- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Wednesday, 15 December 2021 11:37
- Hits: 2654
กรมการพัฒนาชุมชน จัดงานโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19 นำผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ศิลปินพื้นบ้านโชว์ในงาน 18 - 26 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวจัดงานโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19 นำผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ศิลปินพื้นบ้านโชว์ในงาน 18 - 26 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมแถลงข่าวการจัดงานโอทอปไทยสู้ภัยโควิด-19 ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น ศิลปินพื้นบ้าน เศรษฐกิจไทยพ้นภัยโควิด โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมงาน
ณ ห้อง The Mitr-ting Room ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ในการส่งเสริมอาชีพและช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้อย่างกว้างขวาง ส่งเสริมศูนย์ศิลปาชีพ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า แนวพระราชดำริของพระองค์ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ได้กลายเป็นต้นแบบเพื่อการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น ก่อให้เกิดโครงการส่งเสริมอาชีพของหน่วยงานต่างๆ มากมาย
โดยเฉพาะโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ขยายผลมาจากการส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อสร้างรายได้ให้กลุ่มอาชีพที่เป็นสมาชิกผู้ผลิตผู้ประกอบการOTOP ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีนโยบายในการลดความเหลี่อมล้ำทางสังคม โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพมีงานทำและสร้างรายได้ โดยการสนับสนุนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ สนับสนุนให้ชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่แหล่งเงินทุน รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้า จากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
โดยมุ่งหวังให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายในการที่จะพัฒนาผลิตภัณข์ OTOP ให้มีคุณภาพ และมีตลาดจำหน่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์และจัดหาช่องทางการตลาคเพื่อสร้างโอกาสทางการผลิต และการตลาดให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ
ด้านนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนและการบูรณาการทำงานร่วมกันผ่านคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ) ซึ่งเป็นกลไกการทำงานสำคัญในการบริหาร และการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกันลงไปถึงในระดับพื้นที่ และมีหน่วยงานต่างๆ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การจัดงานในครั้งนี้เป็นการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 1-2 ดาว ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาโดยหน่วยงานภาคี (กอ.นตผ.) โดยแต่ละผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านการคัดเลือก และคัดสรรจากหน่วยงานภาคีที่เข้าร่วมการจัดงาน จึงทำให้งานนี้มีความน่าสนใจ และเป็นงานใหญ่ส่งท้ายปี ซึ่งภายในงานจะพบกับกิจกรรมต่างๆ
ดังนี้
- โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- โซนนิทรรศการกิจกรรมของหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิษย์
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย กระทรงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กระทรงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด
- โซนแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP กว่า 2,000 บูธ
- โซนจำหน่ายสินค้า OTOP "สินค้าราคาถูก"
- โซนโอทอปชวนชิม
- โซน OTOP Trader ประเทศไทย และ OTOP Trader จังหวัด : เป็นการจัดแสดงผลงานการจัดหาช่องทาง
การตลาดสินค้า OTOP ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
และโซนไฮไลน์ภายในงานที่ไม่อยากให้ทุกท่านพลาด ได้แก่
-โซนชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีและผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี โดยจะเป็นการจัดแสดงความสำเร็จของชุมชนนวัตวิถีและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี 20 หมู่บ้าน
- โซน ศิลปิน OTOP จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากศิลปิน OTOP ที่อนุรักษ์ และสืบทอดไว้ซึ่งภูมิปัญญาของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น ถ่ายทอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่า
- โซนผ้าถิ่นไทย ที่จัดแสดงผ้าที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด แต่มีดีไซส์ที่ทันสมัยเหมาะกับทุกรุ่น ทุกวัย
- โซนของขวัญของฝาก สำหรับท่านที่กำลังมองหาของขวัญ ของฝากให้กับคนที่รัก อย่าลืมแวะมาโซนนี้ เนื่องจากมีกระเป๋าผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เลือกซื้อมากกว่า 1,000 รูปแบบ
และกิจกรรมส่งเสริมการขายภายในงานอีกมากมาย อาทิ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องที่มีชื่อเสียง การจับสลากรางวัลชิงโชค เพียงท่านซื้อสินค้าครบ 1,000 บาท จะได้รับคูปองชิงโชค 1 ใบ เพื่อร่วมลุ้น Gift Voucher วันละ 20 รางวัล โดยมีมูลค่ารางวัลละ 4,000 บาท และในวันสุดท้ายของการจัดงานจะได้ร่วมลุ้นรับทองคำ จำนวน 29 รางวัล มูลค่ากว่า 800,000 บาท
โดยการจัดงานในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (กอ.นตผ) ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกท่าน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 750 ล้านบาท และคิดเป็นรายวันได้มากถึง 80 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก จับจ่ายใช้สอย สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งของประเทศต่อไป และภายในงานยังมุ่งเน้นในเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยกำหนดมาตรการ ดังนี้ 1. ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และผู้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ ผู้จัดงาน เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่ภายในงาน บริษัทผู้รับจ้างจัดงาน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ก่อนเข้าร่วมงาน 2 เข็ม ขึ้นไป 2. ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และผู้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ ผู้จัดงาน เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ภายในงาน บริษัทผู้รับจ้างจัดงาน ต้องมีผลตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ที่รับรองจากหน่วยงานสาธารณสุข ไม่เกิน 72 ซม. และระหว่างงานจะมีการสุ่มตรวจ Antigen test kit (ATK) จำนวน 1 ครั้ง และ 3. มาตรการการจัดการกรณีพบผู้ป่วย ณ จุดคัดกรอง
กรณีตรวจพบอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 และได้ทำการวัดซ้ำแล้วอุณหภูมิยังสูง หรือพบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการจัดงาน จำเป็นต้องคัดแยกตรวจสอบสวนโรค และอาจจะให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยภายหลังการจัดงาน จะมีการติดตามจากแบบสอบถามให้ผู้จัดงาน บริษัทผู้รับจ้างจัดงาน และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้ามาร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในงาน ตอบแบบสอบถามอาการในระยะเวลาย้อนหลัง 14 วัน เป็นต้น รวมถึงบริเวณพื้นที่จัดงานทางอิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้รับรองจากกระทรวงสาธารณสุขมีระบบฉายแสง พ่นฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นที่ ก่อนเริ่มงานในทุกวัน จึงขอให้ทุกท่านมั่นใจในมาตรการครั้งนี้
โอกาสนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ร่วมสนับสนุนสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในงาน "โอทอปไทย สู้ภัยโควิด -19" พร้อมพบกับความหลากหลายของสินค้าที่คัดสรรจากทั่วทุคภูมิภาคของไทยมาให้ชม ชิม ช้อป อย่างเพลิดเพลิน ไม่น้อยกว่า 2,000 ร้านค้า โดยงานจะจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 18 - 26 ธันวาคม 2564
ณ อาคารชาเลนเจอร์1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการชุมชนในการก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป