- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Monday, 24 October 2016 12:18
- Hits: 5038
14 กันยายน 2559 – กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท และศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา จัดโครงการ “ลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้” ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2559 จำหน่ายลองกองอร่อย คุณภาพดีจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบข้อดีของการบริโภคลองกอง ที่เป็นผลไม้ที่อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตลองกองของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตไปยังห้างค้าปลีกในเครือข่ายภาคีความร่วมมือ โดยผนึกกำลังร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ชั้นนำของประเทศไทย รวมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการบริโภคลองกอง สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถอุดหนุนผลผลิตลองกองของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จากร้านค้าปลีกค้าส่งชั้นนำทั่วประเทศ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เปิดเผยว่า “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายมิติ ความยากจนเป็นหนึ่งในมิติสำคัญ ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย มีฐานะยากจน ประสบปัญหาขายผลผลิตไม่ได้ราคา สำหรับผลผลิตของเกษตรกรชาวใต้ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดได้แก่ ลองกอง ซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ชุมพร ยะลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และปัตตานี รัฐบาลมีความห่วงใยและตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดยใช้กลไกประชารัฐและแนวทางการมีวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าไปดูแลสร้างความยั่งยืน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 12 คณะภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐที่มุ่งเน้นการบูรณาการ
ทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน มาทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือชุมชน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง กล่าวคือ การเข้ามาช่วยเหลือดูแลครบทั้ง 5 กระบวนการตามหลักการทำงานของคณะทำงานฯ ได้แก่ 1. การเข้าถึงปัจจัยการผลิต จัดหาแหล่งน้ำ แหล่งเงินทุน รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ 2. การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก การดูแลพันธุ์ 3. การตลาด ได้เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยการจับมือกับโมเดิร์นเทรดชั้นนำของประเทศไทย 4. การสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน ด้วยการทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงฤดูผลผลิตของลองกอง ซึ่งจะมีมากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ของทุกปี รวมทั้งร่วมรณรงค์ให้ตลอดเดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการบริโภคลองกอง 5. การบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของการขนส่ง การทำบรรจุภัณฑ์ การดูแลเก็บรักษาผลผลิตไม่ให้เน่าเสีย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ประสานกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานตามแนวพระราชดำริ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท แสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาระบบการผลิตและการตลาดผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่องโครงการ“ลองกอง ผลไม้ดีชายแดนใต้” จากจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จากการสานพลังประชารัฐทั้ง 5 ภาคส่วนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือความมั่นคง ความสงบสุข และการกินดี อยู่ดีของประชาชน โดยโครงการนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกลองกองจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้สมัครใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 6,000 ราย ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรนำร่องกลุ่มแรกซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำไปสู่การทำเกษตรรูปแบบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือทำการเกษตรแบบประณีต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดีสามารถขายได้ตามกลไกตลาด โดยประชาชนที่สนใจสามารถอุดหนุนผลผลิตลองกองของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จากร้านค้าปลีกค้าส่งชั้นนำทั่วประเทศไทย”
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) เปิดเผยว่า “โครงการ “ลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และจากพลังประชารัฐเพื่อเป้าหมายสำคัญคือความมั่นคง ความสงบสุข และการกินดี อยู่ดีของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการพัฒนาระบบตลาดที่ไม่กระทบกลไกตลาดเดิม แต่จะช่วยหนุนเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกลองกองสามารถกระจายผลผลิตได้ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ประสานความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ในการเข้ามารับซื้อผลผลิตลองกองจากเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมส่งเสริมให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการบริโภคลองกองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประชาชนที่สนใจสามารถอุดหนุนผลผลิตลองกองของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จากร้านค้าปลีกค้าส่งชั้นนำทั่วประเทศ”
ในการดำเนินโครงการลองกองผลไม้ดีชายแดนใต้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ รวมถึงองค์กร บริษัท และหน่วยงานต่าง ๆ ในการเป็นช่องทางการจำหน่ายลองกองจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 3,244 ตัน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์รับไปทั้งสิ้น 1,000 ตันซึ่งจะนำไปจำหน่ายผ่านห้างแมคโคร จำนวน 750 ตัน และร้าน 7 อีเลฟเว่น จำนวน 250 ตัน เทสโก้โลตัส รับไปทั้งสิ้น 915 ตัน ท๊อปส์ในเครือเซ็นทรัลรับไป 450 ตัน บิ๊กซีซึ่งเป็นของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจรับไป 215 ตัน กูร์เมต์ มาร์เก็ต ในเครือเดอะมอลล์รับไป 50 ตัน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมจำหน่ายลองกองผลไม้ชายแดนใต้อีก ได้แก่ ไทยเบฟเวอเรจ รับไป 100 ตัน สภาเกษตรกรฯ 200 ตัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 100 ตัน มูลนิธิปิดทองหลังพระ 75 ตัน ไปรษณีย์ไทย 40 ตัน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 30 ตัน มหาวิทยาลัยบูรพา 20 ตัน และนายมีชัย วีระไวทยะ 3 ตัน
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว หัวหน้าคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า “การพัฒนาผลผลิตและการตลาดผลไม้โดยเฉพาะลองกองตามนโยบายประชารัฐในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการอย่างครบวงจรด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นทาง คือ ส่งเสริมให้เกิดทำการเกษตรแบบประณีต เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตลองกองให้เป็นเกรด A และ B กลางทาง คือ ศูนย์คัดแยก และพ่อค้าคนกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจุดรวบรวมและคัดแยกผลผลิตลองกอง จนถึงปลายทาง คือ ผู้บริโภค โดยการหาช่องทางการขายเพื่อกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่และส่งเสริมอาชีพ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนสอดคล้องกับเจตนารมย์ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกลองกองเข้าร่วมโครงการ 5,960 รายจากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 71,891 รายซึ่งคิดเป็น 8% ของจำนวนเกษตรกร คิดเป็นผลผลิตทั้งสิ้น 3,244 ตัน หรือประมาณ13% ของปริมาณผลผลิตลองกองทั้งหมดในจังหวัดชายแดนได้ โดยจังหวัดปัตตานีมีเกษตรกรเข้าร่วม 1,730 ราย ผลผลิต 693.24 ตัน จังหวัดยะลา 981 ราย ผลผลิต 551.70 ตัน และจังหวัดนราธิวาส 3,249 ราย ผลผลิต 1,998.79 ตัน”