- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 24 July 2014 12:25
- Hits: 3919
ส.อ.ท.เอกชนระบุ รธน.ชั่วคราวช่วยสร้างความเชื่อมั่น-มองบาทเหมาะสม 31.50-32.00
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศออกมาเป็นไปตามโรดแมพของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มองว่าช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล การเลือกตั้งในอนาคตคงจะเกิดขึ้นแน่นอน
"2 เดือนที่มี คสช.ทุกอย่างราบรื่นดี การเมืองเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะนักลงทุนจะเลือกลงทุนในประเทศใดก็ตาม จะคำนึงถึงความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง ความสงบสุข"นายสุพันธ์ กล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ประเมินว่าช่วงที่เหมาะสมของค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 31.50-32.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งระดับตอนนี้ผู้ส่งออกยังรับได้ แต่ก็ต้องจับตาดู และคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะจับตาดูอยู่แล้ว ขณะที่ประเมินตัวเลขส่งออกปีนี้ยังน่าจะเติบโตได้ราว 3-5% ตอนนี้ส่งออกยังโตต่อเนื่องโดยเฉพาะรถยนต์
"เราเคยแข็งค่ามากกว่า 31.50 บาท/ดอลลาร์ แต่อาจจะทำให้การส่งออกลำบาก แต่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ก็คิดว่ากำลังดี Export คงอยากได้ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาเวลาส่งออกเรามักจะพูดถึงในรูปของ US ดอลลาร์ ถ้าคิดเป็นในรูปของเงินบาทที่ผ่านมาเราส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ถ้าเงินบาทแข็งค่าแบบตอนนี้อาจจะทรงตัวหรือติดลบนิดหน่อย แต่คิดว่าเมื่อถึงปลายปีการส่งออกคงจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้คือโต 3-5%"นายสุพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้คือ Tier 3 แต่ไทยส่งออกรถยนต์ไปตลาดสหรัฐฯ น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยจึงไม่น่าจะกระทบ แต่อาจจะกระทบในส่วนของอุตสาหกรรมประมงมากกว่า แต่จากความพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ของประเทศไทย ทั้งโรดแมพ มาตรการต่างๆที่ภาคเอกชนได้นำเสนอให้ คสช.พิจารณาทำให้ปัญหานี้คลายความกดดันลงไปมาก ส่วนตลาดยุโรปจากที่คิดว่าน่าจะกระทบจากเรื่อง GSP ก็กลายเป็นว่าส่งออกได้มากขึ้นจาก 7% เป็น 10% จึงคิดว่าปีนี้ตลาดยุโรปดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน
ส่วนภาวะเศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% โดยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะโตได้ถึง 4-5% จากงบการลงทุนภาครัฐทยอยออกมา โครงการส่งเสริมลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และเศรษฐกิจประเทศแข็งแรงขึ้น สังเกตได้ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคดีขึ้น ตลาด Retail เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
"เดิมทีเราประเมินจีดีพีปีนี้ไว้ไม่เกิน 2% ตั้งแต่ก่อนมี คสช.เข้ามา เราคิดว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น บรรยากาศเริ่มดี เศรษฐกิจประเทศเริ่มแข็งแรงขึ้น"
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ภาคเอกชนทำงานร่วมกับ คสช.ได้อย่างราบรื่น หลายเรื่องที่ภาคเอกชนได้นำเสนอไปก็ได้รับการตอบรับด้วยดี อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ อีกหลายเรื่องที่ยังรอการแก้ไข ซึ่งภาคเอกชนจะพยายามทำงานอย่างต่อเนื่อง
"อะไรที่มีปัญหาเรานำเสนอไปก็ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว แต่เรากำลังพยายามดูเรื่องกฎหมายที่ยังล้าหลังต้องได้รับการควบคุมดูแล เราก็เสนอตัวไปยัง คสช.ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในกฎหมายที่จะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้รับการตอบรับว่าจะให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก่อนที่จะเสนอเข้า สนช.ด้วย"นายสุพันธ์ กล่าว
อินโฟเควสท์
ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.ที่ 88.4 จาก 85.1 ใน พ.ค.57
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย(Thai Industries Sentiment Index:TISI) เดือน มิ.ย.57 อยู่ที่ 88.4 เพิ่มขึ้นจาก 85.1 ในเดือน พ.ค.57 โดยค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
"ดัชนี เชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมิถานายนฟื้นติดต่อเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังกังวลไทยถูกลดระดับ Tier 3 หวั่นกระทบส่งออก" นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เกิดจากผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การยกเลิกการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว ทำให้ภาพรวมของการดำเนินกิจการมีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับอยู่ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้คำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ประเภทเสื้อผ้ากีฬา รองเท้ากีฬา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการที่ประเทศไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ที่ระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯและอียูลดลงตามไปด้วย
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.0 ในเดือน พ.ค.เนื่องจากการเพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน
ขณะที่ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน มิ.ย.นี้ คือ เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และสร้างความเข้าใจกับประเทศคู่ค้า เพื่อลดผลกระทบด้านการส่งออก กรณีสหรัฐฯ ออกประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในระดับ Tier 3 อีกทั้งให้หน่วยงานภาครัฐเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมถึงเร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ถนน และท่าเรือ เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของ AEC รวมทั้งปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนการขอใบอนุญาตและพิธีการ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน
อินโฟเควสท์