- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 09 January 2018 19:36
- Hits: 12770
ส.อ.ท.วอน ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง หวั่นกระทบความสามารถการแข่งขัน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง หวั่นกระทบความสามารถการแข่งขัน หลังค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องแล้วกว่า 11% ทำผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงาน "กกร.แถลงจุดยืนต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย" ว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่า 11% ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง โดยการที่รัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน สามารถลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง
แต่ภาคเอกชนคาดหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง เพราะจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
"ค่าเงินบาทถ้าแข็งค่าในระดับเดียวกับคู่แข่งก็รับได้ แต่ถ้าเราแข็งกว่าเขาเราก็จะกระทบต่อการส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม ทางส.อ.ท.ก็ยังไม่มีกรอบระยะเวลาที่จะเข้าพบธปท. เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว"นายเจน กล่าว
ธปท.เกาะติดเงินบาทแข็งค่าเร็ว หวั่นกระทบภาคเอกชน หลังเงินแห่ไหลเข้าตลาดหุ้น-พันธบัตร แนะทำประกันความเสี่ยง
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 เงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับเงินสกุลของภูมิภาค แต่เคลื่อนไหวค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ (USD)โดยการแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงิน USD ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีการไหลเข้าของเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรทั้งภูมิภาค
ทั้งนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และหากค่าเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินควร จนอาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคเอกชน ธปท. พร้อมทำหน้าที่ธนาคารกลางในการเข้าดูแล
ด้านภาคเอกชนควรพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีหลากหลายทางเลือก ตั้งแต่การซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การใช้เงินสกุลท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทแทนเงิน USD ในการชำระเงิน หรือนำรายได้เงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีเงินตราต่างประเทศ ( FCD) ไว้ก่อน แทนการแลกเป็นเงินบาท หากมีภาระชำระเงินตราต่างประเทศในอนาคต เป็นต้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย