- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Monday, 30 June 2014 22:03
- Hits: 3772
อีโค+โฟกัส : 90 วัน..ลุ้นพ้นบ่วง 'เทียร์3' ส.อ.ท.เร่งเสนอทางแก้ ชง คสช.
ไทยโพสต์ : นับจากวันที่ 20 มิ.ย.2557 ที่สหรัฐประกาศปรับลดระดับประเทศไทยไปอยู่ในกลุ่ม ‘เทียร์ 3’ หรือ ประเทศที่ล้มเหลวในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ นั้น ไทยยังมีเวลา 3 เดือนที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้สหรัฐและนานาประเทศเห็นถึงความพยายามป้องกันปัญหาดังกล่าว ก่อนที่สหรัฐจะใช้เป็นข้ออ้างแสดงบทลงโทษประเทศไทยในด้านต่างๆ อาทิ การยกเลิกความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ หรืออาจถูกสหรัฐคัดค้านความช่วยเหลือสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เป็นต้น ยกเว้นมาตรการลงโทษด้านการค้า และสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐไม่อาจทำได้
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ถูกลดอันดับมาอยู่ 'เทียร์ 3' แต่ยังรวมถึงประเทศมาเลเซีย เวเนซุเอลา และแกมเบีย ที่ถูกลดอันดับในปี 2557 นี้ด้วย
ทำให้เกิดข้อกังขาว่า หลักเกณฑ์การประเมินของสหรัฐถูกต้องและชอบธรรมเพียงใด ที่จะมาใช้ประเมินประเทศอื่นๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและสังคม ซึ่งเรื่องนี้ นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่รับผิดชอบดูแลด้านแรงงานเป็นหลัก ได้ให้ความเห็นไว้
* เทียร์ 3 จะมีผลอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง
สหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจที่ยุ่งทุกเรื่องในโลกนี้ และได้ตรากฎหมายการปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์เอาไว้ ซึ่งเท่ากับจะดูแลแรงงานทั่วโลกไม่ให้ถูกกระทำการค้ามนุษย์ โดยทุกปีจะมีการสำรวจทุกประเทศรวมถึงไทยด้วย ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มี.ค.ของอีกปี ซึ่งทำทุกปี และหลังจากนั้นจะรายงานและจัดอันดับว่าแต่ละประเทศอยู่เทียร์ไหน ซึ่งมีตั้งแต่เทียร์ 1 ประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายป้องกันเหยื่อการค้ามนุษย์ครบถ้วน หรือเทียร์ 2 ปฏิบัติตามแต่ไม่ครบถ้วน แต่เห็นถึงความพยายามที่จะปฏิบัติตาม หรือเทียร์ 2 วอชลิสต์ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ แต่ยังมีความพยายามให้เห็น และเทียร์ 3 คือไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาเลย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประเทศที่ติดอยู่เทียร์ 3 มีประมาณ 23 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม การที่ถูกจัดอยู่ในเทียร์ 3 หมายถึงสหรัฐสามารถจะเข้ามาแทรกแซงประเทศที่อยู่ในเทียร์ 3 ได้ ซึ่งสหรัฐมีอำนาจลงโทษ (แซงก์ชั่น) อะไรก็ได้ ยกเว้นเรื่องการค้า และสิทธิมนุษยชน เช่น หากไทยทำการค้ากับสหรัฐอยู่ สหรัฐก็แทรกแซงไม่ได้
หลังจากถูกลดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 แล้ว ยังมีเวลา 90 วัน ที่สหรัฐจะตัดสินใจแซงก์ชั่นหรือไม่ โดยขึ้นกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐ หรือพิจารณาจากประเทศนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงการพยายามปรับปรุงแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ซึ่งอาจทำให้สหรัฐตัดสินใจไม่แซงก์ชั่นประเทศนั้นๆ ได้ และในปีถัดไป สหรัฐอาจพิจารณาถอนจากเทียร์ 3 เป็นสู่ระดับเทียร์ 2 วอชลิสต์ได้
* สาเหตุที่ไทยถูกลดอันดับเกิดจากอะไร
ก่อนอื่นต้องเข้าใจแก่นแท้ของปัญหาแรงงานในไทยก่อนว่า แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายซึ่งมีอยู่ในประเทศไทยมานานพอสมควรแล้ว โดยปัจจุบันประเทศไทยมีชาวต่างด้าวถูกและผิดกฎหมายอยู่รวม 3 ล้านคน ในนั้นมี 1.824 ล้านคนที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย และภายหลังมาทำให้ถูกกฎหมายโดยการสืบสัญชาติ และมีอีก 4 แสนคนที่เป็นแรงงานถูกกฎหมายจากการนำเข้าตามข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาล ส่วนอีก 8-9 แสนคน เป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจริงๆ
แรงงานที่ผิดกฎหมายมักจะแอบซ่อนตัว เลยกลายเป็นเหยื่อนายจ้างที่กดขี่แรงงาน และกลายเป็นแรงงานถูกบังคับในที่สุด เพราะฉะนั้นทางแก้ไขไม่ให้มีแรงงานผิดกฎหมายและแรงงานถูกบังคับ ก็จะต้องทำให้ถูกกฎหมายก่อน ซึ่งการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศให้นายจ้างทำบัญชีลูกจ้างให้เรียบร้อย และให้มารายงานตัวนั้น เชื่อว่านายจ้างรู้ตัวว่ามีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ก็จะไม่ทำการรายงานแน่นอน
ดังนั้น ส.อ.ท.เห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมคือ ต้องทำการนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ส่วนนายจ้างที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แต่จ่ายเงินถูกต้อง ขาดเพียงแค่ไม่มีเอกสารชัดเจน ภาครัฐจะต้องประกาศว่าไม่มีความผิด ซึ่งจะทำให้นายจ้างกล้าพาแรงงานผิดกฎหมายมารายงานตัว ทำให้ถูกต้องได้
ส่วนกรณีที่มีเอ็มโอยูนำเข้าแรงงานต่างด้าว 4 แสนคนแล้ว แต่ยังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทะลักเข้าไทยอีกนั้น เนื่องมาจากการนำเข้าแรงงานมีค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 1.2-1.5 หมื่นบาทต่อคน มีความยุ่งยากในการนำเข้า และมีเอกสารระเบียบที่นายจ้างทำเองไม่ได้เลยมอบหมายให้เอเยนต์ทำแทน เลยเกิดการกินค่าหัวคิว ฉะนั้นค่านำเข้าแรงงานจึงแพงมาก ดังนั้นจึงเกิดการใช้แรงงานผิดกฎหมายแทน
ซึ่งเรื่องนี้ ส.อ.ท.เห็นว่า ควรแก้ปัญหาด้วยการลดขั้นตอนการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายให้ง่ายขึ้น สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย โดยนายจ้าง ผู้ประกอบการสามารถทำได้เอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระทรวงแรงงานจะจัดระเบียบใหม่ให้การนำเข้าภายใต้เอ็มโอยูง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการทะลักเข้ามาของแรงงานไม่ถูกกฎหมายได้ดังนั้น เชื่อว่าแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายได้ ทั้งแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ จากนั้นจึงจะเชิญประเทศคู่ค้าของไทย สื่อต่างประเทศ และสหรัฐเข้ามาดูแรงงานไทยใหม่ และชี้ให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและได้แก้ไขแล้วคืออะไร ก็จะคลี่คลายสถานการณ์ลงไปได้
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จะนำแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งหมดหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน จากนั้นจะนำเสนอ คสช.ต่อไป
* ไทยควรแก้ปัญหาอย่างไร
ปัจจุบันชื่อเสียงประเทศไทยเสียหายไปแล้ว เพราะถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีแรงงานบังคับ และแรงงานเด็ก ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือการประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าตลอด 1-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ทำอะไรไปบ้างด้านแรงงานในประเทศ และ คสช.ได้ประกาศจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ดังนั้น ถ้า คสช.แสดงให้สหรัฐเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไทยภายใต้ คสช.ตั้งใจจริงและทำแล้ว จะพิสูจน์ว่าไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ
อย่างไรก็ตาม คงต้องไปศึกษารายละเอียดของรายงานจัดอันดับการค้ามนุษย์ที่สหรัฐทำขึ้นด้วยว่า มีวิธีสำรวจอย่างไร ถูกต้องเป็นธรรมแค่ไหน และตีแผ่ให้สังคมโลกได้รับรู้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กองตรวจคนเข้าเมือง กรมประมง และภาคเอกชน ที่เกี่ยว ข้องที่ต้องทำงานร่วมกันศึกษารายงานดังกล่าวร่วมกัน
* ส.อ.ท.มีบทบาทอย่างไรบ้าง
ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดในอนาคต โดยจากการประเมินเบื้องต้น พบว่าปัจจุบันชื่อเสียงไทยเสียหายไปแล้ว แต่ความเสียหายจริงยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งไทยมีเวลาที่จะแก้ไขอยู่ 90 วัน
นอกจากนี้ ส.อ.ท.จะร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สมาคมธนาคารไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ส.อ.ท.) หรือ กกร. ทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเทียร์ 3 และชี้แจงให้ภาครัฐ สื่อต่างประเทศ คู่ค้าต่างประเทศของไทย ให้ทราบข้อเท็จจริงว่าไทยไม่ได้เป็นอย่างที่สหรัฐกล่าวหา
* กรณีอียูระงับความร่วมมือไทยชั่วคราวควรแก้ไขอย่างไร
กรณีสหภาพยุโรป โดยคณะมนตรีต่างประเทศ ได้แจ้งให้ไทยทราบว่าจะระงับความร่วมมือกับไทยชั่วคราว คณะต่างๆ ของอียูจะไม่มาไทยจนกว่าจะแสดงให้เห็นสภาวะการเมืองไทยที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่แน่นอนจึงจะกลับมามีความสัมพันธ์ระดับเดิมอีกครั้ง เท่ากับปัจจุบันไทยมีศึก 2 ด้าน ทั้งด้านสหรัฐและอียู
ซึ่งทางแก้ไขปัญหาในเรื่องแรงงานนั้น จะต้องเชิญตัวแทนสหรัฐ สื่อต่างชาติ มาดูของจริงในเมืองไทย แต่ในเรื่องการเมืองนั้น เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ต้องชี้แจงว่า คสช.กำลังทำอะไร อยู่ระดับไหน โดยขณะนี้อยู่ในเฟสที่ 1 คือการจัดระเบียบระบบสังคม ส่วนเฟส 2 จะมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้น และเฟสที่ 3 จะกำหนดให้เกิดการเลือกตั้ง
สำหรับประเทศไทยมีแรงงานทั้งหมด 38.62 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทยที่ทำงานแล้ว 37.9 ล้านคน ว่างงาน 3.41 แสนคน หรือเท่ากับ 0.9% ซึ่งน้อยมาก และยังมีผู้รอเข้างานอีก 3.74 แสนคน แสดงว่าแรงงานในไทยถูกใช้หมดแล้ว เลยต้องมีแรงงานต่างด้าวเข้ามา
อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่มีแรงงานเพียงพอ และไม่มีแรงงานต่างด้าวด้วย สิ่งที่ต้องทำคือ เพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มากขึ้น 5% ซึ่งจะเทียบเท่ากับการมีแรงงานเพิ่ม 1 ล้านคนทีเดียว ซึ่งในเรื่องนี้จะเสนอ คสช.เป็นวาระแห่งชาติ ระยะ 5-8 ปี ซึ่งจะช่วยให้แรงงานเพียงพอ และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวน้อยลงได้
หากไทยแสดงให้สหรัฐได้เห็นว่าไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แล้ว ก็ไม่ต้องกลัวการแซงก์ชั่น หรือการจัดอันดับให้ไทยอยู่เทียร์ 3 ไปจนถึงปีหน้า แต่สิ่งสำคัญเวลานี้ คือ ต้องแสดงให้เห็นว่าไทยไม่มีปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบีบบังคับ ไม่มีการค้ามนุษย์ให้ได้เสียก่อน ซึ่งนับจากนี้ไทยยังมีเวลาเกือบ 3 เดือนที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและกู้ภาพลักษณ์ที่ดีกลับคืนมา และถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถจัดระเบียบและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในไทยได้ในระยะยาว.