- Details
- Category: อาชญากรรม
- Published: Friday, 12 February 2016 18:14
- Hits: 18056
ตำรวจไซเบอร์ ฉีกหน้ากากรักออนไลน์ รับวาเลนไทน์ สถิติชี้ มนุษย์ยุคสังคมก้มหน้าเดียวดายหนัก โจรรู้ทางใช้ความรักเป็นเหยื่อล่อ
บก.ปอท.เผยกลลวงสุดเจ็บโจรใช้สนองคนโหยหารัก โดนถ้วนหน้าเด็กยันแก่ 70! เหลือเชื่อแค่ปีเดียวดำเนินคดีทะลุ 150 ล้านบาท! คุณสมบัติ 'โสด เหงา ตังค์เหลือ'ตกเป็นเหยื่อตลอดกาล
พ.ต.อ.ภาณุวัฒน์ ร่วมรักษ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี(บก.ปอท.) เปิดเผยถึง ความน่ากลัวของคดีโรแมนซ์สแกมว่าสังคมยุคใหม่ชักอยู่ยาก ทั้งโจรไทยโจรฝรั่งมุ่งหาประโยชน์จากความอ่อนไหวของคน เพียงแค่ Smartphone ราคาเพียง 2 พันนิดๆ พร้อมอาวุธเป็นคำหวาน และรูปโปรไฟล์ที่ดูดีน่าคบหา ก็สามารถหักอกและทำให้เหยื่อหมดตัวได้ในพริบตา วิธีการเลือกเหยื่อของโจร คุณสมบัติสุดคลาสสิคที่โจรหมายตามักจะเป็น คนโสดที่มีอายุค่อนข้างเยอะ การศึกษาดี และแน่นอนต้องมีสตางค์
ซึ่งสาเหตุที่โจรมักเลือกเหยื่อเป็นคนอายุเยอะและการศึกษาดีนั้นก็เนื่องด้วยตรรกะง่ายๆที่คนอายุเยอะ การศึกษาดี มีหน้าที่การงานดี มักมีรายได้ดีและมีเงินเก็บอยู่เป็นกอบเป็นกำ ยิ่งไปกว่านั้นการจะหาข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อว่ามีการใช้ชีวิตและฐานะอย่างไรในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะเพียงเฝ้าดูความเคลื่อนไหวจากเฟสบุ๊คของเหยื่อก็สามารถรู้ทุกข้อมูลได้เป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากต้องยอมรับว่าธรรมชาติของคนใช้เฟสบุ๊ค ส่วนใหญ่นั้นมักชอบโพสต์ไลฟ์สไตล์อันหรูหราโชว์เพื่อน ซึ่งความร่ำรวยที่นำมาโพสต์โชว์เหล่านั้นท้ายสุด ได้กลับเป็นการทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของโจรที่กำลังมอนิเตอร์เลือกเหยื่อของเขาอยู่นั่นเอง
โดยในวันวาเลนไทน์นี้ ตำรวจไซเบอร์ได้ชวนทุกคนที่พบรักออนไลน์ให้มาเช็คข้อมูลเบื้องต้นง่ายๆว่าคนที่เราคุยอยู่ด้วยนั้นเป็นรักแท้ที่กำลังตามหา หรือมีแววเป็นโจรที่มาพร้อมคำหวานกันแน่ เช็คด่วน!! 5 อาการส่งสัญญาณว่าเราถูกหลอก!!
1.หนุ่มคนนั้นตกหลุมรักเราเร็วเท่าสัญญาณ 4G ที่ใช้คุยกัน ไม่ถึงอาทิตย์เรียก 'ที่รัก'สักพักก็ขอแต่งงาน โดยสาเหตุที่โจรมักเรียกเหยื่อว่าที่รัก (หรือ Darling ในกรณีที่โจรเป็นชาวต่างชาติ) นั้นไม่ใช่เพราะเขารักคุณสุดหัวใจแต่อย่างใด แต่เพราะโจรมักคุยกับเหยื่อที่ละหลายสิบคน จึงเรียกทุกคนว่า ที่รัก ให้เหมือนกันหมด เพื่อเป็นการป้องกันการเรียกชื่อผิด !!
2.ไม่เปิดกล้อง ไม่ยอมให้เห็นหน้า บ่ายเบี่ยงเมื่อขอเจอตัว เป็นธรรมดาที่โจรมักไม่ใช้รูปของตัวเอง แต่เอารูปของคนหน้าตาดีคนอื่นมาหลอกให้เหยื่อตกหลุมรัก และในกรณีที่คู่รักออนไลน์ของคุณเป็นชาวต่างชาติและใช้รูปโปรไฟล์เป็นฝรั่งผิวขาวนั้น ในความจริงพบว่าแทบทั้งหมดเป็นคนผิวดำไนจีเรียซึ่งใช้รูปฝรั่งผิวขาวหน้าตาดีมาหลอกเหยื่อ
3.รักกันไม่นาน ก็มีเหตุการณ์ที่พาให้เราต้องเสียตังค์ ร้อยแปดเหตุผลที่ทำให้เราต้องโอนเงินให้ ไม่ว่าจะบอกว่าไม่สบายต้องใช้เงินรักษา ชวนทำธุรกิจ บอกปัญหาชีวิตต่างๆนานาให้เราสงสาร หรือต้องโอนเงินเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับของขวัญแสนแพงที่เขาส่งมาให้ โดยโจรจะใช้คนกลางอีกคนโทรหาเหยื่อแล้วแสร้งทำทีว่าเป็นคนจากบริษัทขนส่งหรือศุลกากรเพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการขนส่งของของนั้น(ซึ่งเทียบแล้วถือเป็นจำนวนเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าของขวัญแสนแพงที่เขาส่งมาให้) ก่อนที่เราจะสามารถรับของกลับไปได้
4.ในกรณีเป็นฝรั่งมักบอกว่าเป็นชาวอังกฤษ หรืออเมริกัน แต่ดันเขียนภาษาอังกฤษผิดแกรมม่าตลอด นั่นเพราะว่าความจริงแล้วร้อยละ 99 เขาคือคนผิวดำไนจีเรียปลอมตัวมาในคราบหนุ่มฝรั่งรูปงาม หน้าที่การงานดีนั่นเอง
5.คุยกันไม่นาน ชอบชวนเปิดกล้อง ทำกิจกรรม sex online เคสนี้เหยื่อส่วนมากมักจะเป็นคุณผู้ชายที่นึกสนุกอยากทำกิจกรรม sex online ตามคำชวนของสาวแปลกหน้าที่อยู่ดีๆก็ทักเข้ามาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย โดยหารู้ไม่ว่าในขณะที่คุณกำลังสนุกกับกิจกรรมดังกล่าวกับเธอผ่านกล้องอยู่นั้น สาวคนนั้นได้อัดวีดีโอในขณะที่คุณกำลังสำเร็จความใคร่พร้อมบทสนทนาที่คุณพูดไว้ทุกคำ แล้วนำวีดีโอนั้นมาแบล็กเมล์เรียกเงินจากคุณอย่างไม่รู้จบเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ตำรวจไซเบอร์ยังได้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ทุกคนต้องแปลกใจในการหลอกรักออนไลน์ที่คุณอาจคิดไม่ถึงอีกด้วย5 เรื่องจริงที่จะทำให้คุณตะลึง !!
1.มีเหยื่อมากมายที่ญาติต้องบังคับให้มาแจ้งความหลังจากได้โอนเงินให้คนรักออนไลน์ไปมหาศาลแล้ว โดยแม้ในวันที่มาแจ้งความเหยื่อยังคงปักใจเชื่อว่านั่นคือรักแท้และไม่เชื่อว่าตัวเองถูกหลอกสักนิดเดียว
2.คนถูกหลอกมักเป็นคนมีการศึกษาดี หน้าที่การงานดี ไม่ใช่คนเรียนน้อยอย่างที่หลายคนคิดกัน
3.เหยื่อที่หลงเชื่อส่วนมากมักเป็นคนวัยกลางคนถึงสูงอายุ ที่มีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ 45 - 60 ปี และเงินนั้นมักเป็นเงินเก็บจากการทำงานทั้งชีวิตของเหยื่อ
4.รายที่สูญเสียมากที่สุดได้โอนเงินให้คนรักออนไลน์ที่ไม่เคยพบหน้ากันแม้แต่ครั้งเดียวเป็นจำนวนถึง 26 ครั้ง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 33 ล้านบาท โดยใช้เวลาถึงเกือบ 2 ปี ก่อนที่เหยื่อจะทราบว่าตัวเองถูกหลอก !!
5.ไม่น่าเชื่อว่าโจรสามารถใช้จิตวิทยาในการทำให้เหยื่อรายหนึ่งหลงเชื่อและโอนสตางค์ให้มิจฉาชีพได้ถึง 83 ครั้ง!! รวมเป็นจำนวนเงิน 13 ล้านบาท
ผบก.ปอท.กล่าวปิดท้ายว่า ตัวเลขความเสียหายที่เห็นนี้ ถือเป็นเพียงสถิติจากผู้ที่เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ที่กองบังคับการปรามปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น มิได้นับรวมถึงเหยื่ออีกมากมายที่เข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานในท้องที่ และเหยื่อที่เกิดความอับอายจนไม่กล้าเข้าแจ้งความ ดังนั้นในโลกปัจจุบันที่มีอาชญากรคอมพิวเตอร์ผุดขึ้นมามากมายเช่นในปัจจุบันนี้ ตำรวจไซเบอร์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนจะมีสติพิจารณาให้ถี่ถ้วนในทุกครั้งที่ทำความรู้จักกับคนแปลกหน้าผ่านทางสังคมออนไลน์ เพราะในทุกวันนี้ วลีที่ว่า "รักแท้ไม่แพ้อะไร" อาจจะไม่ใช่คำที่ดีที่สุดอีกต่อไป และอาจต้องเปลี่ยนเป็นวลีที่ว่า "รักแท้เสี่ยงแพ้ทางโจร" เพื่อให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น
ฐิตินันท์ ปานดอนลาน 094-539-2469
อวตาร เวิร์ล มีเดียhttp://www.avatarworldmedia.com/