WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

constitutionalcourtศาลรัฐธรรมนูญชี้ กรธ.แก้ไขร่าง รธน.ไม่สอดคล้องผลประชามติ-ให้กลับไปปรับแก้ใหม่ 2 ประเด็น

   ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ เนื่องจาก กรธ.แก้ไขโดยกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองไม่สอดคล้องและไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ โดยให้ กรธ.ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในสองประเด็น

   "ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติ และให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ดังนี้

  (1) ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

  (2) กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ "ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้"

  ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องกันต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 37/1" คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

   ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ที่กำหนดให้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติที่มีเจตนารมณ์ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านห้าปีแรก

    "เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง มีเจตนารมณ์มุ่งหมายให้เป็นทางออกกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งขั้นตอนในการเสนอขอยกเว้นตามความในร่างมาตรา 272 วรรคสองนี้ มิใช่เป็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หากแต่เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกสภาผู้แทนตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้ ขั้นตอนการเสนอชื่อขอยกเว้นอันเป็นขั้นตอนที่จะนำไปสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบซึ่งต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จึงควรเป็นอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะร่วมกันแก้ปัญหาข้อขัดข้องให้ผ่านพ้นไปได้ด้วย สมตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ดังนั้นผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีของทั้งสองสภา"

     นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่า การเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ถือเป็นสาระสำคัญของประเด็นเพิ่มเติม เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า'ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 268'และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือก ส.ส.ตามมาตรา 268 แล้ว" ดังนั้นการกำหนดเวลาและวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองต้องสอดคล้องกัน จึงได้กำหนดให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ สำเร็จบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

   "ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังนั้นกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้"

  อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!