- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Sunday, 16 July 2017 10:08
- Hits: 8822
บุญสร้าง ยันปฏิรูปตำรวจเปิดกว้างรับฟังความเห็นตลอด 9 เดือน เชื่อทันตามกรอบเวลา
พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เปิดเผยว่า การประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ค.เป็นการวางแนวทางการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยให้กรรมการแต่ละคนเลือกอยู่ในคณะอนุกรรมการฯ ได้คนละ 2 คณะตามความสมัครใจ และอาจจะมีบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย
นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลานานที่สุด โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นตลอดทั้ง 9 เดือนของการทำงาน หรือจนถึงประมาณเดือน เมษายน 2561 ซึ่งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบวิธีการรับฟังความคิดเห็น อาทิ การแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์หรือผ่านทางไปรษณีย์
โดยตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.จะเป็นการหาข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจ ความเป็นอยู่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจะนำผลการศึกษาที่คณะกรรมการหลายชุดเคยทำมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่สูญเปล่า
พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้กำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ เพียงแต่อยากให้การดำเนินการปฏิรูปตำรวจทันตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งการปฏิรูปมีบางเรื่องที่สามารถทำได้ทันที และบางเรื่องก็ต้องใช้เวลา ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคตการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจจะดีขึ้น
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) กล่าวว่า ในวันที่ 18 ก.ค. สปท.จะพิจารณารายงานการปฏิรูปของ กมธ.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องระบบงบประมาณตำรวจ โดย กมธ.ด้านกฎหมายฯ มีข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.เสนอให้ดำเนินการวิเคราะห์ทบทวนยุทธวิธีตำรวจ ระบบงานและการจัดกำลังใหม่ทั้งหมดกับทุกหน่วยงานตำรวจ 2.วิเคราะห์จำนวนกำลังพลที่ถูกต้องเหมาะสม 3.กำหนดเกณฑ์การวิเคราะห์ การใช้เครื่องมือ และการใช้งบประมาณให้เหมาะสมกับตำรวจในแต่ละหน่วยงาน และ 4.จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาให้ครบถ้วนตามคดีที่เกิดขึ้นจริง และปรับค่าตอบแทน เงินเดือนให้เหมาะสมกับความเหน็ดเหนื่อยและความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละหน่วยงาน
คกก.ปฏิรูปตำรวจ นัด 2 ให้สตช.ชี้แจงโครงสร้าง-ขั้นตอนแต่งตั้งโยกย้ายปัจจุบัน ก่อนวางกรอบการทำงาน
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการปฎิรูปตำรวจ กล่าวว่า ในการประชุมฯ นัดที่สองจะมีการหารือใน 2 วาระ คือ จะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชี้แจงเรื่องโครงสร้าง และขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 36 คนไม่ได้เป็นตำรวจทั้งหมด จึงไม่เข้าใจเรื่องโครงสร้างและขั้นตอนการแต่งตั้ง
ทั้งนี้ จะมีการหารือเพื่อวางกรอบการทำงานให้กับคณะอนุกรรมการทั้ง 5 ด้าน โดยยึดตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การแต่งตั้งโยกย้ายต้องยึดหลักอาวุโส รวมถึงข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่เขียนด้วยลายมือตัวเองจำนวน 13 หน้า ก่อนจะมอบการแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการไปเริ่มปฎิบัติงานเพื่อให้มีความสอดคล้อง โดยยืนยันจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วนเรื่องโครงสร้างตำรวจที่หลายฝ่ายเห็นว่า มีลักษณะคล้ายกับทหารนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่เหมือนกัน ซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้ แต่นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการกระจายอำนาจว่า อยากให้ตำรวจลองไปทำงานร่วมกับจังหวัด ซึ่งคงต้องรอที่ประชุมพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่
นายสมคิด ยอมรับว่า คนส่วนใหญ่จะไม่มั่นใจในตัวคณะกรรมการชุดนี้ว่าจะทำได้สำเร็จ เนื่องจากข้อเสนอก่อนหน้านี้ ทั้งจาก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ไม่เคยถูกนำมาปฎิบัติจริง แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการทุกคนมีความตั้งใจและเชื่อว่า การปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปฎิบัติด้วยว่าจะนำผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ไปดำเนินการหรือไม่
นอกจากนี้ จะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านอนุกรรมการรับฟังความเห็นที่จะลงไปทำงานทันที รวมถึงมีแนวคิดให้เปิดช่องทางรับฟังผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเปิดกว้างให้คนได้แสดงความคิดเห็น
อินโฟเควสท์