- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Sunday, 06 March 2022 12:51
- Hits: 2588
ปลัดมหาดไทย ประชุมร่วมทีม Change for Good มหาดไทย ฟอร์มทีมคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อการพัฒนาประเทศชาติ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน ให้เกิดความยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือการขับเคลื่อนของคณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ และคณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 51 คน เข้าร่วมการประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทย เป็นการรวมบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีความเสียสละ และความตั้งใจในการขับเคลื่อนภารกิจ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคมไทย เป็นผู้ที่มีทัศนคติ หรือ Attitude เชิงสร้างสรรค์ ในการที่จะทำความดี เพื่อชาติบ้านเมือง มีกำลังใจรุกรบ ห้าวหาญ กล้าคิด กล้าแสดงออก และกล้าที่จะลงมือทำสิ่งที่ดีออกไปในนามของกระทรวงมหาดไทย
รวมถึงกรม รัฐวิสาหกิจในสังกัด และภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายหลัก 2 ประการ คือ 1) รวมกลุ่มเพื่อริเริ่มนำเสนอสิ่งดีๆ ที่อยากทำให้ผู้บังคับบัญชาทำตามให้ได้ และ 2) มุ่งมั่นที่จะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปปฏิบัติ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับและทุกพื้นที่ โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย นครนายก อุบลราชธานี จันทบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า การที่จะริเริ่มทำสิ่งใด จะต้องเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองก่อน เช่น ในวิถีชีวิตของเราทุกคน จะต้องรู้จักการพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล มีการใช้จ่ายตามฐานานุรูป ไม่ใช่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ก็จะทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หากเราจะเป็นต้นแบบให้คนอื่น ตัวของเราเองจะต้องทำด้วย เช่น เราจะสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จะเชิญชวนพี่น้องประชาชนปลูกผักสวนครัว แต่เราไม่เคยทำ อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าต้นแบบที่ดี หรือถ้าเราอยากให้สิ่งแวดล้อมดี เราก็ต้องเคยคัดแยกขยะเสียก่อน หรือแม้แต่สิ่งที่ทำได้ง่าย เริ่มต้นได้ในทุกเช้า เช่น การใช้น้ำและไฟฟ้าอย่างประหยัดด้วยการไม่เปิดน้ำหรือไฟฟ้าทิ้งไว้ เพียงเท่านี้ก็เป็นการช่วยประหยัดพลังงานและลดโลกร้อนแล้ว
“หลักการพัฒนาจะต้องเริ่มจากการพัฒนาตัวเองก่อน โดยกระบวนการฝึกอบรมจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเสริมสร้างให้กระบวนการพัฒนาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในแง่พฤติกรรม องค์ความรู้ และจิตใจที่กล้าแสดงออก กล้าทำในสิ่งที่ดี”นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) ซึ่งได้มีการประชุมซักซ้อมแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 (ภาคเหนือ) ที่จังหวัดเชียงใหม่ และรุ่นที่ 2 (ภาคใต้) ที่จังหวัดสงขลา
และกำลังจะจัดรุ่นที่ 3 (ภาคกลาง รวมจังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี) ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 มี.ค. 65 และรุ่นที่ 4 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 11 มี.ค. 65 โดยมีจุดเน้น คือ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาแบบพุ่งเป้าตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีที่คณะทำงาน Change for Good ของกระทรวงมหาดไทยจะมีส่วนร่วม ทั้งการสังเกตการณ์ การศึกษาเรียนรู้ และขยายผลทั้งภายในองค์กรและภาพรวมของกระทรวงมหาดไทย ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมขึ้นอย่างยั่งยืน
“นิยามของความยากจน หมายถึง ความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ประชาชนประสบอยู่แล้วไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ทั้งที่อยู่ใน TPMAP และที่สำรวจพบโดยทีมงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้ทีมพี่เลี้ยงที่แต่งตั้งจากทุกภาคส่วนช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งในระยะสั้น เป็นการแก้ไขให้หายเดือดร้อนเฉพาะหน้า เช่น ไม่มีบ้านอยู่ ก็ช่วยกันสร้างบ้านให้อยู่ เปรียบเหมือนยาฝรั่ง ส่วนยาไทยอย่างยั่งยืน ต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่วิถีชีวิตของทุกคน”นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ทั้งในการที่จะเสาะแสวงหาความรู้ การช่วยเหลือขยายผลการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งภายในกรม/รัฐวิสาหกิจ และภาพรวมของกระทรวงมหาดไทย ด้วยการลงพื้นที่ศึกษาหาประสบการณ์จากสถานที่จริง ทั้งเชียงราย นครนายก อุบลราชธานี จันทบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช อันจะส่งผลต่อการพัฒนาในระดับประเทศ จึงขอฝากให้ทีมงาน Change for Good ทุกคน มีจิตใจที่เข้มแข็ง รุกรบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ เป็นคนของพระราชา เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ นำเสนอสิ่งที่ดีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้ทำตามสิ่งที่เราคิด อันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมไทยอย่างมหาศาลและยั่งยืน
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า ในขณะนี้ การขับเคลื่อนงาน ศจพ. ในระดับพื้นที่ จะทำให้ได้เห็นภาพในการแก้ไขปัญหารายครัวเรือน ซึ่งอยู่ระหว่างการ Re X-Ray ข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลครัวเรือนเป้าหมายสำหรับแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างพุ่งเป้าได้ตรงจุด เรากำลังเสนอโครงการใหญ่ด้านสัมมาชีพ ซึ่งจะสามารถสนับสนุนงานในพื้นที่ได้ทันที โดยคณะทำงาน Change for Good ต้องไปสังเกตการณ์ ไปร่วมเรียนรู้ ดูว่าในพื้นที่มีโครงการอะไรที่ยังขาด เราจะต้องช่วยเสนอโครงการเพื่อร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่และต่อยอดในด้านอื่นๆ
และที่สำคัญจะเชื่อมโยงพื้นที่โดยนำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ โครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ‘โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง’ ให้พัฒนาไปสอดคล้องต่อเนื่องกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทาง ศจพ. ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนในการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพุ่งเป้าแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก
โดยจะมีคณะทำงานสารสนเทศ มาช่วยสนับสนุนระบบฐานข้อมูล เพื่อติดตาม หนุนเสริม การขับเคลื่อนฯ ส่วนการติดตามประเมินผลจะเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งการขับเคลื่อนงาน ศจพ. ไม่ได้ทำแค่ครัวเรือนที่ยากจนเท่านั้น แต่จะทำทั้งในพื้นที่ที่เกิดความเดือดร้อนจากสาธารณภัย เช่น ดินโคลนถล่ม แล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซาก อีกด้วย โดยจะได้มีการวางแผนป้องกัน เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้จริง
ด้าน รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นภารกิจที่สำคัญที่จะส่งผลถึงการพัฒนาในระยะยาว อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นกระทรวงหลักในการบริหารจัดการและบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับฝ่ายเลขานุการ ศจพ. คือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และประมวลสู่ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP โดยกรมการปกครอง ได้พัฒนาระบบ ThaiQM เพื่อใช้ในการสำรวจครัวเรือนเป้าหมายที่มีเพิ่มเติมจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งสำรวจข้อมูลครัวเรือนตกหล่น เพื่อแก้ปัญหาใน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งส่วนราชการในพื้นที่จะได้บูรณาการสำรวจและแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำในการบูรณาการ
ซึ่งทุกอย่างคือเรื่องที่ต้องบูรณาการในภาพรวม มองให้เข้าใจ ใช้พลังของคนรุ่นใหม่ จากทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ และส่วนกลาง ร่วมกันวางแผนงาน จัดการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำกลับมาเสนอสู่ผู้บังคับบัญชา ในสิ่งที่ควรจะร่วมกันขับเคลื่อน และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในภารกิจหลัก และภารกิจพิเศษ เพื่อการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างความมั่นคงภายในให้แก่ประชาชน และประเทศชาติ ในวาระ 130 ปีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจากนี้ไป จะมีทีมพลังคนรุ่นใหม่ สานต่อการทำงาน สร้างเสริมประสิทธิภาพ และร่วมพัฒนางานเพื่อยกระดับการบูรณาการในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น Change for Good ภายใต้วิสัยทัศน์ ของกระทรวงมหาดไทย ที่ว่า “ประชาชนมีรากฐานการดํารงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
กองสารนิเทศ สป.มท.