- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Sunday, 25 June 2023 19:31
- Hits: 1216
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยสร้างรายได้ท้องถิ่น หรือช่วยใคร?
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกนำมาใช้แทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ในปี พ.ศ. 2562 และเริ่มจัดเก็บจริงในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลคาดหวังให้ภาษีที่ดินฯ ดังกล่าว เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดวิธีประเมินภาษีท้องถิ่นที่โปร่งใสและเป็นธรรม และช่วยให้ อปท. สามารถพึ่งพาตนเองทางการคลังได้มากขึ้น
แต่เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่ารายได้ของกรุงเทพมหานครลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่กลางเมืองเสียภาษีลดลง จากเดิมจ่ายภาษีโรงเรือนฯ 10 ล้านบาทต่อปี แต่กลับเสียภาษีเท่ากับ 1 ล้านบาท อาคารสำนักงานขนาดใหญ่เคยเสียภาษีโรงเรือนฯ 11 ล้านบาท กลับเสียภาษีลดลงเหลือ 3 ล้านบาท เป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจ่ายภาษีอีกด้วย โดยเฉพาะกิจการรายเล็กๆ กลับต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยด่วน ความจริงเป็นอย่างไร? มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุนหรือยืนยันถึงปัญหาต่างๆ เหล่านี้หรือไม่?
กรุงเทพมหานคร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมจัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ชำแหละกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น” ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวต้อนรับและให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรุงเทพมหานคร จากนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่สนับสนุนโดยหน่วย บพท. และ สกสว. ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านท้องถิ่น หน่วย บพท. ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และผู้แทนจากสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร และสรุปบทเรียนพร้อมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต โดย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานสถาบันธัชภูมิ
เดิมทีนั้นในปี พ.ศ. 2562 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ มีรายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่เท่ากับ 36,527.36 ล้านบาท แต่ในปี 2565 ซึ่งผ่านช่วงเวลาของสถานการณ์โควิด 19 แล้ว การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท. ทั่วประเทศเท่ากับ 35,439.04 ล้านบาท หรือลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 3.0 และในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น เดิมจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ได้ 15,227.58 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2562 แต่ในปี พ.ศ. 2565 จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จำนวน 13,057.94 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 14.2 ข้อมูลนี้สะท้อนนัยว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงของ อปท. ในเขตเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นอย่างมาก
ผลการศึกษาวิจัยที่นำเสนอโดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายท้องถิ่น หน่วย บพท. และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้รายได้ของท้องถิ่นลดลง เป็นเพราะการกำหนดคำนิยามสิ่งปลูกสร้างที่แคบลงกว่าเดิม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่เคยเสียภาษีท้องถิ่น ได้รับการยกเว้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรมการผลิต การยกเว้นภาษีให้กับกิจการหลายประเภท ที่ควรต้องจ่ายภาษีจากการประกอบธุรกิจห้องเช่า/หอพัก หรือกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยอนุญาติให้ปรับเปลี่ยนแบบชั่วคราวไปทำการเกษตร และเสียภาษีลดลง และการที่กฎหมายกำหนดวิธีประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางบริหารจัดเก็บภาษีที่ยุ่งยาก ทำให้ อปท. มีข้อจำกัดในการบริหารจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วนในกำหนดเวลา
กรุงเทพมหานคร และหน่วย บพท. จึงขอนำเสนอข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการจัดเก็บรายได้ของ อปท. ให้แก่รัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยอุดช่องว่างที่ทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะ (1) การทบทวนคำนิยามสิ่งปลูกสร้างให้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดิมที่เคยจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ สาธารณูปโภคต่างๆ (2) ยกเลิกการอนุญาตให้นำที่ดินรกร้างมาปรับเปลี่ยนเป็นการเกษตรแบบเฉพาะกิจ (3) ยกเลิกการอนุญาตให้หอพักหรือกิจการห้องเช่า/บ้านเช่าจ่ายภาษีในอัตราของที่อยู่อาศัย และ (4) ทบทวนการประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ และการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการกระจายภาระภาษีอย่างเป็นธรรม และไม่ส่งผลทำให้รายได้ของ อปท. ลดลงอย่างไม่สมควร
A6813