- Details
- Category: กองทัพอากาศ
- Published: Sunday, 20 September 2015 22:40
- Hits: 14452
ทัพฟ้าไทยซื้อ T-50'อินทรีทอง'จากเกาหลี 4 ลำ เป็นประเทศที่สามในอาเซียน
ภาพถ่ายเมื่อปี 2554 เป็นฝูงบิน T-50 ของกองทัพอากาศเกาหลี บริษัทผู้ผลิตออกคำแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี 17 ก.ย.ว่า ได้เซ็นสัญญากับไทยเพื่อขาย T-50TH ให้ไทยจำนวน 4 ลำ มูลค่าราว 110 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่สามในอาเซียน ที่เลือกเครื่องบินฝึกไอพ่น ความเร็วเหนือเสียงที่ผลิตในเกาหลี. -- Korea, Defense Photo Magazine.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -บริษัทอุตสาหกรรมอากาศยานเกาหลี หรือ KAI (Korea Aerospace Industries) แถลงในวันพฤหัสบดี 17 ก.ย.ว่า ได้เซ็นสัญญากับฝ่ายไทยเพื่อจำหน่ายเครื่องบินฝึกไอพ่นแบบ T-50‘โกลเด้นอีเกิล’ (Golden Eagle) ให้ไทย จำนวน 4 ลำ รวมมูลค่าราว 110 ล้านดอลลาร์ โดยจะมีการส่งมอบภายในเวลา 30 เดือน
ตามรายงานของสำนักข่าวยนฮับซึ่งเป็นของทางการ กองทัพไทยจะใช้เครื่องบินฝึก T-50TH ที่ผลิตในเกาหลี แทนเครื่องบินฝึกแบบ Aero L-39‘Albatros’ ซื้อจากประเทศเชโกสโลวะเกียเมื่อก่อน ที่มีอยู่กว่า 30 ลำ และใช้งานมาเป็นเวลานาน
ทั้ง T-50TH และ L-39‘อัลบาทรอส’ (Albatros) เป็นเครื่องบินฝึกไอพ่นที่สามารถดัดแปลงติดอาวุธใช้เป็นเครื่องบินโจมตีขนาดเบาได้ สำหรับ T-50 ในปัจจุบันยังคงใช้ประจำการในกองทัพอากาศเกาหลี และส่งออกไปยังอีกหลายประเทศ การเซ็นความตกลงซื้อขายดังกล่าวทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่จะมี T-50 ประจำการ ถัดจากอินโดนีเซีย ที่สั่งซื้อ 16 ลำ และ ฟิลิปปินส์ 12 ลำ
ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานเพียงแห่งเดียวของรัฐบาล T-50 ยาว 13.14 เมตร สูง 4.94 เมตร ระยะปีกสองข้าง 9.45 เมตร น้ำหนักลำตัวเปล่า 6.47 ตัน รับน้ำหนักได้สูงสุด 12.3 ตัน ติดเครื่องยนต์ของเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) ที่ผลิตภายใต้สิทธิบัตรในเกาหลี โดยบริษัทซัมซุงเทควิน (Samsung Techwin)
ด้วยเครื่องยนต์ไอพ่นเทอร์โบแฟน ที่มีระบบอาฟเตอร์เบิร์นเนอร์ (After Burner) หรือระบบพ่นเชื้อเพลิงท้ายเครื่องเพื่อเพิ่มแรงบิด เช่นเดียวกับเครื่องบินขับไล่/โจมตีขนาดใหญ่ทั่วไป ทำให้ T-50 สามารถทำความเร็วในระดับซูเปอร์โซนิคได้ คือ ความเร็วสูงสุดถึง 1,640 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนความสูงจากพื้นโลก 9 กม.เศษ อันเป็นความสามารถที่หาได้ยากในบรรดาเครื่องบินเจ็ตสำหรับฝึก
ส่วนอัลบราทอส เป็นเครื่องบินฝึกไอพ่นได้รับความนิยมมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก มีใช้ในกว่า 50 ประเทศ และใช้กันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในย่านนี้นอกจากไทยแล้ว กองทัพอากาศเวียดนามก็เป็นลูกค้าอีกรายหนึ่งของเครื่องบินฝึกตระกูลเช็ก มีขนาดใกล้เคียงกับอินทรีทอง แต่ไม่สามารถทำความเร็วระดับเหนือเสียงได้
สำหรับ T-50 เจ้าหน้าที่เกาหลีเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ฝ่ายไทยได้ขอรายละเอียดไปตั้งแต่ปี 2555 เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจ
ไม่กี่ปีมานี้ไทยได้กลายเป็นลูกค้าอาวุธยุทโธปกรณ์อีกรายหนึ่งของเกาหลี รวมทั้งการเซ็นซื้อเรือฟริเกตรุ่นหนึ่ง ที่ผลิตโดยกลุ่มแดวูในเดือน ส.ค.2556 เป็นมูลค่า 470 ล้านดอลลาร์ และได้กลายเป็นการนำเข้าอาวุธรายการเดียวที่มีมูลค่าสูงสุดของกองทัพไทย นอกจากนั้น ฝ่ายไทยยังแสดงความสนใจที่จะสั่งต่ออีก 1 ลำด้วย
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์โคเรียไทมส์ก่อนหน้านี้ เรือฟริเกตขนาด 3,700 ตัน ภายใต้ขื่อ DW3000F ที่กองทัพเรือไทยสั่งซื้อนั้นต่อขึ้นตามโครงของเรือพิฆาตรุ่นเล็ก แบบ KDX-1 สำหรับกองทัพเรือ แต่ได้ทยอยปลดระวางประจำการไปหมดแล้ว
การส่งมอบเรือมีกำหนดในปี 2560 ราชนาวีไทยมีแผนการจะนำเรือฟริเกตเกาหลีไปติดตั้งระบบอาวุธของผลิตชั้นนำระดับโลก ซึ่งรวมทั้งระบบอำนวยการสู้รบ 9LV Mk4 ของกลุ่มซาบแห่งสวีเดน ระบบท่อยิงจรวดแนวตั้ง Mk 41 ที่ผลิตโดยล็อกฮีดมาร์ติน แห่งสหรัฐฯ ระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM (Evolved SeaSparrow Missile) โดยบริษัทเรธีออน กับจรวดยิงเรือแบบฮาร์พูน RGM-84 โดยโบอิ้ง
สื่อของเกาหลี กล่าวว่า ไทยยังมีแผนการจะติดตั้งปืนใหญ่เรือยิงเร็ว 76 มม. โอโตเมเลรา (Oto Melera) ที่ผลิตในตุรกี และปืนใหญ่เรือ 30 มม. แบบ ‘ซีฮอว์ก’ ที่ผลิตในอังกฤษด้วย
ทอ.ทุ่ม 3.7 พันล้านถอยเครื่องบินฝึกเกาหลี
ไทยโพสต์ : กรุงเทพฯ ทอ.ลงนามซื้อเครื่องบินฝึกเกาหลี รุ่น T-50TH จากบริษัท Kai 4 ลำ วงเงิน 3.7 พันล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ทดแทน แอล-39 ที่ปลดประจำการ
เมื่อวันศุกร์ พล.อ.อ.มณฑล สัชณุกร โฆษกกองทัพอากาศกล่าวว่า เมื่อวันที่ 17ก.ย.58 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทหารอากาศในฐานะประธานกรรมการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น ได้เป็นผู้แทนกองทัพอากาศลงนามในสัญญาจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50 TH จำนวน 4 ลำ พร้อมอะไหล่ขั้นต้น อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น การฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่เทคนิคที่เกี่ยวข้อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมทั้งข้อเสนอพิเศษ กับนาย Ha Sung Yong ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Korea Aerospace Industries (KAI) จำกัด
โฆษกกองทัพอากาศกล่าวว่า ในการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ต.ค.57 ที่อนุมัติให้กองทัพอากาศดำเนินการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 1) ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2560 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งก่อนดำเนินการ ซึ่งกองทัพอากาศได้นำเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบผลการดำเนินการเมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้กองทัพอากาศดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นตามโครงการ (ระยะที่1) เมื่อวันที่ 10 ก.ย.58
พล.อ.อ.มณฑล กล่าวว่า เครื่องบินแบบ T-50TH จะเข้ามาประจำการทดแทนเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 (L-39) ของกองทัพอากาศที่มีแผนจำปลดประจำการซึ่งใช้งานมานาน มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เครื่องบินแบบ T-50TH เป็นเครื่องบินฝึกสมรรถนะสูง ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสมสำหรับการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น ให้สามารถปฏิบัติภารกิจกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงของกองทัพอากาศที่มีใช้งานในปัจจุบันต่อไปได้
มีรายงานว่า กองทัพอากาศได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2558 วงเงิน 3,700 บาท ในการจัดหาเครื่องบินฝึกรุ่นใหม่แทน L-39 ของสาธารณเช็กที่มีปัญหาบริษัทปิดไลน์การผลิต ทั้งนี้ มีบริษัทจากประเทศต่างๆ เสนอแบบมาให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกหลายประเทศ เช่น T-50 จากประเทศเกาหลี, M-346 ของประเทศอิตาลี และ Textron Air Land Scorpion จากประเทศสหรัฐอเมริกา