- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 17 August 2016 11:55
- Hits: 7844
ส.อ.ท. ลงพื้นที่นิคมฯ สินสาคร ชี้แนวทางเสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรมด้วยกลไก Cluster แนะผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถด้วยการใช้เทคโนโลยี
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ชี้ให้เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบ คลัสเตอร์ ผนวกกับแนะผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อตอบโจทย์ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง และปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าเป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และในประเทศ ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ หรือแม้แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและความก้าวหน้า อาทิ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ นโยบายรัฐ อาทิ Thailand 4.0 เขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษ Digital Economy มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ การตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาระบบการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีนและนวัตกรรมกทางอุตสาหกรรม ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพึ่งพาปัจจัยเหล่านั้นในการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย
โดยที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ดำเนินการผลักดันการแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านการผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าระดับกลางและระดับสูงมากขึ้น การลดต้นทุนการผลิต และปรับปรุงการส่งมอบสินค้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การยกระดับความรู้และความสามารถของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม สร้างพันธมิตรทางการผลิตและการค้ากับธุรกิจคู่ค้าทั้งในประเทศและในต่างประเทศ มุ่งเน้นการผลิตที่ลดมลภาวะ รวมถึงกระจายการผลิตไปสู่ส่วนภูมิภาคและชนบท ซึ่งจากแนวทางในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐข้างต้น สภาอุตสาหกรรมฯ โดยคณะกรรมการ ส.อ.ท.วาระปี 2553 – 2557 จึงได้มีการกำหนดกรอบแนวคิดในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value chain) โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (Agro Based Industry, New Wave Industry) 2.ต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอยู่เดิม (Hi-Tech Industry, Hi-Value Creation Industry) 3.ขยายฐานการผลิตสู่ภูมิภาค และส่งเสริมพัฒนาการค้าชายแดนให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Labor Intensive, Commodity Based) และ 4.ผลักดันการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Strategic Upstream Industry) โดยมีการนำแนวคิดการรวมกลุ่มแบบคลัสเตอร์ มาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย
และด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์เชิงรุก ส.อ.ท. ในวาระปี 2559 – 2561 จึงได้กำหนดเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมไทย ด้วยกลไกการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นคลัสเตอร์ ไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อ ของ ส.อ.ท. โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมและสร้างความเข้มแข็งโดยการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์ (Value Chain) รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้กำหนดแผนปฏิบัติการในหลายมิติ อาทิ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งระบบตามพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ จนไปสู่ตลาดส่งออก การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น โดย สภาอุตสาหกรรมฯ ได้แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 12 คลัสเตอร์ ตามกรอบแนวคิดในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม และได้กำหนดเป้าหมายของแต่ละคลัสเตอร์ไว้ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 Agro-Based Industry
คลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา “Rubber Hub of ASEAN”
คลัสเตอร์อาหาร “Kitchen of the World”
คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร ”Better Farming Solutions For Better Agro–Industry”
กลุ่มที่ 2 New Wave Industry
คลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ASEAN Renewable Hub“
คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม “Hub of Health & Beauty”
คลัสเตอร์วิศวกรรมเครื่องจักรกลและงานโลหะ "ASEAN Leader in Engineering Works"
กลุ่มที่ 3 Hi-Tech Industry
คลัสเตอร์ยานยนต์ “Moving Forward for The Future”
คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ “Better Living of Asia”
คลัสเตอร์ปิโตรเคมี “Toward Competitive and Sustain Petrochemical Hub
คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง “To become a construction hub in ASEAN”
กลุ่มที่ 4 High-Value Industry
คลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ “Innovation for Life Hub“
คลัสเตอร์การพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ “Regional Printing Hub”
“ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ คือ เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจ สามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มอำนาจในการต่อรองทางการค้า ส่งเสริมการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม เกิดการใช้วัตถุดิบร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ช่วยส่งเสริมความร่วมมือในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรวมกลุ่มของคลัสเตอร์แล้ว การพัฒนาร่วมกันของอุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องการขยายตลาดสินค้าในประเทศและต่างประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน การเร่งพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ การขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและแรงงานเพื่อยกระดับคลัสเตอร์ และแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยแนวทางการพัฒนาร่วมกันของอุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์ดังกล่าว จะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มผลผลิตให้แก่อุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์ ตลอดจนนำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และผลิตภาพแรงงานของประเทศไทย”นายเจน กล่าว
นายเจน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนโยบายการรวมกลุ่ม 12 คลัสเตอร์ ของสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ได้มีการผลักดันการดำเนินงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในลักษณะการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ภายใต้นโยบายซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งถูกนํามาใช้เป็นเครื่องมือสําคัญในการสร้างความเข้มแข็งผ่านการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์ (Value Chain) และนำไปสู่การสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งประกอบด้วย First s-curve (ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมปัจจุบันเพื่อต่อยอดการเจริญเติบโต) และ New S-curve (พัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด) ด้วย
การนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ของนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการรวมกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลก ที่มีการนำแนวคิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ สิ่งพิมพ์เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการรวมตัวของผู้ประกอบการในคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คือ สามารถสร้างความร่วมมือทางธุรกิจภายในคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีภายในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เกิดการพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สามารถลดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานร่วมกันภายในนิคมอุตสาหกรรม เป็นศูนย์ one stop services ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจ และยังสามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ได้ครบวงจร
“สำหรับคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ภายใต้การดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมฯ ถือเป็นคลัสเตอร์สนับสนุนที่สำคัญของหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยวิสัยทัศน์ของ คลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คือ พัฒนาคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อรักษาการเป็น AEC Printing and Packaging Hub สร้างความเข้มแข็งและร่วมมือกันภายในคลัสเตอร์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยให้เป็น ‘Qualified supplier’ ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค โดยเริ่มเน้นที่บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็น “High Value Added” (HVA) และเป็นผู้นำด้านการออกแบบ ร่วมกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่มีรูปแบบหน้าที่การใช้งานต่างๆ ที่หลากหลายประเภท ทั้งนี้ การรวมกลุ่มของคลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ของนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์ โดยลักษณะเด่นของนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร คือ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็น “Printing & Packaging City” เนื่องจากมีกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (ขั้นตอนก่อนการพิมพ์ การพิมพ์ จนถึงหลังการพิมพ์ รวมถึงการผลิตวัสดุ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง) มีการประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มอุตสาหกรรมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการภายในนิคมอุตสาหกรรม เช่น ศูนย์บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาทางด้านการพิมพ์, ธุรกิจที่สนับสนุนทุกงานพิมพ์ และสถาบันการพิมพ์ไทย (Thai Print Academy) ฯลฯ เป็นต้น และหากพูดถึงเรื่อง Industry 4.0 ที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันอยู่ขณะนี้ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาใกล้เคียงกับแนวคิด Industry 4.0 มากที่สุด เนื่องจากระบบเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่ใช้ในการประกอบกิจการเป็นระบบออโตเมติก และทำงานบนฐานข้อมูลดิจิทัล” นายเจน กล่าว
นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังนำเยี่ยมชม บริษัท ซี.เอ.เอส. เปเปอร์ จำกัด บริษัทนำเข้า และจัดจำหน่ายกระดาษเพื่อการพิมพ์ ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ซึ่งเป็นบริษัทที่มีจุดเด่นในเรื่องระบบการบริหารจัดการโกดังสินค้า (Warehouse) ด้วยระบบ WMS (warehouse management system) และเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (RFID - Radio frequency identification) มาบริหารจัดการโกดังสินค้าของบริษัท เพื่อลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นในการประกอบกิจการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย