- Details
- Category: DSI
- Published: Tuesday, 17 March 2015 10:58
- Hits: 3555
วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8875 ข่าวสดรายวัน
ถอนฟ้องธัมมชโย-คืนสหกรณ์ 684 ล.ดีเอสไอชี้ไม่จบ คดีฉ้อโกงปชช.
ไกล่เกลี่ย - ทนายความวัดพระธรรมกาย จับมือทนายความบริษัทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลังตกลงไกล่เกลี่ย โดยวัดยอมคืนเงิน 684 ล้านให้กับสหกรณ์ฯ แลกกับการถอนฟ้องทั้งแพ่งและอาญา ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 มี.ค. |
วัดพระธรรมกายคืนเงิน 684 ล้านบาท ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแล้ว หลังศาลจังหวัดธัญบุรีเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ แลกกับการถอนฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยขอแบ่งชำระเป็น 6 งวด ตกบ่ายส่งตัวแทนถอนฟ้องทันทีทั้งดีเอสไอและปปง. ด้านดีเอสไอยันไม่กระทบคดีอาญา ธัมมชโยยังต้องเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ในวันที่ 26 มี.ค.นี้ เร่งตรวจสอบสเตตเมนต์เส้นทางการเงินจากเช็ค 878 ฉบับ สัปดาห์นี้เตรียมสอบเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่าปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องหรือไม่ ล่าสุดบุกมหาสารคาม ตรวจสอบเช็ค 23 ล้านที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร สั่งจ่ายให้เจ้าอาวาสวัดปัจฉิมทัศน์ เพื่อซื้อที่ดิน รอลุ้น 20 มี.ค. ศาลล้มละลายนัดตัดสินคำร้องฟื้นฟูกิจการ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ศาลนัดไกล่เกลี่ย คดีที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นจำเลยที่ 1 วัดพระธรรมกาย เป็นจำเลยที่ 2 และพระธัมมชโย เป็นจำเลยที่ 3 โดยนางประภัสสร พงศ์พิพัทธ์พิศาล เลขานุการคณะกรรมการ ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ ขณะที่วัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย ส่งนายสัมพันธ์ เฉิมชีพ ทนายความเป็นตัวแทน
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายฐปณวัฒน์ สระสม ทนายความสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยหลังการไกล่เกลี่ยกันนานหลายชั่วโมงว่า คู่ความได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยวัดพระธรรมกายยินยอมที่จะคืนเงินจำนวน 684,780,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเช็คที่ออกไปจากสหกรณ์ 13 ฉบับ ทั้งที่เป็นส่วนของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัด พระธรรมกาย และส่วนที่วัดพระธรรมกายรับมาจากนายศุภชัย ซึ่งการคืนเงินจะแบ่งจ่ายเป็นเช็คจำนวน 6 งวด งวดละ 100 ล้านบาท เว้นงวดสุดท้ายที่จะสั่งจ่าย 184 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมในวันนี้ที่รับมาแล้ว 1 ฉบับ และจะสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 2558 โดยจะสั่งจ่ายเข้าปลายเดือนของทุกเดือน ส่วนที่เหลืออีก 130 ล้านบาท ซึ่งเป็นเช็ค 1 ฉบับ จะต้องฟ้องคดีต่อนายศุภชัยและมูลนิธิรัตนคีรี ซึ่งตรวจสอบพบว่าเป็นมูลนิธิในเครือพระลูกวัดพระธรรมกายต่อไป ขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าจะมีผู้ใดเกี่ยวโยงอีกหรือไม่ และอยู่ระหว่างการรอศาลนัดไต่สวนคดี ส่วนการคืนเงินนี่ก็น่าจะเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่จะช่วยให้ศาล ล้มละลายกลาง พิจารณาเห็นว่าสหกรณ์สามารถดำเนินแผนฟื้นฟูได้
ทางด้านนางประภัสสร ระบุว่า รู้สึกดีใจที่สามารถเจรจาความจบด้วยดี จากนี้จะถอนฟ้องคดีต่างๆ ของวัดและพระธัมมชโยทั้งหมด เพราะเป็นที่สิ้นสุดแล้ว โดยในวันนี้จะให้ทนายไปยื่นหนังสือถอนฟ้อง ทั้งทางแพ่งและอาญาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ส่วนเงินที่ได้คืนมานี้ จะนำไปจ่ายแก่สมาชิกเพื่อเยียวยาช่วยเหลือ แต่ยังไม่สามารถจ่ายได้ทันที เพราะต้องรอดูคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ก่อนว่าศาลจะพิพากษาอนุมัติแผนฟื้นฟูของสหกรณ์หรือไม่ ซึ่งหากอนุมัติก็จะสั่งจ่ายได้ทันที แต่ถ้าไม่ต้องให้พนักงานบังคับคดีเข้ามาดำเนินกิจการแทน
ด้านนายสัมพันธ์ ทนายความและตัวแทนพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย กล่าวว่าศิษยานุศิษย์ของวัด จะเป็นผู้ชำระเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ แต่ไม่ได้เป็นการคืนเงินที่ได้รับจากการยักยอก ซึ่งเงินดังกล่าวได้มาจากกองทุนที่วัดจัดตั้งขึ้นมา โดยเป็นเงินของศิษยานุศิษย์ที่ศรัทธา คาดว่าใช้เวลาเรี่ยไรไม่นาน ตนรู้สึกยินดีที่คดีจบลงด้วยดี
ต่อมาเมื่อเวลา 14.15 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายฐปณวัฒน์เดินทางเข้ายื่นหนังสือประสงค์ไม่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย หลังมีการไกล่เกลี่ยคืนเงิน ถึงนางสุวณา สุวรรณะจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ โดยมีนายพงศ์ศักดิ์ ฐิติวรรณ พนักงานสอบสวนชำนาญการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือแทนอธิบดีดีเอสไอ ทั้งนี้หลังยื่นหนังสือให้ดีเอสไอ ทีมทนายสหกรณ์ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อแสดงความประสงค์ไม่ดำเนินคดีแพ่งและอาญากับวัด พระธรรมกายและพระธัมมชโยเช่นกัน
ด้านพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า การยื่นหนังสือไม่ประสงค์เอาผิดกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายของสหกรณ์นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการสอบสวนดำเนินคดีของดีเอสไอ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับพระธัมมชโย เป็นเพียงการออกหมายเรียกเพื่อเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน ซึ่งยืนยันว่าพระธัมมชโยยังต้องเข้าให้ปากคำกับดีเอสไอตามกำหนดนัดในวันที่ 26 มี.ค.นี้
ขณะที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากคดีใดที่สามารถยอมความได้ก็ให้ยอมความ แต่คดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการสอบสวนตามกฎหมาย
พ.ต.ท.สมบูรณ์ สารสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะพนักงานสอบสวนคดี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่กระทบกับการดำเนินคดีอาญา แม้คดียักยอก ฉ้อโกง ตามกฎหมายแล้วเป็นคดี ที่สามารถยอมความได้ แต่ในส่วนของคดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นคดีทางอาญานั้น ทางพนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อชี้ให้ชัดว่ามีเจตนาหรือไม่หากสามารถรวบรวมพยานหลักฐานชี้ชัดได้จึงจะแจ้งข้อหา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับสเตตเมนต์เส้นทางการเงินจากเช็ค 878 ฉบับแล้วร้อยละ 50 โดยในสัปดาห์นี้ จะเร่งสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ในเรื่องมติต่างๆ ว่ามีการกระทำผิดระเบียบในส่วนใดบ้าง และต้องสอบในรายละเอียดลงไปด้วยว่า เมื่อตรวจสอบพบว่านายศุภชัยกระทำผิดระเบียบ จนนำไปสู่การออกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จากนั้นมีดำเนินคดีหรือไม่อย่างไร
ด้านนางเพ็ญวรี มาแสง นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กล่าวว่า ในวันที่ 20 มี.ค. นี้ ศาลล้มละลายจะมีคำตัดสินเรื่องคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์คลองจั่น ซึ่งหากศาลอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้จะต้องยื่นขอชำระหนี้ตามแบบ ฟ.20 พร้อมสำเนายื่นต่อสำนักงานฟื้นฟูกิจการ กรมบังคับคดีภายใน 1 เดือน แต่หากศาลไม่ได้ตั้งผู้ทำแผน ทางสำนักงานจะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน พร้อมส่งสำเนาประกาศและแบบ ฟ.19 ให้กับลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามบัญชีรายชื่อที่เสนอต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อไป แต่หากศาลยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ของสหกรณ์คลองจั่น สามารถดำเนินการฟ้องร้อง โดยแบ่งเป็นคดีแพ่งและคดีล้มละลาย อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนของคำสั่งศาลล้มละลาย ว่าจะมีคำสั่งไปในทิศทางใด
ต่อมาในช่วงบ่ายที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ นางกรรณิการ์ อัดคะพู รองประธานกรรมการดำเนินการคนที่ 1 และนายประกิต พิลังกาสา รองประธานกรรมการดำเนินการคนที่ 2 ร่วมกันแถลงข่าวกรณีคืนเงิน นายเผด็จกล่าวว่า หลังจากทางวัดช่วยเหลือเงินคืนมาแล้ว ทางสหกรณ์ฯ ก็ไม่มีเหตุอันควรในการดำเนินคดีทั้งทางอาญาและแพ่งกับวัดจึงได้ถอนฟ้องคดี ส่วนที่เหลืออีก 130 ล้านบาท จะดำเนินการเอาผิดกับนาย ศุภชัยต่อไป ทั้งนี้ยังเหลือคดีที่ต้องนัดไกล่เกลี่ยกับพระครูปลัดวิจารณ์ พระลูกวัดอีก 119 ล้านบาท ส่วนคดีทางอาญาให้เป็นเรื่องการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กรณีวัดพระธรรมกายคืนเงินให้สคจ. แต่ขอแลกกับการไม่ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีกับทางวัด คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามดุลพินิจของดีเอสไอ เพราะมีหน้าที่โดยตรง แต่ตนจะขอดูรายละเอียดทั้งหมดตามที่วัดพระธรรมกายตกลงจะนำเงินมาคืน เพราะในทางกฎหมายการนำเงินที่ได้รับไปแล้วกลับมาคืน มีผลต่างกันกับการไปรวบรวมเงินบริจาคกลับมาให้สคจ. ลักษณะอย่างหลังเป็นเหมือนการหาเงินมาช่วยมากกว่า
"ส่วนการฟื้นฟูกิจการของสคจ. ผมมองว่าทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมืออยู่แล้ว ไม่ว่าวันที่ 20 มี.ค.นี้คำตัดสินของศาลจะออกมาในรูปแบบใด รวมทั้งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เพียงแต่ไม่มีใครพูดหรือแสดงท่าทีออกมาเท่านั้น เพราะไม่ก้าวล่วงและให้ความเคารพต่ออำนาจศาล"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรจะปล่อยให้สคจ. ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล ล้มละลายไปเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นตามธรรมชาติของธุรกิจได้หรือไม่ นายปีติพงศ์กล่าวว่า ใครจะไปปล่อยให้สหกรณ์ล้มได้ ระบบสหกรณ์อยู่กับประเทศ ไทยมานานแล้ว และเป็นแหล่งระดมทุนและกู้ยืมของผู้มีรายได้น้อย ปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเร่งวางระบบไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสองอีก สมาชิกสหกรณ์ทุกแห่งก็ต้องจำเป็นบทเรียน ให้ความใส่ใจตรวจสอบการดำเนินงานของกรรมการมากขึ้น
ส่วนเรื่องที่สั่งการให้นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไปทำรายงานผลสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตสคจ. ว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่และให้ส่งผลสอบภายใน 7 วัน ขณะนี้ครบ 7 วันที่ขีดเส้นตายไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงาน ถ้าได้รับรายงานแล้วจะพิจารณารายละเอียด และขอใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินการอย่างไร แล้วจะมาแถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบต่อไป
ทางด้านน.ส.กนกลดา เจริญศิริ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ พร้อมเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเดินทางลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เข้าสอบสวน พระครูศรีมหาชยาภิมณฑ์ หรือ พระมหาประเสริฐพร ฐิติสิริ เจ้าอาวาสวัดปัจฉิมทัศน์ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เนื่องจากมีเช็คที่นายศุภชัย ศรีศุภ อักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ สั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขามหาสารคาม ของพระครูศรีมหาชยาภิมณฑ์ เป็นจำนวนเงิน 23 ล้านบาท ต่อมาพระครูศรีมหาชยาภิมณฑ์ได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินและเบิกออกไปซื้อที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวาบริเวณข้างวัด
น.ส.กนกลดา เผยว่า ที่ดินดังกล่าวซื้อขายกันในปี"53 และโอนที่แล้วเสร็จในปี"54 จากการสอบสวนวันนี้ยังไม่พบพิรุธใดๆ เชื่อว่าทางวัดไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 17 มี.ค. ทางดีเอสไอจะได้เรียกอดีตเจ้าของที่ดินที่ขายให้กับทางวัดมาสอบสวนต่อไป
ด้านพระครูศรีมหาชยาภิมณฑ์ กล่าวว่าได้รับเช็คมาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ปี2553 ก่อนหน้านั้นในปี2552 มีพระผู้ใหญ่ที่นับถือเดินทางมาที่จังหวัดมหาสารคาม ทราบว่าทางวัดต้องการที่จะซื้อที่ดิน จึงรับปากว่าจะหาคนมาช่วยบริจาคเงินซื้อที่ให้ พอตกลงราคากับเจ้าของที่ได้ จึงโทรศัพท์ไปแจ้งกับนายศุภชัย ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสใหม่ๆ ยังไม่มีบัญชีเงินฝากของวัด ก็เลยแจ้งไปว่าเป็นบัญชีส่วนตัวได้หรือไม่ นายศุภชัยแจ้งว่าได้ขอให้เป็นบัญชีของธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้เก็บหลักฐานเอาไว้ทั้งหมด เงินที่รับบริจาคมาจะไม่ให้หายไปสักสลึงเดียว โดยส่วนตัวไม่ได้สนิทสนมกันกับนายศุภชัยเป็นการส่วนตัว แต่ด้วยความที่นายศุภชัยมีความใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่รูปดังกล่าว ตนเป็นลูกศิษย์จึงได้รู้จักกัน