- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Monday, 07 September 2015 08:48
- Hits: 12734
'สุพันธุ์'มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นรัฐต้องลดพึ่งส่งออก-เร่งลงทุน หนุนสินค้าเกษตร
ไทยโพสต์ : ภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบที่มีปัจจัยมาทั้งภายนอกและภายในประเทศ ส่งผล การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ลดลง รวมไปถึงราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งหลังจากที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เริ่มทยอยออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศออกมา ทำให้ภาคเอกชนเริ่มมีความหวัง ซึ่ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีนโยบายชัดเจนที่จะเข้ามาดูแลภาคการเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะค่อยๆ ฟื้นตัวและจะต่อเนื่องไปถึงปี 2559
นายสุพันธุ์ กล่าวถึงคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่นั้นคาดว่าจะเริ่มทยอยออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศออกมา หลายคนอาจมองว่าบางมาตรการจะเข้าข่ายประชานิยม ซึ่ง ส.อ.ท.ยืนยันว่าไม่ได้เห็นด้วยกับประชานิยม แต่จำเป็นจะต้องค่อยๆ เลิกและปรับใหม่ เพราะไทยเสพติดมานาน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่มีทั้งระบบประกันและจำนำ โดยต้องแบ่งโซนเพาะปลูก หากอยู่นอกโซนก็ไม่ดูแลแล้วค่อยๆ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ก็จะทำให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตแต่ละชนิด พอที่รัฐจะประเมินเงินช่วยเหลือดูแลช่วงสินค้าตกต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้สินค้าเกษตรหลักที่รัฐต้องเข้ามาดู คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย
"เราต้องแก้ระยะสั้น และมองระยะยาวกรณีดิจิทัลอีโคโนมี จำเป็นจะต้องมีไวไฟ มี 4G ทิศทางอุตสาหกรรมไปทางนี้หมด อีกหน่อยจะชิปไปอย่างรุนแรง ต้องลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้รองรับไว้" นายสุพันธุ์กล่าว
* เศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2558 ขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลัง จะมีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งการส่งออกที่จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณของการชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกไทย โดยจะเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปตลาดจีนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 มีสัดส่วนร้อยละ 10.8 และมีการเติบโตติดลบที่ร้อยละ -7.0
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามโดยเฉพาะราคาน้ำมันตลาดโลกว่าถึงจุดต่ำสุดหรือยัง ถ้ายังจะมีผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อเพื่อลดการขาดทุนสต็อก และสิ่งที่ยังกังวลคือ ปัญหาการค้ามนุษย์และการกระทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และสหรัฐคงอันดับไทยในเทียร์ 3 ในรายงานการค้ามนุษย์หรือ TIP ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกหากไม่เร่งแก้
* แนะลดพึ่งพาการส่งออกหันพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจุบันการส่งออกคิดเป็น 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นไทยต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น ทั้งการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน เพื่อลดสัดส่วนการส่งออกให้เหลือ 50% ของ GDP เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะยาวให้มีความมั่นคงมากขึ้น
"เวลานี้ฐานะการเงินเราดีมาก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 1.57 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนี้สาธารณะเหลือไม่ถึง 40% ของ GDP เปรียบประเทศเป็นบริษัทตอนนี้เรายังมีเงินแต่ ขายของไม่ได้ เราต้องเลี้ยงพนักงานไว้ พอเศรษฐกิจมาก็จะไปได้เอง แต่ไม่ใช่ไปเรียกเก็บภาษีนั่นนี่ยิ่งเลวร้ายไปใหญ่ นั่นคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจข้างในขับเคลื่อน เพราะเวลานี้คือสินค้าเกษตรตกต่ำ รายได้เกษตรกรลดลงมาก คนกลุ่มนี้ไม่มีเงินจับจ่ายแล้วก็กระทบไปยังเอสเอ็มอีต่อเนื่อง" นายสุพันธุ์กล่าว
* เร่งลงทุนเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 นี้ ภาครัฐควรเร่งลงทุน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ที่จะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 นี้ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง อาทิ เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ย.นี้ การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงสนามบินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน ระหว่างไทย-จีน
โดยกระทรวงการคลังคาดว่าปีนี้การลงทุนภาครัฐจะเติบโตร้อยละ 15.3 ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนตาม นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการรณรงค์ โฆษณา ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะแคมเปญ "ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558" ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นเงิน 2.15 ล้านล้านบาท โดยมาจากตลาดในประเทศ 8 แสนล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 1.35 ล้านล้านบาท ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เป็น 28 ล้านคน
* แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 แข็งแกร่งขึ้น
โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มว่าจะแข็งแกร่งขึ้นกว่าปี 2558 จากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ ย่อมจะส่งผลดีต่อการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องให้ความสำคัญ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ที่จะบั่นทอนการฟื้นตัวของภาคส่งออกได้ ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจากผลของเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ปัญหาภัยแล้งที่มีการคาดการณ์กันว่าจะมีความรุนแรงและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2559 รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยที่ลดลง
* รัฐต้องเร่งเบิกจ่ายและเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี
สำหรับ การช่วยเหลือของภาครัฐ นายสุพันธุ์ระบุว่า อย่าเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและลงทุนภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา ส่วนการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไปแล้ว ภาครัฐควรตรวจสอบว่าเกิดปัญหาหรือมีการติดขัดด้านใด แล้วดำเนินการแก้ไข เพื่อกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริง รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้กับกลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อให้มีสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน โดย 2 กลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรบรรเทาปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เช่น การจัด Zoning สำหรับการเพาะปลูกพืช, การดูแลต้นทุนด้านการเกษตร เป็นต้น การเตรียมการบริหารจัดการน้ำที่ดี จะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ และเร่งรัดพัฒนาการค้าและการขนส่งชายแดนและผ่านแดน/ยกระดับด่านชายแดนที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน เช่น อำนวยความสะดวกการค้าชายแดนด้านการขนส่งสินค้า ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น, สนับสนุน SMEs ไทยและการลงทุนต่อเนื่องของไทยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้สิทธิจีเอสพีของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น รวมถึงเร่งแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUUFishing).
ส.อ.ท. เผย เตรียมนำบริษัทไทย 20 แห่ง ร่วมงาน’ไชน่า อาเซียน เอ็กซ์โป’ 18 ก.ย.นี้ หวังให้เกิดการร่วมทุนระหว่างกัน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้รับการติดต่อจากสภาธุรกิจไทย-จีน ให้เข้าร่วมงาน ไชน่า อาเซียน เอ็กซ์โป ที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีน วันที่ 18 ก.ย.นี้ ซึ่งงานดังกล่าวจะเป็นการจัดสัมมนาให้นักลงทุนไทยและนักลงทุนจีนได้พบปะและเจรจาในเรื่องการลงทุนระหว่างกัน หลังจากที่ทางรัฐบาลจีนได้สนับสนุนบริษัทเอกชนจีนให้ออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่บริษัทไทยจะได้มีโอกาสในการทำธุรกิจที่จีนเช่นกัน โดยบริษัทที่จะพาไปนั้นอยู่ในทุกอุตสาหกรรม
"ส.อ.ท.ได้รับการทาบทามจากสภาธุรกิจไทย-จีน ให้เข้าร่วมงาน ไชน่า อาเซียน เอ็กซ์โป วันที่ 18 ก.ย.นี้ ซึ่งยอมรับว่าได้รับการติดต่อที่กระทันหัน โดยคาดว่าจะพาบริษัทไทยไปประมาณ 20 บริษัท เพื่อไปพบกับนักธุรกิจจีน โดยหวังว่าจะให้เกิดการลงทุนร่วมกัน " นายสุพันธุ์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย