- Details
- Category: คอรัปชั่น
- Published: Thursday, 16 April 2015 23:23
- Hits: 7319
รายงานพิเศษ : ต่างมุม-บัญชีดำ 100 ขรก.ทุจริต
กรณีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์ รวบรวบมีรายชื่อข้าราชการทั่วประเทศกว่า 100 คนที่ถูกกล่าวหาพัวพันการทุจริต
เพื่อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) เพื่อมีคำสั่งโยกย้าย
โดยอิงข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ หรือหวั่นการโยกย้ายมีการตั้งธงล่วงหน้า
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการ ป.ป.ช.
ตามหลักการปกติแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบว่าข้าราชการที่ถูกกล่าวหามีการกระทำความผิดจริงหรือไม่
หากเป็นข้าราชการระดับสูงตั้งแต่รองอธิบดี อธิบดี รองผู้ว่าฯและผู้ว่าฯขึ้นไป หน้าที่การตรวจสอบจะเป็นของป.ป.ช. ส่วนข้าราชการที่ระดับต่ำกว่าซี 7 ลงมา เป็นหน้าที่ของป.ป.ท. หากเป็นกระบวนเช่นนี้ก็เป็นเรื่องปกติและไม่มีการก้าวก่ายเรื่องสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีการใช้กฎหมายพิเศษ กระบวนการรวบรวมรายชื่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. และคตร. ที่ได้มาซึ่ง 100 ชื่อข้าราชการที่พัวพันกับการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นมีมาตรฐานขนาดไหน
หากเป็นการแจ้งมาลอยๆ จะทำให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเกิดความกังวลและไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ แต่ถ้าผ่านกระบวนการอย่างถูกต้องแล้วก็เป็นเรื่องไม่น่าตกใจ
กฎหมายที่ผ่านมาสามารถบังคับใช้ได้จริง แต่อาจติดขัดตรงสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ เมื่อมีการกระทำความผิดผู้บังคับบัญชาก็ทำเป็นไม่สนใจและไม่เอาจริงเอาจัง ที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้เพื่อต้องการทำให้เกิดความเด็ดขาดและทำให้กฎหมายสามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง
ส่วนที่หลายคนกังวลว่าข้าราชการอาจถูกกลั่นแกล้งจากกระบวนการดังกล่าวนั้น ก็ไม่ทราบว่ามีการกลั่นแกล้งจริงหรือไม่
ถ้ารัฐบาลต้องการทำเรื่องนี้ให้รอบคอบแล้ว ควรให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ฟังเหตุผลของผู้ถูกกล่าวหาและอย่าฟังความเพียงข้างเดียวแล้วตัดสินเลย
โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล
เรื่องดังกล่าวเป็นการก้าวก่ายหลักสิทธิมนุษยชนของ ผู้ถูกกล่าวหา ที่ผ่านมาหากข้าราชการมีการกระทำความผิดจริงก็จะมีขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมายที่ปกติอยู่แล้ว มีการลงโทษทางวินัย หากเกี่ยวข้องกับคดีอาญาก็เป็นหน้าที่ของตำรวจเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย
และในส่วนของข้าราชการในขั้นตอนตามปกติ ยังมีการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย ซึ่งขึ้นอยู่กับการทำงานของข้าราชการนั้นๆ
ไม่มั่นใจว่าการรวบรวมรายชื่อข้าราชการทั้ง 100 คน ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลต้องการทำให้เหล่าข้าราชการ หรือประชาชนเห็นว่าสามารถทำให้กฎหมายเกิดความเด็ดขาดได้ หรือต้องการทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นผลงานที่เด่นชัดของรัฐบาลว่าสามารถจัดการกับข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ไม่สามารถระบุได้ว่ากระบวนการดังกล่าวมีความโปร่งใสและมีความรอบคอบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ระหว่างที่หน่วยงานมีการรวบรวมรายชื่อก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครทราบว่ารายชื่อต่างมีที่มาที่ไปอย่างไร มีหลักฐานมากน้อยขนาดไหน
ความรอบคอบในขั้นตอนต่างๆ รัฐบาลและคตช. มีการขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จาก ป.ป.ช. ป.ป.ท. คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และ สตง.อย่างไร
เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา คตช.ควรให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ถ้าถูกกล่าวหาว่าทุจริตแต่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ใช้ช่องทางของศาล เพื่อฟ้องร้องผู้บังคับบัญชาได้ ซึ่งเป็นอีกทางออกหนึ่ง เช่น กรณีของนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช. ที่ถูกโยกย้ายโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ใช้ช่องทางของศาลปกครองเพื่อฟ้องร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ประพันธ์ นัยโกวิท
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
หลักการสอบสวนไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีทางวินัย การให้ความเป็นธรรมแก่ผู้โดนสอบสวนถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ขั้นตอนและกระบวนการสอบสวนนั้นมีอยู่แล้ว ว่าควรทำอย่างไร เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความเป็นธรรมแก่ตัวเองได้อย่างไร
ต้องให้โอกาสใช้พยานหลักฐานพิสูจน์ความถูกผิดได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่สอบสวนเบื้องต้นแล้วจะเอาผิดทันที โดยไม่เปิดโอกาสให้ได้แก้ข้อกล่าวหาอย่างรอบคอบครบถ้วน
และหากไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน ก็ต้องเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิร้อง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) หรือร้องต่อศาลปกครองได้ โดยเฉพาะการเปิดชื่อนั้นถือเป็นการกระทำที่อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเกิดความเสียหายได้
ส่วนข้อเสนอของบางคนที่ให้ใช้มาตรา 44 จัดการกรณีนี้ ไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างยิ่ง การจะเอาผิดใดๆ เพื่อให้เป็นตัวอย่างหรือเยี่ยงอย่างก็ไม่ควรเอาคนมาเป็นตัวทดลอง
หลักการสอบสวนไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา หรือวินัย ต้องให้คนถูกสอบสวนมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาให้รอบคอบครบถ้วนก่อนจะดำเนินการอะไรได้ ต้องให้โอกาสนำพยานมาพิสูจน์ได้เต็มที่
ขั้นตอนก็ต้องให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่สอบเบื้องต้น โดยเฉพาะการเปิดเผยชื่อทำให้ผู้ที่ตกเป็นข่าวเสียหายได้ ขบวนการขั้นตอนมีอยู่แล้ว ถ้าสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยก็ต้องเปิดโอกาสให้ร้อง ให้โอกาสพิสูจน์เต็มที่
การโยกย้ายข้าราชการเป็นเรื่องทางปกครอง อาจเห็นว่าอยู่ในตำแหน่งนั้นแล้วอาจเป็นปัญหา แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพื่อเอาเป็นตัวอย่างของการเอาผิด
การโยกย้ายหรือไม่เป็นเรื่องการบริหารงาน ต้องให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้บังคับบัญชาด้วยเหมือนกันในการโยกย้าย แต่การจะลงโทษใดๆ มีขั้นตอนกระบวนการสอบสวน
ต้องเปิดให้คนถูกโยกย้ายได้ชี้แจง มีสิทธิร้องคณะกรรมการความเป็นธรรม หรือฟ้องศาลปกครอง ไม่ควรรีบเร่งดำเนินการ
'ปลัดคลัง'โต้ติดโผบัญชีดำ จ่อประสานป.ป.ช.ถอดข้อมูล
แนวหน้า : 16 เม.ย.58 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงเรื่องติด 1 ใน 10 รายชื่อที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีไม่ดำเนินการเรียกเงินคืนเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญคืนจากอดีตข้าราชการทหาร ที่กลับเข้ารับราชการ หลังไปเป็นข้าราชการการเมือง โดยได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง เมื่อปี 2555 ซึ่งทาง ป.ป.ช.เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนก็ได้สอบถามมายังกรมบัญชีกลาง ทางกรมก็ได้ชี้แจงไปจนหมดแล้ว และไม่มีการจั้งคณะกรรมการไต่สวนต่ออีก
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินการติดตามเรียกบำเหน็จคืน และมีหลายรายที่ผ่อนชำระคืนครบแล้ว ส่วนรายที่ไม่ชำระก็จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป โดยตามเกณฑ์ผู้ที่มีสิทธิ์รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญนั้นจะต้องรับราชการไม่ต่ำกว่า 25 ปี
นายรังสรรค์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของเว็บไซต์ ของ ป.ป.ช. ที่ยังไม่มีการแก้ไขข้อมูล และนำรายชื่อของตนเองออกจากเว็บไซต์ดังกล่าว ทำให้สำนักข่าวนำไปลงจนเกิดความเข้าใจผิด ซึ่งล่าสุดทางกรมบัญชีกลางได้ประสานกับ ป.ป.ช. ขอให้ถอดเรื่องนี้ออกจากเว็ปไซต์แล้ว
"สื่อออนไลน์แห่งนั้นได้นำข้อมูลมาจาก ป.ป.ช.ที่เคยถูกร้องเรียนเรื่องไม่เรียกเงินคืนเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญจากอดีตข้าราชการทหาร ซึ่งออกก่อนไม่ครบกำหนด 25 ปี และก็ได้ทำการเรียกคืนแล้ว ป.ป.ช.จึงไม่ดำเนินการใดๆต่อ แต่ทางป.ป.ช.ยังไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนดังกล่าว" นายรังสรรค์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica ได้เปิดเผยรายชื่อข้าราชการที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ไต่สวนการทุจริตของข้าราชการระดับสูง (ส่วน ป.ป.ท.จะตรวจสอบได้เฉพาะข้าราชการระดับกลางและระดับล่าง) ก็พบว่ามีข้าราชการระดับอธิบดี ถูก ป.ป.ช.ไต่สวนอยู่ 10 คนด้วยกัน ซึ่งนายรังสรรค์ อยู่ลำดับที่ 2 ถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ดำเนินการเรียกเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญคืนจากอดีตข้าราชการทหาร ที่กลับเข้ารับราชการ หลังไปเป็นข้าราชการการเมือง