชการที่บันทึกไว้และเก็บเป็นหลักฐาน โดยพนักงานอัยการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายของรัฐเป็นจำนวนมาก
      เนื่องจากนายจงอาชว์กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต ปล่อยให้บริษัท เอลลิคอตต์ฯ เลี่ยงสัญญา และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ สนับสนุนกระทำเอื้อประโยชน์ให้บริษัท อีกทั้งหาช่องทางช่วยเหลือเบี่ยงเบนตีความในสัญญา และระเบียบปฏิบัติทางราชการทุกวิถีทางให้เป็นช่องทางออกโดยไม่สมเหตุผล
     ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้บริหารตามสัญญามีหน้าที่ต้องจัดหาต่อเรือกลที่มีคุณภาพและเสร็จสิ้นตามเวลา ซึ่งสัญญานั้นมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อสาธารณะที่มีการกำหนดสัญญาเป็นแบบแผนและลายลักษณ์อักษร และต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ ซึ่งการกำหนดสัญญาได้ถูกออกแบบให้การส่งมอบงานต้องสัมพันธ์กับมูลค่างานที่จะต้องส่งมอบแต่ละงวดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทผู้ค้าไม่ทิ้งงาน
      หากจะมีการแก้ไขสัญญาจะต้องมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเหตุไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นจึงต้องยึดถือสัญญาเดิม จำเลยซึ่งเป็น ผู้บริหารย่อมต้องระมัดระวังควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งจำเลยไม่มีอำนาจใน การแก้ไขสัญญาที่มีลักษณะไปในทางเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ค้าจากการรับเงินค่าส่งที่สูงมากถึงร้อยละ 85 ของมูลค่างาน เป็นเหตุให้บริษัทผู้ค้าไม่ส่งมอบงานตามกำหนด
     นอกจากนี้ โจทก์นำพยานซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานต่อเรือเบิกความระบุว่า เครื่องจักรหลักตามสัญญาหมายถึงเครื่องยนต์ขับปั๊มขุด ซึ่งมีขนาดใหญ่ 1,150 แรงม้า มากกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่บริษัทผู้ค้าส่งมอบให้มีแรงม้าและมูลค่าต่ำกว่าเครื่องยนต์ขับปั๊มขุด โดยจำเลยทั้ง 2-7 เป็น ผู้บริหารสัญญา ย่อมต้องรู้ดีว่าการส่งมอบเงินในงวดที่ 2 จะต้องสัมพันธ์กับงานที่ได้รับ
     การที่บริษัทผู้ค้าส่งมอบเครื่องจักรที่มีกำลังและมูลค่าต่ำ ไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยทั้ง 2-7 ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะไม่ทราบว่าเครื่องจักรหลักเป็นเครื่องใด เมื่อจำเลยทั้ง 2-7 ทราบว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่ใช้เครื่องจักรหลัก แต่ยังตรวจรับงานและทำเอกสารอนุมัติจ่ายเงินงวดที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามฟ้อง
     โจทก์ยังมีพยานซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับสัญญา เบิกความด้วยว่า การแก้ไขสัญญาจ่ายเงินงวดที่ 5 จำนวน ร้อยละ 20 ของมูลค่างาน แยกย่อยเป็น 3 งวด และเป็นจำนวนที่สูงกว่ามูลค่าสัญญาเดิม ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 126 ที่ว่ารัฐไม่ได้ประโยชน์สูงสุด แต่เป็นการส่งผลให้บริษัท ผู้ขายได้รับประโยชน์ ที่ได้รับเงินค่างวดสูงสุดโดยยังไม่ได้ส่งมอบเรือขุด 3 ลำ
     เห็นว่า พยานเบิกความเป็นลำดับขั้นตอน ไม่มีลักษณะเป็นการกล่าวหาให้จำเลยได้รับผิด คำเบิกความมีเหตุผลเชื่อมโยง และไม่ปรากฏว่าพยานมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความไปตามหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาและแผนการแก้ไขสัญญาตั้งแต่ต้น โดยการหาเหตุผลต่างๆ มาอ้างเพื่อลดการรับงาน แต่ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนสูง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ผู้ขาย เป็นการทำให้รัฐเสียหาย
      ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่องที่ได้รับมานั้น สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม โดยมีสถาบันจัดชั้นเรือหรือ เอบีเอส และผู้ควบคุมงานให้การรับรองนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญา ขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารสัญญาจะต้องมีความระมัดระวังในปฏิบัติตามสัญญา ขณะที่ปัจจุบันความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ข้ออ้างของจำเลยจึงเลื่อนลอยฟังไม่ขึ้น
     ส่วนจำเลยที่ 4-5 เป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลของบริษัทผู้ค้าซึ่งไม่มีสภาพความมั่นคง และหากรับรู้จะไม่ลงชื่อในเอกสาร จึงน่าเป็นไปได้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดกับจำเลยทั้งสอง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง
   พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุก 2 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 6, 7 มีความผิดตามาตรา 157 และ 162 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 157 จำคุก 2 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรวมคนละ 2 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลาคนละ 10 ปี และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4-5 ขณะที่จำเลยได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 และ 5 ส่วนจำเลยที่ 1,2,3,6 และ 7 ได้ยื่นฎีกาสู้คดี
     ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 7 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาการอนุมัติจ่ายเงินงวดที่ 5 ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมเจ้าท่าได้สั่งการให้จำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการจัดซื้อเรือขุด ซึ่งในสัญญาโครงการจัดซื้อเรือขุด ระบุแบ่งการส่งมอบออกเป็น 5 งวด คือ งวดที่ 1 กับ 2 เป็นการส่งมอบเครื่องจักรหลัก งวดที่ 3 เป็นการจัดวางกระดูกงู 4.งานจัดระบบขุดของเรือ โดยไม่มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการส่งมอบเรือพี่เลี้ยงจำนวน 3 ลำ และงวดที่ 5 เป็นขั้นตอนที่กำหนดให้บริษัทจัดส่งเรือขุดจากสหรัฐมายังประเทศไทย จึงจะได้รับเงินจำนวนร้อยละ 20 ของมูลค่างาน
     ย่อมแปลได้ว่างานในงวดที่ 5 เป็นงานที่บริษัทผู้ขายจะต้องดำเนินการส่งมอบเรือจำนวน 3 ลำ พร้อมส่งเรือพี่เลี้ยงไปให้กรมเจ้าท่าตามสัญญา ซึ่งงานในงวดที่ 5 มีความสำคัญ จำเลยทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ดำเนินการให้บริษัทผู้ค้าดำเนินสัญญาให้ถูกต้องครบถ้วนและเคร่งครัด แต่จำเลยที่ 2-7 ตรวจรับงานจากบริษัทผู้ค้าทั้งที่ทราบดีว่า บริษัทไม่สามารถจัดส่งเรือขุดได้ตามกำหนดสัญญา เนื่องจากบริษัทต่อเรือที่สหรัฐแจ้งว่าคนงานจะหยุดต่อเรือในช่วงก่อนที่จะครบกำหนดสัญญาส่งมอบเรือวันที่ 24 มี.ค.2542 ซึ่งจำเลยที่ 2-7 ย่อมเห็นว่ามีแนวโน้มว่าบริษัทผู้ค้าจะไม่สามารถต่อเรือให้เสร็จได้
     แม้จำเลยจะต่อสู้อ้างว่า ไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2-7 พิจารณางานงวดที่ 5 ถือว่าจำเลยที่ 2-7 มีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งสำนักนิติกรรมกรมเจ้าท่าเองก็ได้ระบุว่าจำเลยที่ 2-7 มีความเห็นเสนอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสัญญาการจ่ายเงินในงวดที่ 5 ให้บริษัทผู้ค้าจำนวนร้อยละ 20 โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวดย่อย ตามที่จำเลยที่ 2-7 เสนอแก้ไข ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2-7 ตรวจรับงานและเสนอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสัญญาจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ค้าและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
     ส่วนนายจงอาชว์ จำเลยที่ 1 ก็ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาการจ่ายเงินงวดที่ 5 ให้กับบริษัทผู้ค้า ตามข้อเสนอของผู้ค้าโดยแบ่งจ่ายเงิน 3 งวดย่อย จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และแม้บริษัทผู้ค้าจะส่งท่อทุ่นและอุปกรณ์เครื่องจักรอื่นมาให้ก็ไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 6 เบิกความยอมรับว่าท่อทุ่นไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญาด้วย ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้าด้วย มีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
     ส่วนที่จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้คดีนั้น ก็ฟังขึ้นบางส่วนมีเหตุให้ปรานีแก้โทษให้เบาลง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขโทษให้เหมาะสม จึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-7 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพียง 1 กระทง จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
      ทั้งนี้ ภายหลังศาลฎีกาพิพากษาญาติของจำเลยได้ร่ำไห้และเข้ากอดปลอบจำเลย ก่อน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวจำเลยทั้ง 7 คน ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!