- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Sunday, 21 November 2021 15:08
- Hits: 2266
มหาดไทย Kick off 'เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่' เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) ได้มีการประชุมชี้แจงผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ
โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมดำรงธรรม ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา เรื่องการขับเคลื่อนโครงการ ‘การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model)’มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พร้อมรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง จากการประมวลและสรุปองค์ความรู้ แบบอย่างการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา และจัดทำโครงการในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงสอดคล้องกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อนำมาเป็นกรอบและทิศทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย
พร้อมทั้งการสร้างความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในระดับพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนและ SMEs สร้างความมั่นคงทางน้ำ อาหาร พลังงานให้กับครัวเรือนและชุมชน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลไกขับเคลื่อนประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEDZ นี้ เป็นแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ด้วยการดึงภาควิชาการมาร่วมพัฒนาและยกระดับศักยภาพตัวบุคคล ต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการ วางแผน พัฒนา และต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก โดยใช้โอกาสจากภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพ ที่ประสบปัญหาว่างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกลับไปยังบ้านเกิด มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษารากเหง้า ภูมิปัญญาดั้งเดิม เพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม
ยกระดับเป็น ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่' เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 9 กิจกรรม ได้แก่ 1) กำหนดพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการ 2) พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการ 3) บ่มเพาะพัฒนาบุคลากร 7 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ 4) สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
5) ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประจักษ์ผ่านการฝึกปฏิบัติร่วมในรูปแบบจิตอาสาพัฒนาและจิตอาสาภัยพิบัติ 6) ต่อยอดผลผลิตเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) 7) จัดทำแพลตฟอร์มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 8) สร้างนวัตกรรมจากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดและธุรกิจในพื้นที่ และ 9) สร้างการรับรู้และจดจำ และการสื่อสารสังคมเชิงรุก การขับเคลื่อนในพื้นที่จะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน/ตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ผ่านแนวทางระบบเกษตรสองขา ‘พอเพียง แบ่งปัน แข่งขันได้’
โดยใช้รูปแบบ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการ ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามบริบทของพื้นที่ที่กำหนดร่วมกัน และส่งผลต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มพื้นที่จัดเก็บคาร์บอนและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นการนำการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป
“Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs)” เป็นการดำเนินงานตามถ้อยแถลงของ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 ในประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ถ้าเราศึกษาให้ลึกถึงสาเหตุอันเป็นรากเหง้าของความยากจนทำให้การขจัดปัญหาความยากจนไม่สามารถหมดไปจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้ ต้องมองขึ้นไปให้เห็นปัญหาในภาพรวมของระดับโลกก่อน ซึ่งองค์การ Concern Worldwide (Concern Worldwide, 2020) ได้วิเคราะห์สาเหตุสำคัญของความยากจนในโลก สรุป สาระสำคัญคือ 1) การขาดแคลนน้ำสะอาดและอาหาร 2) การไม่มีงานทำ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอ 3) สงครามและความขัดแย้ง 4) ความไม่เท่าเทียมกัน 5) ขาดการศึกษา 6) Climate Change 7) การขาดโครงสร้างพื้นฐาน
8) ความสามารถที่จำกัดของรัฐบาล 9) ขาดเงินทุนสำรอง ซึ่งถ้าดูตามนี้ จะเห็นว่า ปัญหาเรื่อง การขาดแคลนน้ำสะอาดและอาหาร เป็นปัญหาแรกที่ทาง องค์การ Concern Worldwide (Concern Worldwide, 2020) ให้ความสำคัญ ซึ่งตรงกับที่ในหลวง ร.9 ทรงเคยรับสั่งไว้ว่า น้ำคือชีวิต ดังพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ตอนหนึ่งว่า “... หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...'โครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์ท่าน
จึงให้ความสำคัญในเรื่องน้ำ เพื่อนำน้ำนั้นไปฟื้นฟูดินและป่าไม้ สร้างแหล่งอาหารให้กับคน ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาเหตุปัจจัยแรกของสาเหตุแห่งความจน จากนั้น จึงจะพัฒนาคนให้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับภูมิสังคมของตนตามฐานะและกำลังในการประกอบสัมมาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองตามลำดับขั้นตอนต่อไป ถือเป็นการสร้างพื้นฐานในการดำรงชีพให้แก่ประชาชนก่อนที่จะพัฒนายกระดับต่อไป นั่นคือการที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ขึ้นมาให้แก่ปวงชนชาวไทยนั่นเอง
และเมื่อประชาชนมีพื้นฐานที่มั่นคงพอควรแล้ว การพัฒนาในด้านต่างๆที่ทางภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนลงไปในแต่ละพื้นที่ ก็จะสามารถเกิดประโยชน์และมีโอกาสเกิดผลสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในโครงการ’เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่’ ทั้ง 9 กิจกรรม จะสามารถตอบโจทย์เหตุปัจจัยทั้ง 9 ข้อ ที่ทาง องค์การ Concern Worldwide (Concern Worldwide, 2020) ได้กล่าวไว้
รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ในด้านการพิจารณาให้การสนับสนุน ทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย สามารถพิจารณากำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมร่วมกับภาคประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ที่สามารถส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ช่วยการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ หลัก ‘บวร’ (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ) ‘บรม’ (บ้าน โรงเรียน/ราชการ มัสยิด) ‘ครบ’ (คริสต์ โรงเรียน/ราชการ บ้าน)
รวมถึงแนวพระราชดำริต่างๆ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ Policy Sandbox ภายใต้การปฏิรูประบบราชการ และแนวทางการพัฒนาโดยใช้ศาสตร์อื่น ๆ เพื่อมาเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เข้าร่วมโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด คัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา สภาพภูมิสังคม เช่น ที่ดินของส่วนราชการ พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ภาคเอกชน พื้นที่ภาควิชาการ/สถาบันการศึกษา พื้นที่องค์กรศาสนา และพื้นที่ภาคประชาชน หรือพิจารณาใช้ข้อมูลพื้นที่ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้เคยมีการสำรวจไว้ หรือพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ที่ได้มีการเก็บข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)
และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาเลือกพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินเข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่พื้นที่ที่เข้าร่วมนั้น ต้องพัฒนาให้สามารถประโยชน์สุขร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลในการขจัดปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพื้นที่มีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที
และต้องได้รับการยินยอมให้ใช้พื้นที่และจดทะเบียนการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยขอให้ทางจังหวัดจัดส่งข้อมูลพื้นที่มายังกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นี้ นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท. ครั้งที่ 183/2564