- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 10 May 2015 23:56
- Hits: 3190
สอท.ชี้ช่องขยับยางฯแตะกิโล 80 บ. ลดพื้นที่ปลูก/นำไปผสม‘มะตอย’ทำถนน
แนวหน้า : ผู้บริหาร สภาอุตฯ เสนอไอเดียช่วยชาวสวนยาง-ชาวนายุคสินค้าเกษตรตกต่ำ แนะรัฐเปิดให้เช่า “รถไถ” ลดต้นทุน รวมทั้งแนวคิดแก้ราคายางพารา
นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า รัฐบาลควรมีแผนเพิ่มปริมาณการแปรรูปยางพาราอย่างชัดเจน จากปัจจุบันที่นำน้ำยางพาราไปแปรรูปเพียง 12% หรือปริมาณ 500,000 ตันต่อปี จากผลผลิตทั้งสิ้น 4.2 ล้านตัน เพิ่มเป็น 20-25% หรือมีปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบัน 270,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 500,000-600,000 ล้านบาท
พร้อมทั้งต้องลดพื้นที่ปลูกยางลง 25% โดยการโซนนิ่ง และเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกยางพาราไปปลูกพืชผลชนิดอื่นแทน หากรัฐบาลเดินไปตามแนวทางนี้ ก็จะช่วยเพิ่มราคายางพาราไปอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่ผันผวนตามราคาตลาดโลกภายใน 2-3 ปี
“รัฐบาลต้องเพิ่มการแปรรูปยางพาราให้เห็นผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการนำยางพาราไปผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ทำถนน รวมทั้งการนำไปแปรรูปเป็นยางปูพื้นสนามกีฬา และสนามฟุตซอล ซึ่งแม้ว่าถนนที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมจะมีราคาแพงกว่าถนนทั่วไปประมาณ 30% แต่ก็ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนไปสู่มือเกษตรกร 2-3 บาทต่อกก. ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า รวมทั้งถนนที่มีส่วนผสมของยางพาราก็มีความทนทานมากกว่า เป็นการลดต้นทุนการซ่อมบำรุงในอนาคตอีกด้วย” นายบุญหาญ กล่าว
ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสอท. และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐ จัดหาเครื่องไถนาให้ชาวนาเช่า ในราคาช่วยเหลือ เพื่อลดต้นทุนในการทำนาให้กับชาวนา และเพิ่มผลิตภาพการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ชาวนาต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อรถไถในราคาสูง แต่ใช้ปีละไม่กี่ครั้ง นอกนั้นพบว่าซื้อมาแล้วจอดทิ้งไว้เฉยๆ เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์กับชาวนา เพิ่มผลผลิตได้แน่นอน และชาวนาจะได้มีเวลาว่าง หารายได้เสริมมากขึ้น
“ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นเราควรนำเทคโนโลยีเข้ามา เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น ชาวนาบางรายก็มีนาไม่เยอะ ถ้าซื้อเครื่องไถนา ราคาเป็นแสน ก็เปลือง ปีหนึ่งชาวนาทำนาไม่กี่หน ซื้อมาจอดทิ้งไว้ก็ไม่คุ้ม อยากให้รัฐบาลหาเครื่องไถนา อาจให้องค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล แต่ละพื้นที่ แล้วใช้สลับๆ กันแต่ละราย และชาวนาส่วนใหญ่ซ่อมบำรุงไม่เป็น บางครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องอีก เชื่อว่า จะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้กับชาวนาได้ ดีกว่ามุ่งแต่ประกันราคาใช้เงินเป็นแสนล้านอย่างเดียว ส่วนลดต้นทุนประเภทอื่น รัฐก็ได้ทำแล้ว เช่น ลดราคาปุ๋ย”
นายถาวร กล่าวว่า การซ่อมบำรุงรถไถนา ภาครัฐไม่ต้องซ่อมบำรุงเอง เสนอให้นักเรียนอาชีวะ เป็นผู้ซ่อมบำรุง เพื่อเป็นการเรียนรู้ปฏิบัติงานจริง และช่วยลดต้นทุนในการซ่อมบำรุง