- Details
- Category: อาชญากรรม
- Published: Monday, 23 March 2015 09:22
- Hits: 3479
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8881 ข่าวสดรายวัน
ยื่นประกัน ทีมบึ้มโวยซ้อม ทนายแฉหลังปว. มีร้องถึง 13 เรื่อง
ทีมทนายยื่นประกันตัว ทีมบึ้มที่โวยอ้างถูกซ้อม นำหลักทรัพย์ 8 แสนยื่นต่อศาลทหาร เผยตั้งแต่รัฐประหารรับร้องเรียนปมทารุณแล้ว 13 เรื่อง แต่เป็นเรื่องยากลำบาก-เหตุเป็นคดีมั่นคง ด้านโฆษกคสช.ก็ย้ำไม่มีซ้อมผู้ต้องหา ชี้ฮึ่มฟ้องไม่ได้ข่มขู่ แต่หวังปกป้องสิทธิให้จนท. ขณะที่กสม.เตรียมรุดพบผู้ต้องหาคดีบึ้มศาล 25 มี.ค. ขอข้อมูลกรณีที่เกิดขึ้น พร้อมจ่อเรียกจนท.ให้ข้อมูล ผบ.ตร.ประสานล่าตัว "เอนก ซานฟราน-ใหญ่ พัทยา"
จากกรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ หลังรับเรื่องร้องเรียนจาก 4 ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา ประกอบด้วย นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรพัฒน์ เหลือผล และนายวิชัย อยู่สุข โดยอ้างว่าถูกซ้อมและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว พร้อมระบุองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ให้ความสนใจกรณีที่เกิดขึ้น โดยเตรียมส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ขณะที่นายกฯ และ คสช.ออกมายืนยันไม่มีการซ้อมหรือทารุณผู้ต้องหา วอนอย่าดึงยูเอ็นมาเกี่ยวข้อง พร้อมฮึ่มฟ้องผู้บิดเบือนปมทารุณ ตามที่เคยเสนอข่าวไปนั้น
สำหรับ ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่รัฐจะดำเนินคดีกับผู้ร้องเรียนในเรื่องนี้และอาจสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ต้องหาจนไม่กล้าดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น เป็นเพียงมุมมองส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มด้านลบในเชิงหวาดระแวงเกินไป ทั้งนี้ เชื่อว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดถ้าคิดว่าตนเองถูกกระทำหรือถูกละเมิด โดยมีข้อมูลยืนยันและมีข้อพิสูจน์ที่สมบูรณ์แล้วคงสามารถร้องได้ตามสิทธิในช่องทางที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนก็เป็นธรรมดาที่ผู้ร้องหรือผู้เกี่ยวข้องต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลออกไปก่อน ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน แล้วไปมีผลกระทบสร้างความเสียหายให้บุคคลหรือองค์กรที่ถูกพาดพิง อย่างไรก็ตามกองทัพยืนยันว่าไม่ใช่การข่มขู่ แต่เป็นการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องได้รับการปกป้องเช่นกัน
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า มีหลายองค์กรร้องเรียนมาที่กสม. ในกรณีที่ ผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมาน ดังนั้น ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ตนและคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะเดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร โดยจะเชิญเจ้าหน้าที่รัฐมาให้ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการใช้ความรุนแรงและซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายจริงหรือไม่ ดังนั้น ต้องไปตรวจสอบก่อน อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวถือเป็นคนละประเด็นกับคดีลอบปาระเบิดศาลอาญาที่เป็นไปตามกระบวนการของศาลและตำรวจ ถือเป็นคนละเรื่องกัน
ที่บช.ปส. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการเตรียมจับกุมผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญาว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังประสานติดตามตัวนายมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีร่วมกันก่อเหตุปาระเบิดอาร์จีดี 5 ใส่ศาลอาญา โดยตามขั้นตอนของสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อตำรวจสรุปสำนวนส่งให้อัยการ และทางอัยการมีคำสั่งฟ้องจะขอศาลอนุมัติออกหมายจับ จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังกองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ก่อนส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทำหนังสือไปยังประเทศที่สงสัยผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ โดยเบื้องต้นทราบว่านายเอนกยังคงหลบหนีอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่หากนายเอนกหลบหนีไปยังประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เจ้าหน้าที่ก็คงไม่สามารถดำเนินการได้
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวอีกว่า ส่วนนายวิระศักดิ์ โตวังจร หรือใหญ่ พัทยา ผู้ต้องหาอีกคนที่ยังหลบหนีนั้น เจ้าหน้าที่ได้ติดตามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตัวมา แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดว่าหลบซ่อนตัวอยู่ที่ใด ส่วนเครือข่ายของผู้ต้องหากลุ่มนี้จะมีมากกว่า 20 คน หรือจะขอออกหมายจับใครเพิ่มเติมหรือไม่นั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน รวมถึงคำให้การของผู้ต้องหา ถ้าหลักฐานพบมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงใครก็จะดำเนินการให้ถึงที่สุด เพราะพนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิ์ยกเว้นหรือไม่ดำเนินการกับคนใดคนหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมายตาม ป.อาญา มาตรา 157 หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนเรื่องการทำสำนวนพนักงานสอบสวนจะไม่เร่งรีบ เพราะสำนวนต้องมีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุด ไม่เช่นนั้นถ้าส่งไปถึงอัยการแล้วถูกตีกลับสำนวนให้ไปสอบสวนเพิ่มเติมยิ่งทำให้กระบวนการล่าช้ายิ่งขึ้น
วันเดียวกัน น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 มี.ค.ทนายจะเดินทางไปที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นขอประกันตัวนายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน คนขับรถแท็กซี่ และผู้ต้องหาคดีปาระเบิดใส่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งก่อนหน้านี้นายสรรเสริญได้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานด้วยการถูกกระทืบ และถูกใช้ไฟฟ้าชอร์ต เพื่อให้รับสารภาพ แต่นายสรรเสริญไม่รับสารภาพ โดยทนายจะยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 800,000 บาท ซึ่งถือเป็นการยื่นขอประตัวตัวครั้งแรก นับตั้งแต่นายสรรเสริญถูกฝากขังเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา
น.ส.ภาวิณี กล่าวถึงกรณีตำรวจและ คสช.ออกมาตอบโต้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ซ้อมทรมานผู้ต้องหาว่า เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 ศูนย์ทนายฯ รับเรื่องร้องเรียนการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ถึง 13 กรณี ซึ่งรวมถึง 3 ผู้ต้องหาคดีระเบิดที่ จ.ตราด ในช่วงม็อบ กปปส.ด้วย ศูนย์ทนายฯ พยายามหาหลักฐานหลังจากรับการร้องเรียน แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างเป็นคดีความมั่นคง เกรงจะเสียรูปคดีต่างๆ นานา ประเด็นอยู่ที่การใช้กฎอัยการศึกในการจับกุมและควบคุมตัวนั้นไม่มีความชอบธรรมแต่แรก ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่จะออกมายืนยันว่าไม่มีการซ้อมหรือไม่ เพราะกระบวนการยุติธรรมผิดหลักสากลแต่แรก ทำให้นักสิทธิมนุษยชนทำงานลำบาก ถูกขัดขวางในการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง กฎอัยการศึกไม่เอื้อให้หน่วยงานอิสระ หรือคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปพิสูจน์หลักฐานหลังจากได้รับการ ร้องเรียน
"การคุมตัวพลเรือนด้วยกฎอัยการศึกเอื้อให้เกิดการซ้อมทรมานมากกว่าใช้กฎหมายปกติ ซึ่งเคยมีกรณีแบบนี้มาแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปเพียงเพราะสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบโดยไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด สุดท้ายถูกซ้อมให้สารภาพจนเสียชีวิต โดยเฉพาะคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เมื่อปี 2551 ซึ่งศาลไต่สวนการตายว่าสาเหตุเกิดจากถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหักจนเสียชีวิต ซึ่งรัฐก็ยอมรับว่าได้กระทำจริงด้วย" น.ส.ภาวิณีกล่าว