- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Sunday, 30 January 2022 21:11
- Hits: 3293
องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ 'การสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทย' ปลุกพลังชาวราชสีห์ ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน อย่างยั่งยืน
ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘การสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทย’ ในการประชุมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริของกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) และผ่านระบบ DOPA Channel โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมรับฟัง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาทิ รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย กล่าวว่า ปัจจัยหลักในการสร้างลักษณะเฉพาะของคนในชาติ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน โดยนักปกครองหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องมีความเข้าใจ ‘ภูมิสังคม’ ต้องคำนึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นๆ รวมถึงลักษณะการใช้ชีวิต รูปแบบการดำรงชีวิต ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมในแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อให้การขับเคลื่อนงาน หรือการพัฒนาใดๆ ในชุมชน ในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปโดยสำเร็จและเกิดความยั่งยืน ซึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับความเป็นไทยนั้น
ราชการจะคำนึงถึงแต่เพียงความต้องการหรือเป้าหมาย หรือผลลัพธ์ของทางราชการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับฟังความคิดเห็น รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และเข้าใจประชาชน เมื่อราชการและประชาชนต่างเข้าใจเข้าถึงกันและกันในลักษณะ Two-Way Communication แล้ว จึงจะสามารถร่วมกันพัฒนา ดังศาสตร์พระราชาที่ว่า ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ ได้ ดังเช่น ในภาคธุรกิจเอกชนจะมุ่งเน้นหลัก Customer First หรือลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและพัฒนาองค์กรสอดรับความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่ประทับใจ แต่ราชการมักจะมีวิธีคิดว่า ราชการต้องมาก่อน ประชาชนเป็นลำดับถัดมา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงเพื่อสอดรับกับทิศทางการพัฒนาที่เข้ากับบริบทวิถีชีวิตของประชาชนและภูมิสังคมของเมืองหรือพื้นที่นั้นๆ ทำให้ภาคราชการสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างตรงจุดตามความต้องการของประชาชน และได้สะท้อน ‘จิตวิญญาณของความเป็นไทย’ ผ่านโครงสร้างสังคม มี 3 ระดับ คือ
- ระดับครอบครัว (เรือน/เฮือน) และตระกูล เพราะความกตัญญูรู้คุณและการตอบแทนบุญคุณท่าน ซึ่งภาษาไทยมีชุดคำเรียกความสัมพันธ์ของครอบครัวที่แตกต่างหลากหลายกว่าชาติอื่น พ่อ-แม่ พี่-น้อง ลูก-หลาน ลุง-ป้า น้า-อา ปู่-ย่า ตา-ยาย ความสัมพันธ์ตรงนี้แน่นมาก รวมถึงความเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน สายเลือดเข้มกว่าสายน้ำ คุณธรรมเป็นตัวหล่อหลอมให้เกิดความมั่นคง และความมั่นคงเป็นปัจจัยทำให้เกิดความยั่งยืนยืนยาว ‘เราต้องช่วยกันทำให้ระบบครอบครัวอบอุ่น สิ่งที่ดีงามของครอบครัวกลับขึ้นมาอีกเหมือนสมัยก่อน’ เพราะเมื่อครอบครัวอบอุ่น จะส่งผลให้สภาพสังคมเข้มแข็ง
- ระดับชุมชน คือ ความมีน้ำใจต่อกันและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต้องออกแบบบริหารชุมชนให้ทุกคนมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และ 3) ระดับเมือง สิ่งที่จะทำให้เมืองมีความมั่นคง คือ ความสามัคคีของคนในเมือง”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ได้กล่าวถึง คำว่า 'ความยั่งยืน' คือ การที่คนในยุคปัจจุบันใช้ทรัพยากรเพื่อความกินดีอยู่ดีของตนเองแล้วเหลือเผื่อแผ่ทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานได้อยู่ดีกินดีด้วย ไม่ใช่ทำลายทรัพยากรหมดตั้งแต่ยุคนี้ ด้วยการนำหลักคิดและแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน 3 ประการ มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ 1) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้คนไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ประการที่ 2) SDG 17 ข้อ ที่สหประชาชาติกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในช่วง ค.ศ. 2016-2031 และ 3) ESG 3 ปัจจัยหลักเพื่อความยั่งยืน คือ
ปัจจัยสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) ปัจจัยด้านคนและสังคม (Social factors) และปัจจัยด้านธรรมาภิบาล (Governance factors) โดยขอให้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ รวมถึงพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่ อาทิ “ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทย เป็นสมบัติมีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่เราได้สืบต่อจากบรรพบุรุษ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราดำรงประเทศชาติและเอกราชสืบมาได้
ทุกคนจะต้องรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคง’ และ ‘การพัฒนานี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจทั้งสองอย่าง คือจิตใจที่หวงแหนที่ดินทำกินของเรา หวงแหนพื้นแผ่นดินของเรา และจิตใจที่จะต้องช่วยเหลือกัน เพราะทุกคนเป็นสมาชิกของประเทศคือชาวไทยทุกคน...’ มาใช้ในการพัฒนาในระดับพื้นที่ ข้าราชการทุกคนต้อง ‘ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง แม้ว่าการสร้างคนดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่’ ทำให้ประชาชนเป็น ‘พึ่งตนเองได้’ ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
- พึ่งตนเองด้านจิตใจ คือ มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและส่วนรวม 2. พึ่งตนเองด้านสังคม คือ ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และ 3. พึ่งตนเองด้านเศรษฐกิจ คือ ต้องมุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยึดหลักพอ พออยู่ พอกิน พอใช้ สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับพื้นฐาน
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ยังได้กล่าวถึง 'หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง' หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) ซึ่งเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ในช่วงท้าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาจังหวัด ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแก่คณะองคมนตรี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 “การศึกษาต้องมุ่งสร้างอุปนิสัยพื้นฐานที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน 4 ด้าน คือ
1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ครอบครัว ชุมชน สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา ความเป็นไทย – วัฒนธรรมไทย 2) มีอุปนิสัยพื้นฐานที่มั่นคง – มีคุณธรรม รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด – ที่ชอบ / ที่ถูก – ที่ผิด ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ – ที่ถูกต้องดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิด – สิ่งที่ชั่ว ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง 3) ทำงานเป็น – มีอาชีพสุจริต พ่อแม่ฝึกฝนอบรมลูกให้รักงาน – สู้งาน ครูอาจารย์ฝึกฝนอบรมลูกศิษย์ให้ทำงานเป็นหมู่คณะ ผู้บังคับบัญชาฝึกฝนอบรมลูกน้องให้มีทักษะความรู้ใหม่ๆ สร้างค่านิยมให้มุ่งสู่อาชีพสุจริต และ 4) เป็นพลเมืองดี “เห็นอะไรจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ – ก็ต้องทำ” ครอบครัว – สถานศึกษา – สถานประกอบการต้องกำหนดนโยบายและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างพลเมืองดี ‘เราทำความดีด้วยหัวใจ’
มีน้ำใจตัวอย่างกิจกรรมอาสาสมัคร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศล
รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องบูรณาการความรู้ด้านเทคโนโลยี สังคม ประวัติศาสตร์ เพื่อเราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดเริ่มต้นจากความเป็นจริง ค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง ค้นหาความจริงจากในพื้นที่การพัฒนาด้านชลประทาน โดยที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อม วุฒิสภา ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนเกิดผลเป็นรูปธรรม คือ 1) ฝายแกนซอยซีเมนต์ ซึ่งสามารถจัดการปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรในแต่ละครัวเรือน แต่ละชุมชน แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัด มีศักยภาพในการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และ 2) การทำบ่อบาดาลน้ำตื้นและใช้โซลาเซลล์ในการดึงน้ำ ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตพืชผลการเกษตรจากการทำเกษตรอินทรีย์จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ทุกวัน
จากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมนำเสนอแนวทางเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่ ในหัวข้อ เช่น (1) การแก้ไขปัญหาความยากจน (2) การสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก (3) โคก หนอง นา โมเดล (4) การพัฒนาที่ดิน (5) โครงการปิดทองหลังพระ ฯ (6) การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้น
สุดท้าย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์ความรู้ที่ได้รับจากท่านองคมนตรี รวมถึงท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกภาคส่วน ที่มีประสบการณ์ตรงในการขับเคลื่อนงานการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริ ถือเป็นการจุดประกายและแรงผลักดันให้กับชาวกระทรวงมหาดไทย ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และท่านนายอำเภอทั้ง 878 แห่ง ในการน้อมนำแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการพื้นที่ เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ตามปณิธานของคนมหาดไทยที่ว่า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้มีความสุขอย่างยั่งยืน
กองสารนิเทศ สป.มท. Click Donate Support Web