- Details
- Category: มหาดไทย
- Published: Tuesday, 08 October 2019 23:35
- Hits: 1960
คนจนรวมพลังรณรงค์ 'วันที่อยู่อาศัยโลก' คึกคัก ขณะที่ สอช.และเครือข่ายขบวนชุมชนจัดกิจกรรมตลอดเดือนตุลาคมนี้
กรุงเทพฯ / เครือข่ายสลัม 4 ภาคและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจัดงานรณรงค์'วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2562' มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบท ขณะที่สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดเดือนตุลาคมนี้ ชูประเด็น ‘บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน ทุกคนร่วมกันสร้าง’ โดยจะมีพิธีเปิดงานวันที่ 10 ตุลาคมนี้ที่สถาบันพัฒนาองค์ชุมชนฯ มีรองนายกฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธาน พร้อมผู้แทนชุมชนและนานาชาติ 350 คนเข้าร่วมงาน
วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น'วันที่อยู่อาศัยโลก' (World Habitat Day)เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต
ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม ในประเทศไทยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดย เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ฯลฯ นำประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินประมาณ 2,000 คน ตั้งขบวนจากหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเพื่อเดินทางมายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจุดแรกยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.
น.ส.สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้แก่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มีเนื้อหาว่า กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น มีผู้ไร้ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนวนมาก จึงต้องการให้กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัย และต้องการให้รัฐบาลทำตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
“ข้อเรียกร้องที่ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค เรียกร้องต่อกรุงเทพมหานคร คือ 1.ต้องการให้กรุงเทพมหานครออกแบบบ้านคนจนที่ใช้ปลูกสร้างในโครงการบ้านมั่นคง ในราคาหลังละไม่เกิน 150,000 บาท เพื่อให้คนจนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และจัดให้มีการลงทะเบียนชุมชนที่มีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ 100 หลังที่อยู่ในโครงการบ้านมั่นคง” ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวหลังจากรับหนังสือข้อเรียกร้องว่า กรุงเทพมหานครพร้อมให้การดูแลและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนทุกด้านทุกกลุ่ม สำหรับ ข้อเรียกร้องที่ยื่นมาตนจะนำไปศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด และจะนัดหารือกับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมชนได้เคลื่อนขบวนมายื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และรัฐบาลไทยบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับหนังสือ พร้อมด้วยนางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาคมีประเด็นสำคัญ เช่น 1.ชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบทางรถไฟ จำนวน 260 ชุมชนทั่วประเทศ ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับโดยให้ชุมชนเช่าอย่างถูกต้อง ให้ยุติการดำเนินคดีกับชุมชน และให้ รฟท.จัดหางบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE)ที่ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลรวม 9 ประเด็น เช่น ด้านสิทธิและเสรีภาพ ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ด้านการกระจายอำนาจ ให้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมฯลฯ
นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, มาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินที่เหมาะสมกับการทำเกษตรถูกใช้ไปดำเนินการผิดประเภท สิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน ออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนยึดครองประเทศ ฯลฯ
การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมือง รัฐบาลต้องมีนโยบายในการนำที่ดินรัฐประเภทต่างๆ มาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย รองรับคนจนเมืองในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน รัฐต้องมีนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณในการจัดที่อยู่อาศัย และพัฒนาสาธารณูปโภคกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมือง
นโยบายด้านรัฐสวัสดิการ ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่หากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เช่น กลุ่มเฉพาะแบบชุมชนแออัด หรือคนไร้บ้าน ให้มีแนวทางการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเฉพาะนั้นๆ จัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่ ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการเคลื่อนไหวและรณรงค์ในวันนี้แล้ว เครือข่าย'สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ'(สอช.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกตลอดเดือนตุลาคมนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะมีการจัดเวทีให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย รวมทั้งยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ
นางอร่ามศรี จันทร์สุขศรี ผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมกับเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะจัดกิจกรรมรณรงค์ในหัวข้อ 'บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน ทุกคนร่วมกันสร้าง หรือ Collective Housing'โดยมีเป้าหมายเพื่อ
- นำเสนอรูปธรรมความสำเร็จในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยต่อระดับนโยบายและสาธารณะ 2.รณรงค์สร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ทั้งในเมืองและชนบท ให้สังคมได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
3.ผลักดันนโยบายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน 4. สนับสนุนแนวคิด Collective Housing และ 5. ยกระดับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งเมืองและชนบท ระหว่างผู้นำขบวนองค์กรชุมชนไทยกับผู้นำต่างประเทศ หน่วยงานและฝ่ายนโยบาย
ทั้งนี้ จะมีการจัดงานทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาคตลอดเดือนตุลาคมนี้ เช่น ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรุงเทพฯ ภาคกลางและตะวันตกที่ จ.เพชรบุรี ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย ภาคอีสานที่ จ.กาฬสินธุ์และขอนแก่น ภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรี ภาคใต้ที่ จ.กระบี่ ฯลฯ โดยจะมีการนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนที่ดิน บ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก. การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนบ้านมั่นคง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งและการอนุรักษ์ทรัพยกรชายฝั่งทะเล ฯลฯ
โดยจะมีการเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ‘บ้านมั่นคง : บ้านโดยชุมชน ทุกคนร่วมกันสร้าง (Collective Housing)’ ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ ระหว่างเวลา 8.00-16.30 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดงาน และมีการสัมมนา Collective Housing ของผู้นำชุมชนในประเทศไทยกับผู้นำจากยุโรป อเมริกา ลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย 13 ประเทศ เช่น เมียนม่าร์ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดียฯลฯ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 350 คน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web