- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Friday, 29 April 2022 22:04
- Hits: 2263
มหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ‘Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา’ เน้นย้ำขับเคลื่อนสนองแนวพระดำริ ‘โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้เกิดความยั่งยืน
ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) การอบรมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดอุบลราชธานี จุดที่ 1
โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสะคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อาจารย์มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พ.ศ. 2564 ดร. ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย คุณศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เรียร์เตอร์ คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและนักออกแบบแบรนด์ Wisharawish (Workshop) ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมในพิธี
ในโอกาสแรก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีกับอาจารย์มีชัย แต้สุจริยา ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และพี่น้องผู้ประกอบการทอผ้าทุกคน ที่ได้ร่วมกันมุ่งมั่น ทุ่มเท สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้ดำรงไว้ในแผ่นดิน และใช้ภูมิปัญญาผ้าไทยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 คือพี่น้องเกษตรกร ให้ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต ใช้ความสามารถ ใช้ภูมิปัญญาเพื่อเพิ่มพูนรายได้ อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทำให้สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ อันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หลากหลายและทรงคุณค่า ไม่ให้สูญหายมลายไป
“เป็นโชคดีของพวกเราชาวไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเท ชุบชีวิตผ้าไทย และงานหัตถศิลป์หัตถกรรมต่างๆ ที่เป็นของไทยเราให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และได้รับการต่อยอดขยายผลโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวที และทรงแบ่งพระราชภาระของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความดีงาม
ด้วยการทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสด็จไปทรงศึกษาต่อในเรื่องแฟชั่น เรื่องผ้า และทรงค้นคว้าความงดงามและเทคนิคในเรื่องผ้าไทย ที่บรรพบุรุษไทยเราตกทอดมาให้อยู่ตลอดเวลา ประยุกต์กับแฟชั่นสมัยใหม่ ด้วยพระปรีชาเป็นอย่างมาก ก็เพราะทรงมุ่งมาดปรารถนาอยากเห็นพี่น้องคนไทยมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพ มีรายได้ เพื่อนำไปส่งลูกหลานเรียนหนังสือ สร้างบ้านเรือนให้แข็งแรง มีเงินทองไว้รักษาตัวยามเจ็บไข้ได้ป่วย และที่สำคัญไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร สามารถหาเลี้ยงตนเอง เพิ่มพูนรายได้ให้ตนเองได้ ซึ่งในวันนี้ พวกเราทุกคนมีเสาหลัก คือ ทั้งสองพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ และมีองค์ความรู้ มีบรมครู คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย มาช่วยถ่ายทอดส่งเสริมให้พี่น้องผู้ประกอบการผ้าไทยจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีโอกาสนำมาเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผ้าให้ดียิ่งขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงแรก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำพระดำริและคำแนะนำที่ได้พระราชทานในการเสด็จทรงงานด้านผ้าไทยในโอกาสต่าง ๆ มาเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไทย ทั้งมิติต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาพระทัยใส่เรื่องความยั่งยืนทั้งต่อชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ของเรา โดยสิ่งที่จะทรงตรัสอยู่เสมอ คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ในการผลิตผ้าที่เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่ม ให้กับครอบครัว ด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ผลิตวัตถุดิบในการทำผ้าด้วยตนเอง อันสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยากเห็นคนไทยได้ยึดถือน้อมนำเอาหลักคิดหลักปฏิบัติ
เพื่อลดรายจ่ายและเป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มของประเทศที่จะเป็นแนวคิดที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ถึงรุ่นเหลนของพวกเราทุกคน นอกจากนี้ สิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานเพื่อความยั่งยืนอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ช่วยกันปลูกต้นไม้ใบหญ้าที่ให้สีธรรมชาติเอาไว้ใช้เพิ่มมากขึ้น โดยพระราชทานพระดำริในการรวบรวมสูตรการผสมสีผ้า ซึ่งเป็นพระปรีชาในการส่งเสริมการลดโลกร้อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ธรรมชาติ ตามแนวคิดนานาประเทศ ที่มีคำกล่าวว่า ‘No Plan B because Only One Planet : เรามีแผนเดียว คือ แผน A ไม่มีแผน 2 ด้วยการช่วยกันไม่ทำให้โลกของเราเจ็บป่วยจากการใช้ชีวิตและการทำมาหากินของพวกเรา’ ซึ่งถือเป็นส่วน ‘ต้นน้ำ’
สำหรับ ในส่วนกลางน้ำได้พระราชทานแนวทางในการเลือกใช้วัตถุดิบ การดูแลเครื่องไม้เครื่องมือ กี่ทอผ้า ที่จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไม่วิจิตรสวยงาม ทั้งทรงทุ่มเทในเรื่องการคาดการณ์แนวโน้มแฟชั่นโลก ด้วยการรวบรวมเฉดสี จัดพิมพ์เป็นหนังสือ Textbook โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อันเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ให้พี่น้องผู้ทอผ้าได้รู้จักการเลือกใช้สีลวดลาย ที่ประยุกต์ลวดลายเก่าที่ทรงคุณค่าของบรรพบุรุษ มาต่อยอดดัดแปลง เพิ่มเติม ปรับปรุง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
โดยพระมหากรุณาที่เห็นเป็นรูปธรรมจนเป็นที่นิยมชมชอบของคนไทยในปัจจุบัน นั่นคือ การพระราชทานแบบลายผ้า ‘ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ ที่ทำให้เกิดการสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ประกอบการทอผ้าในทุกถิ่นที่ชนบทห่างไกล รวมถึง 'ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา' ที่เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระปณิธานอันแน่วแน่ว่าทรงมีพระหทัยที่ผูกพัน ทรงรักพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ ด้วยการมุ่งมั่นสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
และสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก่อเกิดเป็นแนวทางขับเคลื่อน ‘ปลายน้ำ’ ผ่านการพระราชทานโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ให้กับคนไทย ซึ่งมีความสำคัญในการส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัย สวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส ทุกเทศกาล
โดยทรงดึงนักออกแบบชื่อดังที่มีความสามารถด้านการออกแบบผ้าไทย มาร่วมสนองงานพระดำริ ด้วยการแนะนำเทรนสมัยใหม่ให้กับผู้ประกอบการผ้าได้พัฒนาฝีไม้ลายมือทักษะ ออกแบบ ตัดเย็บให้มีความร่วมสมัย หลากหลาย ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่จะส่งผลต่อการผลิตที่สอดรับกับความต้องการ ซึ่งหากพวกเราออกแบบผ้าเป็นที่ต้องการของตลาดของคนสวมใส่ สิ่งที่นอกเหนือจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจของผู้ทอผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากพระดำริของพระองค์ที่ได้พระราชทานให้กับช่างทอผ้าอย่างครบวงจรด้วยการ ‘ทำโดยผู้รู้จริง ยึดเป็นอาชีพที่ประสบความสำเร็จจริง แล้วจะเกิดสิ่งที่ดีเกิดขึ้น’