- Details
- Category: กรมตำรวจ
- Published: Saturday, 08 August 2015 17:06
- Hits: 8089
เดินหน้าปฏิรูปตำรวจ ห้ามการเมืองครอบงำ-ตั้ง ผบ.ตร. เน้น ยึดอาวุโส สปช.ดันปฏิรูปตำรวจ ตัดอำนาจก.ต.ช.ให้ก.ตร.เป็นฝ่ายตั้งผบ.ตร. วางหลักโยกย้ายต้องยึดอาวุโสเป็นหลัก
8 ส.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดประชุมสปช.ในวันที่ 11 ส.ค.เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่ 6 เรื่อง การจัดทำแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปตำรวจ สปช. ที่มีนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิกสปช.เป็นประธาน โดยในข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปมีรายละเอียดดังนี้
1.ปัญหาการแทรกแซงในกิจการตำรวจ จนทำให้เกิดผลกระทบในการบริหารงานภายในองค์กร ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขาดความเป็นอิสระ อยู่ในความครอบงำของฝ่ายการเมือง ขาดจุดยืนในการทำงาน องค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกครอบงำ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในทุกระดับ เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง จึงต้องมีแนวทางการปฏิรูปดังนี้
1.1 ปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรววจ (ก.ตร.) องค์ประกอบของก.ตร.ควรมีจำนวน 16 คน ประกอบด้วย 1.ประธานก.ตร. ให้คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศพล.ต.อ.) โดยการลงคะแนนเลือกจากข้าราชกการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศพ.ต.อ.ขึ้นไป) 2.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 3.จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรอเทียบเท่า(ยศพล.ต.อ.) จำนวน 6 คน โดยการลงคะแนนเลือกจากข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศพ.ต.อ.ขึ้นไป) 3.อดีตข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศพล.ต.ท.ขึ้นไป) จำนวน 3 คน โดยการลงคะแนนเลือกจากข้าราชการตำรวจระดับผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศพ.ต.อ.ขึ้นไป) 4.ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกได้แก่ ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 1คน ผู้แทนจากวุฒิสภา 1 คน ผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น โดยให้กรรมกการก.ตร.สรรหาจำนวน 2 คนเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของก.ตร.จะเห็นได้ว่าการบริหารงานบุคคลภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอนาคตจะไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองมีการถ่วงดุลกันที่เหมาะสม
1.2 การปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) หากพิจารณาบทบาทของก.ต.ช.ตามที่กำหนดให้พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557แล้ว จะเห็นได้ว่าก.ต.ช.เป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบายการบริหารราชการกิจการตำรวจ และแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่าฝ่ายการเมืองใช้องค์กรนี้เพียงประโยชน์ในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น
การทำให้ผู้นำองค์กรตำรวจไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจำเป็นต้องแก้ไขอำนาจหน้าที่ของก.ต.ช.โดยกำหนดให้การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นอำนาจของคณะกรรมการก.ตร.ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังนั้น เพื่อสร้างให้ก.ต.ช.เป็นองค์กรในการกำหนดนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงจึงควรกำหนดองค์ประกอบก.ต.ช.ดังนี้ให้ก.ต.ช.มีจำนวน11 คน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2.รองนายกฯที่นายกฯมอบหมาย เป็นรองประธาน 3.ปลัดกระทรวงกลาโหม 4.ปลัดกระทรวงมหาดไทย 5.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 6.อัยการสูงสุด 7.ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 8.ผู้แทนจากสภาทนายความ 9.ผู้แทนจากวุฒิสภา 10.ผู้แทนจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชน และ 11.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
1.3 ปฏิรูปการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรให้คณะกรรมการก.ตร.แต่เพียงองค์กรเดียวเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือเทียบเท่า (ยศพล.ต.อ.) จำนวน 3 คน แล้วให้ข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศพ.ต.อ.ขึ้นไป) ลงคะแนนเลือกเหลือจำนวน 1 คน เพื่อเสนอก.ตร.พิจารณานำเสนอนายกฯเพื่อนำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป
ผลที่คาดว่า จะได้รับจากการแต่งตั้งในลักษณะรูปแบบเช่นนี้ จะทำให้ผู้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องสั่งสมผลงานมาเป็นระยะยาวพอสมควร ต้องประพฤติปฏิบัติตัวดีมาแต่ต้น ไม่เพียงแต่วิ่งเต้นรับใช้ฝ่ายการเมืองเพียงอย่างเดียว การแต่งตั้งจะทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีเสถียรภาพมั่นคงในการดำรงตำแหน่งพอสมควร
2.การวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้พิจารณาโดยยึดความอาวุโสประกอบความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานในระดับตำแหน่งของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการการที่จะพิจารณาแต่งตั้งโดยข้ามอาวุโสจะต้องมีเหตุผลจำเป็นตามข้อมูล ข้อเท็จจริง เฉพาะเรื่องเฉพาะรายที่มีน้ำหนักเหนือกว่าลำดับอาวุโสเท่านั้น โดยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเพิ่มหรือลดลำดับอาวุโสขณะดำรงตำแหน่งนั้นๆ อันเป็นการลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้าย
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการวางแนวทางการแต่งตั้งจะทำให้ข้าราชการตำรวจมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่มองเห็นเส้นทางการเจริญเติบโตในหน้าที่ ลดการทุจริตคอรัปชั่นเพื่อนำเงินมาวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง หรือเอื้อประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลต่างๆเพื่อหวังผลในการเลื่อนตำแหน่งจากอิทธิพลภายนอก
3.การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงไปดำเนินการเพื่อแบ่งเบาภาระของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนาที่ได้อย่างเต็มความสามารถสมควรให้มีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่หน่วยงานอื่นที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงไปดำเนินการ เพื่อลดภาระการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังต่อไปนี้
(1) ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการบังคับใช้กฎหมายในงานจราจรไปให้กทม. เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม
(2) ถ่ายโอนกิจการด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ
(3)ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในงานท่องเที่ยวไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการ
(4)ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและการบริการจัดการจราจรในพื้นที่ทางหลวงไปให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ
(5)ถ่ายโอนกิจการด้านการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในงานรถไฟไปให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ
(6)ถ่ายโอนกิจการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและรักษาความสงบในเขตน่านน้ำไทย(ตำรวจน้ำ) ไปให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ
(7) ถ่ายโอนกิจการด้านการตรวจคนเข้าเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการ