- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Saturday, 15 August 2015 22:14
- Hits: 14378
ผงาดผบ.ตร.คนที่ 11 จักรทิพย์ มติกตช.เอกฉันท์ 'สมยศ'ชี้เหมาะสมที่สุด กับสถานการณ์ปัจจุบัน บิ๊กแป๊ะขอรอโปรดเกล้า 'บิ๊กป้อม'ประชุมจัดโผ ตั้งผบ.เหล่าทัพเรียบร้อย
'บิ๊กแป๊ะ'จักรทิพย์ ชัยจินดา ผงาดผบ.ตร.คนที่ 11 ก.ต.ช.ลงมติเอกฉันท์เลือกตามที่ผบ.ตร.'สมยศ'เสนอชื่อ ทั้งนี้'บิ๊กตู่'มอบหมาย'บิ๊กป้อม'เป็นประธานการประชุมแทน 'บิ๊กอ๊อด'เผยเหตุเสนอชื่อ'บิ๊กแป๊ะ'เพราะคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้รองผบ.ตร.คนอื่นๆ จะมีความรู้ความสามารถแต่เมื่อมีตำแหน่งเดียวก็จำเป็นต้องเลือก ด้านผบ.ตร.คนใหม่ให้สัมภาษณ์แบบเขินอาย ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และยังไม่รู้อะไรเลยจริงๆ 'บิ๊กป้อม'ประชุมผบ.เหล่าทัพจัดโผนายพลทหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9026 ข่าวสดรายวัน
ว่าที่ผบ.ตร.- พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสนช. ที่อาคารรัฐสภา โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมก.ต.ช.มีมติแต่งตั้งให้เป็นผบ.ตร.คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ส.ค.ที่ห้องประชุมแหล่งสมาคมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ร.1 พัน. 4 รอ. ถ.วิภาวดีรังสิต มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานก.ต.ช. มอบหมายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เป็นประธานการประชุมแทน โดยมี ก.ต.ช.เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผอ.สำนักงบประมาณ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กรรมการและเลขานุการก.ต.ช. ใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ช.ม.ครึ่ง
วาระสำคัญของการประชุม ได้แก่ 1.วาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ต.ช. 2.วาระปรับลดตำแหน่งนายเวร (สบ 6) เทียบเท่าผู้บังคับการ ทำหน้าที่นายเวรประจำตัวผบ.ตร. ให้เป็นนายเวร (สบ 5) เทียบรองผบก.จำนวน 1 ตำแหน่ง 3.วาระการปรับปรุง แก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนการบริหารกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวน คดีอาญา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา 4.วาระกำหนดตำแหน่งผู้บังคับการประจำให้ข้าราชการตำรวจ ในสังกัดสำนักงานตรวจสอบภายใน เพิ่มเติม 1 ตำแหน่ง ให้แก่ พ.ต.อ.หญิง วารุณี เชาวนะกวี รองผบก.ตส.1 5.วาระการกำหนดตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เพื่อเยียวยาพล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. และ 6.วาระการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผบ.ตร.คนที่ 11
ต่อมาพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมก.ต.ช. ว่า วันนี้ที่ประชุมก.ต.ช.มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร.(มค.) ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 โดยมติที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันไม่มีใครแสดงความคิดเห็นใดๆ ซึ่งเป็นไปตามที่ตนเสนอต่อที่ประชุม อย่างไรก็ตามพล.อ.ประวิตรทำหน้าที่ประธานก.ต.ช. แทนนายกฯซึ่งติดภารกิจ มีองค์ประชุมครบถ้วน 6 ท่าน การหารือ วันนี้มีหลายเรื่อง แต่เรื่องสำคัญก็คือเรื่อง มีมติแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มติเอกฉันท์ดังกล่าวคือ 5 หรือ 6 เสียง พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ก.ต.ช.ลงคะแนนเสียง 5 ท่าน พล.อ.ประวิตร งดออกเสียง เพราะเป็นประธานที่ประชุม ส่วนรายชื่อพล.ต.อ.จักรทิพย์นั้น ตนเป็นคนเสนอ ตามระเบียบคือผบ.ตร.คนปัจจุบันจะเป็นผู้เสนอรายชื่อรองผบ.ตร.ให้คณะกรรมการก.ต.ช. เป็นผู้พิจารณา ตนเป็นผู้เสนอชื่อ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ให้คณะกรรมการก.ต.ช. พิจารณา
เมื่อถามว่า เหตุผลในการเสนอชื่อพล.ต.อ. จักรทิพย์ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และที่สำคัญ พล.ต.อ. จักรทิพย์สามารถทำงานสนองนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสนองนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี คือเหตุผลที่ตนได้นำเสนอ
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์มีความโดดเด่นกว่ารองผบ.ตร.คนอื่นอย่างไร พล.ต.อ. สมยศกล่าวว่า "ในส่วนตัวผมเท่าที่ทำงานร่วมกันมา 1 ปี ถ้าในภาวการณ์เช่นปัจจุบันหรือในอนาคต เชื่อว่าพล.ต.อ.จักรทิพย์เป็น ผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารองผบ.ตร.คนอื่นไม่มีความสามารถ ทุกคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ตำแหน่งมีเพียง 1 เดียว ก็จำเป็นต้องเสนอท่านที่คิดว่าและผมเห็นว่าเหมาะสมที่สุด และคณะกรรมการก.ต.ช. เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุด"
ต่อข้อถามว่า คุณสมบัติใดของพล.ต.อ. จักรทิพย์ที่มองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ทุกๆ เรื่อง เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสืบสวนสอบสวน หรือการควบคุมดูแลกำลังพลในด้านต่างๆ ตลอดจนตำแหน่งที่ผ่านมาในอดีตก็ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญทั้งสิ้น เช่น ผบก.191 ผบช.น. ซึ่งพล.ต.อ.จักรทิพย์ กลับไปเป็นถึง 2 รอบ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร. หรือรองผบ.ตร. ก็ได้รับผิดชอบงานสำคัญ ทางด้านความมั่นคงก็ดี หรือแม้แต่คดีสำคัญต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้คลี่คลาย ก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์แสดงวิสัยทัศน์ว่าอย่างไร พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ก็อย่างที่บอก พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้อย่างครอบคลุม ประกอบกับผลการทำงานในอดีตที่ผ่านมา ตนได้ทำงานร่วมกับพล.ต.อ. จักรทิพย์ และกับทุกคน ขอยืนยันอีกครั้งว่าทุกคนมีความรู้ความสามารถเหมาะสม แต่ว่ามีตำแหน่งเดียว และตนคิดว่าพล.ต.อ.จักรทิพย์ เหมาะสมที่สุด เมื่อถามว่าประเด็นเรื่องความอาวุโส ผบ.ตร.ได้พิจารณาและมีการซักถามในก.ต.ช.หรือไม่ พล.ต.อ. สมยศกล่าวว่า ไม่มีการนำขึ้นมาพิจารณาเรื่องอาวุโส พิจารณาเรื่องความเหมาะสมเป็นหลัก
ต่อข้อถามว่า เสนอชื่อพล.ต.อ.จักรทิพย์ตรงใจกับนายกฯด้วยหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ก็อย่างที่ตนบอกว่าตามใจท่านทุกอย่าง และได้หารือกับนายกฯ รวมถึงนำเรื่องหลายๆ อย่างของทุกท่านที่ได้เขียนวิสัยทัศน์มา กราบเรียนให้นายกฯทราบว่าคนนั้นมีจุดแข็งจุดอ่อนจุดดีจุดด้อยตรงไหน คนไหนเหมาะสมกับภาวการณ์หรือสถานการณ์ และคนไหนมีศักยภาพด้านไหน ทุกคนมีความรู้ความสามารถ แต่จุดแข็งจุดอ่อนอาจต่างกัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่นายกฯได้พิจารณา แต่ไม่ได้สั่ง ให้ดำเนินการว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้แต่ ได้ให้คำแนะนำ เมื่อตนนำชื่อเสนอต่อ คณะกรรมการก.ต.ช. และก.ต.ช. มีความเห็นว่าเหมาะสมก็พิจารณา
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์จะอยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า "ใครจะไปรู้ ไม่รู้หรอก" เมื่อถามต่อว่าการแต่งตั้งระดับรองผบ.ตร.และผบก.ลงมาจะแต่งตั้งเลยหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า คงดำเนินการต่อเนื่อง เป็นกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการแต่งตั้งระดับนายพลให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนต.ค.
เมื่อถามว่า ต้องให้พล.ต.อ.จักรทิพย์ร่วมจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า คงต้องคุยกัน ต้องให้เกียรติพล.ต.อ.จักรทิพย์ด้วย เพราะเป็นผู้ที่ จะต้องดูตัวบุคคลวางตัวคน เนื่องจากพล.ต.อ. จักรทิพย์เป็นคนทำงานต่อจากนี้ไป เมื่อ ถามว่าผบ.ตร.ได้แสดงความยินดีกับพล.ต.อ. จักรทิพย์หรือยัง ผบ.ตร.กล่าวว่า เจอกันที่สภาไม่ได้พูดคุยอะไรกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์เดินเข้ามายกมือไหว้และบอกว่าขอบคุณ
เมื่อถามว่า ผบ.ตร.จะมอบงานอะไรให้พล.ต.อ.จักรทิพย์สานต่อ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เจอกันที่สภาได้บอกกับพล.ต.อ.จักรทิพย์ว่าให้ตั้งใจทำงานให้ดี เพราะว่าเป็นความหวัง และอยากให้ทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างให้ พี่น้องประชาชนพึงพอใจ และที่สำคัญฝากดูแลเพื่อนข้าราชการตำรวจด้วย มีสิ่งที่ตน ยังทำไม่ทันหรือพล.ต.อ.จักรทิพย์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีก็ช่วยนำไปดำเนินการต่อด้วย
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับรองผบ.ตร.คนอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ผบ.ตร.กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันเลย พอประชุมเสร็จตนรีบไปสภาเพื่อประชุมสนช. เมื่อถามว่าพล.อ.ประวิตร มีความคิดเห็นอย่างไรกับการเสนอชื่อพล.ต.อ. จักรทิพย์ ผบ.ตร.กล่าวว่า ท่านเป็นประธาน ก็ฟังเฉยๆ และท่านถามความเห็นในที่ประชุม ว่ามีใครมีความคิดเห็นอย่างไรหรือไม่ เห็นด้วยกับผบ.ตร.เสนอหรือไม่ ใครมีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีใครจะเสนอและแสดงความคิดเห็นก็ขอมติในที่ประชุม โดยแสดงความเห็นลงมติด้วยการยกมือ เป็นการลงมติโดยเปิดเผย ไม่มีขั้นตอนอะไรมาก
ต่อข้อถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็นคนอาวุโสน้อย ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำจะมีปัญหาเรื่องของการบังคับบัญชากับอาวุโสรุ่นพี่หรือรุ่นน้องหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ไม่มี เพราะว่าทุกคนที่ก้าวมาถึงจุดนี้ก็ผ่านการเป็น ผู้บังคับบัญชารุ่นพี่มาแล้วทั้งนั้น เพราะว่าการเป็นผู้บัญชาการหรือผ่านหน่วยงานต่างๆ มา เคยปกครองบังคับบัญชารุ่นพี่มาแล้วทั้งนั้นทุกคน ตนเองก็เคยผ่านการปกครองและบังคับบัญชารุ่นพี่มาเช่นกัน อยู่ที่ว่าใครจะมีวิธีการมีศิลปะในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ที่เป็นรุ่นพี่ หรือแม้แต่รุ่นน้องก็แล้วแต่ตรงนี้ ตนเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์เรียนรู้สิ่งต่างๆ มาทั้งชีวิตจนมาถึงจุดสูงสุด เรื่องการปกครองบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้องคงไม่ใช่ปัญหา
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่มีการหารือในที่ประชุม ก.ต.ช.วันนี้ คือเรื่องกำหนดตำแหน่งตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเพื่อเยียวยาพล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. โดยที่ประชุมแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายและเป็นอิสระ โดยพิจารณาเห็นว่าขณะนี้ยังมีประเด็นหรือสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการ เช่น การทำหนังสือถามศาลปกครองเรื่องข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ยังไม่ครบถ้วน จึงมีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำเรื่องกลับมาดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมก.ต.ช.เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังก.ต.ช.มีมติแต่งตั้งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร. เป็นผบ.ตร.คนที่ 11 พล.ต.อ.จักรทิพย์ในฐานะสมาชิกสนช.ได้เข้าร่วมประชุมสนช. เพื่อลงมติถอดถอน 248 ส.ส. กรณีร่วมเสนอญัตติและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ผู้สื่อข่าวจำนวนมากพยายามสอบถามพล.ต.อ.จักรทิพย์ถึงมติก.ต.ช.ที่แต่งตั้งให้เป็นผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์พยายามเดินเลี่ยงโดยกล่าวเพียงสั้นๆ ด้วยท่าทีเขินอายว่า "ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และผมก็ยังไม่ทราบอะไรเลย ยืนยันว่าไม่รู้เรื่องนี้จริงๆ"
สำหรับ ประวัติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนใหม่ เกิดวันที่ 19 ต.ค. 2502 อายุ 55 ย่าง 56 ปี จบการศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย, โรงเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.รุ่น 36), ปริญญาโทบริหารรัฐกิจ สหรัฐอเมริกา (KUS) เริ่มรับราชการพ.ศ.2526 รองสวส.สภ.อ.เมืองบุรีรัมย์, พ.ศ.2528 รองสวป.สภ.อ.เมืองบุรีรัมย์, พ.ศ.2529 รองสว.ผ.นผ.กก.อก.บก.ภ.4, พ.ศ.2531 รองสว.ผ.2 กก.สส.น.เหนือ, พ.ศ.2532 นว.ผบก.อต.สกพ., พ.ศ.2534 สว.นผ.อต.สกพ., พ.ศ.2534 สว.ผ.2 กก.1 บก.ป, พ.ศ.2535 สว.ผ.สายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ บก.สปพ.(191), พ.ศ.2537 สว.ผ.ตรวจพิสูจน์ กก.สข.บก.สปพ., พ.ศ.2538 รอง ผกก.1 บก.ป., พ.ศ.2538 รอง ผกก.2 บก.ป.
พ.ศ.2539 นว.อ.ตร., พ.ศ.2540 ผกก.วช.(ทนท.นิติกร) กองวิชาการ, พ.ศ.2541 ผกก.อก.งป.สนผ., พ.ศ.2542 ผกก.อก.ส่วนตรวจราชการ 3 จต., พ.ศ.2543 รองผบก.ภ.จ. สมุทรสงคราม, พ.ศ.2545 รองผบก.รน., พ.ศ.2547 รองผบก.ป.
พ.ศ.2548 ผบก.ตม.ทอช., พ.ศ.2550 ผบก.ตปพ., พ.ศ.2551 รองผบช.น., พ.ศ.2552 รรท.ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร., พ.ศ.2553 ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร., พ.ศ.2553 ผบช.น., พ.ศ.2554 ผบช.ภาค 9, พ.ศ.2555 ผู้ช่วยผบ.ตร., พ.ศ.2557 ผู้ช่วยผบ.ตร. รรท.ผบช.น. ได้ขึ้นเป็นรองผบ.ตร.เมื่อต.ค.2557
วันเดียวกันเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยมีพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. และพล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. เข้าร่วมประชุม ใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.
พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลวันนี้ เรียบร้อยดีและไม่มีปัญหาอะไร เมื่อประชุมเสร็จออกมาทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสดี ส่วนรายชื่อในส่วนของกองทัพไทยเป็นไปตามกระเเสข่าวหรือไม่ตนไม่รู้ข่าวออกมา ได้อย่างไร มันไม่ค่อยถูก ขอให้รอรายชื่อแบบเป็นทางการออกมาก่อน ทุกอย่างเรียบร้อยดี
ขณะที่พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ เพราะตามความเป็นจริงไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากทหารมีระเบียบว่าในช่วงระหว่างการปรับย้ายนายทหารถือว่ายังเป็นความลับ เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลใดๆ จะสามารถชี้แจงเหตุผล รายละเอียดต่างๆ ได้ก็ต่อเมื่อหลังมีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วเท่านั้น ถ้ามีใครเปิดเผยข้อมูลก่อนถือว่ามีความผิด ดังนั้นคณะกรรมการทุกคนจะพูดเรื่องนี้ไม่ได้ แต่อยากขอให้ทุกคนเชื่อมั่นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่เป็นคณะกรรมการจะพิจารณาอย่างดีและรอบคอบ ประกอบกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้
เมื่อถามว่า การประชุมวันนี้ได้ข้อยุติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.คนที่ 39 หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า 'ผมยังขอไม่พูด'
เอกฉันท์'จักรทิพย์'ผบ.ตร. ตรงใจบิ๊กตู่'ป้อม'ถกกตช. 10 นาทีฉลุย'อ๊อด'ชี้ครบเครื่อง-เหมาะ บอร์ดกห.หารือนอกรอบ จัดโผ'บิ๊กติ๊ก'นั่ง"ผบ.ทบ.'วลิต'ขึ้นรองฯ-'โชย'เสธ. 'ธีรชัย'เป็นปลัดกลาโหม
มติชนออนไลน์ : มติ ก.ต.ช.5:0 ไฟเขียว'จักรทิพย์'นั่ง ผบ.ตร.ด้วยเวลาแค่ 10 นาที 'บิ๊กตู่'อ้างติดภารกิจ เปิดทาง'บิ๊กป้อม'หัวโต๊ะแทน สะพัดเปิดทางให้ดันคนไว้วางใจเต็มที่ 'สมยศ'ปลื้มชู'บิ๊กแป๊ะ'มีความสามารถทุกเรื่องทุกด้าน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 สิงหาคม ที่ห้องประชุมแหล่งสมาคมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน. 4 รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ครั้งที่ 1/2558 โดยทำหน้าที่แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธาน ก.ต.ช. ติดราชการสำคัญ มี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม นายพิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก.ต.ช.โดยตำแหน่ง และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะกรรมการ ก.ต.ช.และเลขานุการ ก.ต.ช. ร่วมประชุม
โดยมีวาระสำคัญในการประชุมคือ 1.วาระแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ต.ช. 2.วาระปรับลดตำแหน่งนายเวร (สบ 6) เทียบเท่าผู้บังคับการ (ผบก.) ทำหน้าที่นายเวรประจำตัว ผบ.ตร. ให้เป็นนายเวร (สบ 5) เทียบรอง ผบก. จำนวน 1 ตำแหน่ง 3.วาระการปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนการบริหารกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา 4.วาระกำหนดตำแหน่งผู้บังคับการประจำให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตรวจสอบภายใน (ตส.) เพิ่มเติม 1 ตำแหน่ง ให้แก่ พ.ต.อ.หญิง วารุณี เชาวนะกวี รอง ผบก.ตส.1 5.วาระการกำหนดตำแหน่ง ผบช.ประจำและผู้ช่วย ผบ.ตร. เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เยียวยาให้กับ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ 6.มีวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่แทน พล.ต.อ.สมยศ ที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการเปิดตำแหน่งให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ทาง ก.ต.ช.มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไปทบทวนและให้รอผลการหารือผลคดีกับศาลปกครองกลาง ว่าคดี พล.ต.ท.ศรีวราห์มีผลสิ้นสุดแล้วหรือไม่ จากนั้น ก.ต.ช.พิจารณาวาระแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนเข้าวาระได้เชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม เหลือเฉพาะ ก.ต.ช. 6 คน จากนั้น พล.ต.อ.สมยศเสนอชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคง ให้ พล.อ.ประวิตรเสนอ ก.ต.ช.เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุม ซึ่งมีมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็น ผบ.ตร.คนที่ 11 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 เสียง ด้วยเวลาเพียง 10 นาที
รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรเป็นประธานการประชุมอย่างกะทันหัน มีเสียงวิจารณ์ว่าต้องการเปิดทางให้มีการเสนอชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ซึ่งเป็นนายตำรวจที่ พล.อ.ประวิตรไว้วางใจและให้การสนับสนุนขึ้นเป็น ผบ.ตร. ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ถือเป็น ผบ.ตร.ที่อายุน้อยที่สุด อายุเพียง 55 ปี จะเกษียณอายุราชการในปี 2563
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีสื่อมวลชนจำนวนมากมาติดตามทำข่าวการแต่งตั้ง ผบ.ตร. แต่การประชุม ก.ต.ช.จัดขึ้นที่ ร.1 พัน. 4 รอ. จึงไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปติดตามทำข่าว ขณะที่บรรยากาศในสำนักงานตำรวจแห่งชาติค่อนข้างเงียบเหงา ทั้งสำนักงานของ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นแคนดิเดต ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคาร 1 ตร. และสำนักงานของ พล.ต.อ.จักรทิพย์อยู่ที่ชั้น 5
อาคาร 19 ชั้น โดยช่วงเช้า พล.ต.อ.เอกไม่ได้เข้าสำนักงาน ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์เข้ามาเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเวลา 06.00 น. ซึ่งทั้ง พล.ต.อ.เอก และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต่างก็ร่วมประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภา
ต่อมาเวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังจากที่ ก.ต.ช.มีมติแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็น ผบ.ตร.คนที่ 11 นั้น ในช่วงเช้า พล.ต.อ.จักรทิพย์เข้าร่วมประชุม สนช. และหลังเสร็จสิ้นกระบวนการลงคะแนนถอดถอน 248 ส.ส.ออกจากตำแหน่ง กรณีร่วมเสนอญัตติและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์เดินทางออกจากรัฐสภา ปรากฏว่าพบสื่อมวลชนซึ่งดักรอจะสัมภาษณ์ ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้สอบถามถึงมติ ก.ต.ช.แล้วเดินกลับเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา แล้วเดินเลี่ยงขึ้นไปบนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามไว้สำหรับสมาชิกเท่านั้น โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามประเด็นดังกล่าว ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่ายังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยังไม่ทราบอะไรเลย
ด้าน พล.ต.อ.สมยศให้สัมภาษณ์หลังประชุม ก.ต.ช.ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม มติที่ประชุมเอกฉันท์ 5 เสียง ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นใดๆ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจ ไม่ได้ร่วมประชุม แต่องค์ประชุมครบถ้วน 6 คน โดย พล.อ.ประวิตร รองประธาน ก.ต.ช. ทำหน้าที่ประธาน งดออกเสียง ก.ต.ช.ลงคะแนนเสียง 5 คน
"พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่สำคัญสามารถทำงานสนองนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี นี่คือเหตุผลที่ผมได้นำเสนอ ส่วนตัวเท่าที่ทำงานร่วมกันมา 1 ปี ถ้าในภาวการณ์เช่นปัจจุบันหรือในอนาคต ผมเชื่อว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารอง ผบ.ตร.คนอื่นไม่มีความสามารถ ทุกคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ตำแหน่งมีเพียงหนึ่งเดียว จำเป็นจะต้องเสนอคนที่ผมเห็นว่าเหมาะสมที่สุด และ ก.ต.ช.เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุด พล.ต.อ.จักรทิพย์เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้ในทุกๆ เรื่องและทุกด้าน และในอดีตก็ดำรงตำแหน่งสำคัญโดยเฉพาะ ผบช.น. ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์กลับไปเป็น ผบช.น.ถึง 2 รอบ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยและรอง ผบ.ตร. ได้รับผิดชอบงานสำคัญด้านความมั่นคงและคดีสำคัญต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายให้ไปคลี่คลาย ก็สามารถทำได้ดี" พล.ต.อ.สมยศกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นอาวุโสได้พิจารณาและถามถึงใน ก.ต.ช.หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ไม่มีการนำเรื่องอาวุโสมาพิจารณา แต่พิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นหลัก เมื่อถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์คือคนที่ตรงใจกับนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า อย่างที่ตนบอกว่าตามใจนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง และได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว
"รวมถึงได้นำเรื่องหลายๆ อย่างของทุกคนที่ได้เขียนวิสัยทัศน์ส่งมากราบเรียนให้นายกฯทราบว่าคนนั้นมีจุดแข็งจุดอ่อน จุดดีจุดด้อยตรงไหน คนไหนเหมาะสมกับภาวการณ์หรือสถานการณ์ และคนไหนมีศักยภาพด้านไหน แต่จุดแข็งจุดอ่อนอาจจะต่างกัน ตรงนี้เป็นเรื่องที่นายกฯได้พิจารณา แต่ไม่ได้สั่งว่าต้องดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ได้ให้คำแนะนำ" ผบ.ตร.กล่าว และว่า ตนบอกไม่ได้ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์จะอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.กระทั่งเกษียณอายุราชการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งระดับรอง ผบ.ตร.จนถึงผู้บังคับการ คงดำเนินการต่อเนื่องตามที่กฎหมายที่กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการแต่งตั้งระดับนายพลให้เสร็จสิ้นก่อนเดือนตุลาคม โดยต้องคุยกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ด้วย เพราะเป็นผู้ที่จะต้องดูตัวบุคคล วางตัวคน เนื่องจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็นคนทำงานต่อจากนี้
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า หลังประชุม ก.ต.ช.ได้พบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ที่รัฐสภา ไม่ได้คุยอะไรกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์เดินเข้ามายกมือไหว้และบอกว่าขอบคุณ ตนบอกไปว่าให้ตั้งใจทำงานให้ดีนะ เพราะว่าเป็นความหวัง ที่สำคัญฝากดูแลเพื่อนข้าราชการตำรวจด้วย
เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรมีความคิดเห็นอย่างไรกับการเสนอชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผบ.ตร.กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรฟังเฉยๆ และก็ถามความเห็นในที่ประชุมว่ามีใครมีความคิดเห็นอย่างไรไหม ถ้าไม่มีใครจะเสนอและแสดงความคิดเห็น ก็ขอมติในที่ประชุมด้วยการยกมือ เป็นการลงมติโดยเปิดเผย ก็ไม่มีขั้นตอนอะไรมาก เมื่อถามว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์อาวุโสน้อย เมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำจะมีปัญหาในเรื่องของการบังคับบัญชากับอาวุโสรุ่นพี่รุ่นน้องหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ไม่มี เพราะว่าทุกคนที่ก้าวมาถึงจุดนี้ก็ผ่านการเป็นผู้บังคับบัญชารุ่นพี่มาแล้วทั้งนั้น
พล.ต.อ.สมยศกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ก.ต.ช.ได้หารือเรื่องการกำหนดตำแหน่งตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเพื่อเยียวยาให้กับ พล.ต.ท.ศรีวราห์ โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย และยังมีประเด็นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการคือการทำหนังสือไปถามยังศาลปกครองเรื่องข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ยังไม่ครบถ้วน จึงมีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำเรื่องกลับมาดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ก.ต.ช. เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป
พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ทราบว่าได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. แต่ยังไม่ขอพูดอะไร ไว้ค่อยพูดในวันที่ 17 สิงหาคม และจะไปขอบคุณผู้ใหญ่
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลอย่างไม่เป็นทางการ โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงภายในห้องทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง
พล.อ.วรพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ในส่วนของกองทัพไทยว่า จากการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพล ที่กระทรวงกลาโหมในวันนี้มีความเรียบร้อยดีและไม่มีปัญหาอะไร เมื่อประชุมเสร็จออกมาทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี ส่วนรายชื่อในส่วนของกองทัพไทยเป็นไปตามกระเเสข่าวหรือไม่นั้น พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า "ไม่รู้ข่าวออกมาได้อย่างไร ไม่ค่อยถูก ขอให้รอรายชื่อแบบเป็นทางการออกมาก่อน เรียบร้อยดี"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ 5 เสือ ทบ. ชื่อของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) รองเสนาธิการทหาร จะข้ามห้วยกลับมาเป็นรอง ผบ.ทบ. ขณะที่ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (ตท.17) เป็น ผช.ผบ.ทบ. พล.ท.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ตท.16) ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) เป็น ผช.ผบ.ทบ. พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ (ตท.16) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น เสธ.ทบ. ส่วน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) ผช.ผบ.ทบ. จะขยับไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
นายวันชัย สอนศิริ สปช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผลถึงการตั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์เป็น ผบ.ตร. แต่โดยหลักแล้วการขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.ในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นสมัย พล.ต.อ.สมยศ หรือจะเป็นยุค พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องเรียกว่าเป็น ผบ.ตร.ยุคปฏิรูป หากขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.แล้วไม่ทำการปฏิรูปในวงการตำรวจ ปล่อยให้เหมือนยุค ผบ.ตร.คนที่ผ่านๆ มา จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์จึงไม่จำเป็นต้องรอให้มีการปรับเปลี่ยน หรือออกกฎหมายปฏิรูปตำรวจ แต่สามารถแก้ไขได้เลยด้วยตัว ผบ.ตร.เอง
"ผมจึงอยากเรียกร้องให้ ผบ.ตร.คนใหม่ต้องทำให้เห็นเลย การมาเป็น ผบ.ตร.ในยุคปฏิรูป จะต้องปฏิบัติตัวให้ต่างจาก ผบ.ตร.คนอื่นๆ ต้องแสดงให้เห็นว่าเหนือกว่า ผบ.ตร.คนอื่นๆ หากทำไม่ได้ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ เลย พล.ต.อ.จักรทิพย์ต้องประกาศจุดยืน และแสดงออกในเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และทำให้เห็นผลงานใน 6 เดือน ต้องให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการตำรวจ" นายวันชัยกล่าว