- Details
- Category: ยาเสพติด
- Published: Saturday, 05 December 2020 21:38
- Hits: 3305
ป.ป.ส. เผย CND มีมติรับ 1 ใน 6 ข้อเสนอปรับเปลี่ยนขอบเขตควบคุมกัญชา ย้ำกัญชา ยังเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย ใช้ประโยชน์ได้ทางการแพทย์และวิจัยเท่านั้น
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า จากกรณีการลงคะแนนเสียงของที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs : CND) สมัยที่ 63 ต่อข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการปรับเปลี่ยนขอบเขตการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น
“ประเทศไทยเป็น 1 ใน 53 ประเทศสมาชิก CND ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงต่อข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมสมัยต่อเนื่องของคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ 63 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2563 ณ กรุงเวียนนาสาธารณรัฐออสเตรีย โดยผลการลงคะแนนเสียงมีข้อเสนอเพียงหนึ่งข้อจากทั้งหมดหกข้อที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงรับรอง คือ ข้อเสนอที่ 5.1 ถอดกัญชาและยางกัญชา (Cannabis and Cannabis resin) ออกจากตารางที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 แต่ยังคงไว้ในตารางที่ 1 ของอนุสัญญาฯ ฉบับเดียวกันด้วยคะแนนรับ-ไม่รับที่ 27-25 และงดออกเสียง1 เสียง”
นายวิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ความหมายของสารเสพติดที่อยู่ในตารางที่ 1 ซึ่งรวมถึงกัญชาและยางกัญชา คือ เป็นสารเสพติดอันตราย แต่มีฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ โดยจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จึงจะใช้ในทางการแพทย์ได้ ส่วนสารในตารางที่ 4 คือสารในตารางที่ 1 ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสารเสพติดอันตราย มีฤทธิ์เสพติดสูง และแทบจะไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ การที่ผลลงคะแนนเสียงมีมติ ถอดกัญชาและยางกัญชา (Cannabis and Cannabis resin) ออกจากตารางที่ 4 (แต่ยังอยู่ในตารางที่ 1) จึงเท่ากับเป็นการเอื้อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์และทำงานวิจัยอื่นๆ เพิ่มเติมได้มากขึ้น
“ดังนั้น การลงคะแนนเสียงของคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) มิได้หมายความว่าได้ปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดและสามารถใช้ได้อย่างเสรี เพียงแต่เพื่อรองรับการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ง่ายมากขึ้น โดยยังคงถือว่ากัญชาเป็นสารเสพติดให้โทษอันตรายที่จะต้องควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้บัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 รวมถึงประเทศไทยมีการควบคุมกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการสันทนาการได้ แต่เปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ผ่อนปรนให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย” นายวิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้าย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ