- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 18 April 2015 22:06
- Hits: 3311
เอกชนยังหนุนคสช. 6 เดือนให้‘สอบผ่าน’'หม่อมอุ๋ย' คาดใช้จ่ายครัวเรือน-ลงทุนรัฐ/เอกชนดีขึ้น
แนวหน้า : นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 เมษายน ถึงการแถลงผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ว่า ในด้านเศรษฐกิจถือว่าสอบผ่าน แต่คงไม่ขอให้เป็นคะแนน เพราะคะแนนของแต่ละองค์กรหรือบุคคล ย่อมเห็นต่างกัน
ทั้งนี้ รอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้ก็ให้โอกาสภาคเอกชนทุกองค์กร ไปร่วมเป็นคณะทำงานในหลายๆคณะเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว มาจากหลายๆปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่กำลังซื้อในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรในประเทศก็ตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อในภาคเกษตรกร หดตัวตามไปด้วย
นายสุพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนยังมองว่าประเทศไทยยังมีโอกาส ในการแสวงหารายได้ที่จะมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นตัวเลขฟื้นตัวระดับหนึ่งในไตรมาสที่ 1ส่วนงบประมาณแผ่นดิน คงต้องรอการเบิกจ่ายให้เห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่จะทยอยลงทุนในไตรมาสที่ 3จึงเป็นความหวังว่าในไตรมาสที่4 จะเริ่มเห็นผลในการทยอยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง
“หากถามว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมกลับเห็นว่าทีมเศรษฐกิจ ก็พยายามทุกวิธีทางอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย กลายเป็นดินพอกหางหมูมายาวนาน การจะแก้ไขให้เห็นผลชัดเจนทันที คงทำได้ยาก” ประธาน ส.อ.ท. ย้ำ
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่แม้ขณะนี้จะช่วยแก้ไขเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้แล้ว แต่ก็ต้องการให้ช่วยเหลือด้านการหาตลาดส่งออกและตลาดจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นและต้องยอมรับว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะมาจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ทำได้ง่ายที่สุดเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบที่ล่าช้าขณะนี้เกิดจากข้าราชการที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำงานด้วยความระมัดระวังเข้มงวดในการตรวจสอบเอกชน ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะกลัวโดนสอบสวนข้อหาทุจริตทำให้การขับเคลื่อนงบประมาณโดยตรงจากภาครัฐทำได้ล่าช้า
ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) กล่าวว่า ให้คะแนนรัฐบาล 7/10ในด้านนโยบายการส่งออกซึ่งพอใจที่รัฐบาลพยายามผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติและให้ความสำคัญกับนโยบายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการค้าและเห็นว่ารัฐบาลนี้รับฟังข้อเสนอแนะ และหารือกับเอกชนเพื่อกำหนดนโยบายการส่งออกในยุทธศาตร์เดียวกัน
ส่วนภาวะการส่งออกที่ขยายตัวติดลบในรอบ6 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปลายปี 2557 โดยในไตรมาส 1 ของปี 2558คาดว่าการส่งออก จะติดลบร้อยละ 5 เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้สินค้าเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป มีปัญหาการส่งออกและยังมีผลกระทบจากยางสังเคราะห์ และยางพาราซึ่งสินค้าดังกล่าวข้างต้น มีผลฉุดให้การส่งออกลดลงร้อยละ 4.8
ประธานสภาผู้ส่งออกฯ ยังเห็นว่า หากตัดสินค้าทั้ง5รายการนี้ออกไป เท่ากับว่า การส่งออกจะติดลบน้อยมาก หรือไม่เติบโตซึ่งเป็นไปตามที่สภาผู้ส่งออกฯ คาดไว้ เพราะการค้าในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว และสิ่งที่เอกชนอยากเสนอแนะคือให้รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการผลักดันนโยบายที่สำคัญให้สำเร็จลุล่วง โดยใช้อำนาจอย่างโปร่งใส รวดเร็ว จริงจังและควรเปิดโอกาสให้สาธารณชน สื่อมวลชนและนักวิชาการได้เสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้ายุทธศาตร์การส่งออกในทิศทางเดียวกัน
หม่อมอุ๋ย เผย 6 เดือน ที่ผ่านมารัฐบาลทำ ศก. ขยับจาก 0.6%. ใน Q3/57 เป็น 2.4% ในQ4/57 และดีขึ้นต่อเนื่องใน Q1/58 ระบุได้การเบิกจ่าย - การลงทุนภาครัฐ- ท่องเที่ยวหนุน
หม่อมอุ๋ย เผย 6 เดือน ที่ผ่านมารัฐบาลทำ ศก. ขยับจาก 0.6%. ใน Q3/57 เป็น 2.4% ในQ4/57 และดีขึ้นต่อเนื่องใน Q1/58 ระบุได้การเบิกจ่าย - การลงทุนภาครัฐ- ท่องเที่ยวหนุน ส่วนจีดีพีไตรมาสแรกโต 3% หลังการลงทุนภาครัฐโต 5% รับทุกกระทรวงเร่งอนุมัติลงทุน ยังหวังภาคส่งออกจากนี้เริ่มดีขึ้น แม้ไตรมาสแรกติดลบ4% ยอมรับ จุดอ่อนศก. ยังเป็นเรื่องราคาข้าว-ยาง ที่ตกต่ำ เผย ที่ผ่านมาช่วยเหลือชาวนาโดยให้เงินอุดหนุนครัวเรือน รวมแล้ว 3.88 หมื่นลบ. ชี้ราคายางตกต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลทำเศรษกิจขยับจาก 0.6%. ในไตรมาส 3/57 เป็น 2.4% ในไตรมาส 4/57 และ ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 1/58 ที่ 3.4% สาเหตุมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และ การท่องเที่ยวถึงแม้ว่า 3 เดือนแรกการส่งออกจะติดลบ 4% ก็ตาม โดยเชื่อมั่นว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าการส่งออกจะไม่ติดลบ
"เรามั่นใจว่าจีดีพีไตรมาสแรกจะโตมากกว่า 3% เพราะได้การลงทุนภาครัฐเป็นพระเอก ซึ่งการลงทุนภาครัฐโต 5% หลังรมว. ทุกกระทรวงเร่งอนุมัติลงทุน และ เชื่อว่าไตรมาส 2/58 จะดีขึ้นกว่าที่คาด"
สำหรับ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4% โดยเห็นได้จากตัวเลขการขอขยายโรงงาน การสร้างโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสต่อไปก็จะมีการขออนุญาตเพิ่มเติม ส่วนการส่งออกสินค้ามีการชะลอตัวติดลบ 4% ซึ่งยุโรป และ ญี่ปุ่นก็ติดลบ ส่วนจีนก็ได้กระตุ้นเศรษฐกิจถึง 2 ครั้งจึงเชื่อว่าจะหายติดลบได้ในไตรมาส 1/58 และ ตลาดยุโรปจะมีความความชัดเจนในอีก 3 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาจุดอ่อนเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องราคาข้าว-ยางที่ตกต่ำ โดยรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท ซึ่งรวมเป็นเงินอุดหนุนครัวเรือนรวมแล้ว 3.88 หมื่นล้านบาท โดยตอนนี้ได้เร่งให้ธกส.จ่ายเงินให้กับชาวนาจบภายในเดือนพ.ค.
ส่วนราคายางที่ผ่านมาตกต่ำจากราคาน้ำมันที่ลดลง โดยราคายางเทียมลดลงจากกิโลกรัมละ 80-90 บาท ตอนนี้ราคามาอยู่ที่ 40 บาทรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือในราคา 4.50-5 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบกับ ชาวสวนยางจะมีการปรับปรุงสวนยางเพิ่มเติม โดยรัฐบาลอนุมัติเงินกู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท คิดเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีชาวสวนยางเข้าขอเงินกู้มากกว่า 1 แสนราย และ อนุมัติไปแล้ว 8.7 หมื่นราย โดยธกส.จ่ายเงินไปแล้ว 2.7 หมื่นราย ซึ่งที่เหลือได้เร่งให้ธกส.จ่ายเงินให้หมดภายในเดือนมิถุนายน โดยทางรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ย 3% และ ชาวสวนยางจ่ายดอกเบี้ย 1%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ส่งซิกศก.ไทยส่อเค้าสดใส 'หม่อมอุ๋ย' คาดใช้จ่ายครัวเรือน-ลงทุนรัฐ/เอกชนดีขึ้น
บ้านเมือง : 'หม่อมอุ๋ย'คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสถัดไปจะกลับมาเติบโต และเดินหน้าต่อได้ ระบุการใช้จ่ายภาคครัวเรือนค่อยๆ ดีขึ้น และการลงทุนภาครัฐค่อยๆ ออกมาเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าเกษตรตกต่ำจุดอ่อนเศรษฐกิจไทย มั่นใจอีก 3 เดือนส่งออกดีขึ้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาในการแถลงผลงานรัฐบาล รัฐบาลได้เร่งนัดทุกเรื่องที่นักลงทุนขอมา โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4/57 ขยับขึ้นมาเป็น 2.3%
ส่วนในไตรมาส 1/58 การลงทุนภาครัฐเพิ่มมากขึ้น เร่งนัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนเอกชนยังเดินต่อ มีการเปิดโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้คาดว่า GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะเติบโตได้ 3% หรือมากกว่า 3% แม้การส่งออกจะหดตัว 4% เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเข้ามาช่วยชดเชยได้มาก
โดยการส่งออกสินค้าชะลอตัวลง โดยการส่งออกที่ฉุดในช่วง 3 เดือนเชื่อว่าในอนาคต 3 เดือนถัดไปจะดีขึ้น เศรษฐกิจน่าจะกลับมาโตเหมือนเดิม เศรษฐกิจในไตรมาสถัดไปน่าจะเดินต่อได้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนค่อยๆ ดีขึ้น การลงทุนภาครัฐค่อยๆ ออกมาเพิ่มขึ้น มีการลงนามในสัญญาผูกพันมากกว่าที่ผ่านมา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่า ไตรมาสแรกปีนี้ตัวเลขที่เกิดจริงในเดือน ม.ค.และ ก.พ.และประมาณการเพิ่มเติมเดือน มี.ค.ซึ่งคิดว่าใกล้เคียงมาก พบว่าในไตรมาส 4/57 ตัวเลขที่เร่งมามากคือการลงทุนภาครัฐ และมาเพิ่มแรงมากในไตรมาสที่ 1/58 ก็ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เร่งเต็มที่ขอบคุณกระทรวงมหาดไทยเป็นพิเศษที่เร่งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้การลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกเพิ่มมาเป็น 5% เป็นตัวช่วยในไตรมาสแรกปีนี้
ตัวช่วยที่สองคือการลงทุนภาคเอกชนยังเดินต่อมีการเปิดโรงงานจริงจัง ส่วนการส่งออกสินค้าโลกชะลอตัวจริงๆ เชื่อว่าเมื่อครบ 3 เดือนแล้วคิดว่าภาคส่งออกจะติดลบ 4% แต่คงไม่เป็นอะไรเพราะดูไส้ในเป็นการติดลบกรณีส่งออกของจีน -11% แต่คิดว่าจะหยุดแค่ไตรมาสแรก ส่วนไตรมาสที่ 2 คงไปได้ ส่วนของยุโรปหลังจากที่มีการอัดฉีดเม็ดเงินก็ดีขึ้น ดังนั้นการส่งออกสินค้าจะมีผลกระทบเฉพาะไตรมาสที่ 1 ปีนี้
ส่วนการท่องเที่ยวเป็นพระเอกนางเอกเพิ่มขึ้น 15% เป็นอย่างน้อยเป็นตัวช่วยได้มาก ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดแล้วคาดว่าจีดีพีไตรมาส 1 คงจะขยายตัว 3% หรือมากกว่า 3% ขึ้นไปเป็นการคำนวณอย่างละเอียดแล้ว คิดว่าไตรมาสต่อไปน่าจะเดินต่อได้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มแล้วจะเพิ่มต่อไป การเบิกจ่ายไตรมาสแรกรายจ่ายประจำเป็นพระเอก ส่วนไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณหรือไตรมาส 1 ปีนี้รายจ่ายลงทุนเป็นพระเอก
จุดที่ยังอ่อนอยู่ในเศรษฐกิจของเราคือชาวนาปลูกข้าวและเรื่องของสวนยางเพราะพืชสองตัวนี้เป็นพืชที่ราคาไม่ขึ้นเลย กลับราคาลงด้วยซ้ำไปเทียบปีก่อนราคาลงพอควรลักษณะนี้เราจำเป็นต้องช่วยเหลือ
"ภาพรวมเศรษฐกิจใน 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลขับเคลื่อนจริงจัง ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 ของปีที่ 0.6% มาเป็น 2.4% ในไตรมาสที่ 4 จากการเร่งขยายงบประมาณ ส่วนไตรมาสแรกปีนี้เป็นการเติบโตจากการเร่งอนุมัติงบลงทุน การอนุมัติโรงงานยังเดินต่อไป เอกชนขยายการลงทุนต่อไปอย่างชัดเจน การท่องเที่ยวเป็นส่วนที่ช่วยประเทศได้มากคิดว่าในอนาคตต่อจากนี้ไปการส่งออกที่ฉุดเราใน 3 เดือนแรกของปีนี้ใน 3 เดือนต่อไปน่าจะดีขึ้นถ้าการส่งออกกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไรเศรษฐกิจก็จะโตได้ดีขึ้น"
ทั้งนี้ รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนัก และได้พยายามขับเคลื่อน ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2557 กลับมาขยายตัวสูงถึง 2.3% จากไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 0.6% ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ขยายตัวมากถึงประมาณ 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าไตรมาส 1 ปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3% จากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวประมาณ 5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4% แม้ว่าการส่งออกจะติดลบประมาณ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยุโรป และญี่ปุ่นยังชะลอตัว แต่เชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้โดยมีรายจ่ายประจำของภาครัฐ การท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยยอมรับว่า จุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยคือปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าวและยางพาราซึ่งรัฐบาลได้เร่งแก้ไขเป็นมาตรการเร่งด่วนแล้ว ด้านการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยได้ชดเชยไร่ละ 1,000 บาท การช่วยเหลือเกษตรที่งดการปลูกข้าวนาปรังการจ่ายเงินช่วยเหลือภัยแล้ง ส่วนการช่วยเหลือชาวสวนยางได้จ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท การให้เงินกู้หมุนเวียนเพื่อซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร และการให้เงินสินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงสวนยาง ซึ่งปัจจุบันยื่นขอกู้มาแล้วกว่า 1 แสนราย โดยรัฐบาลจะเร่งรัดเบิกจ่ายภายในเดือนมิถุนายนนี้
'หม่อมอุ๋ย'เชื่อไตรมาส 2-3 ดีดตัว เท3พันล.แก้แล้ง-ปล่อยกู้อุ้มยาง
แนวหน้า : ม.ล.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย คาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ ว่า น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ เนื่องจากมี 3 ปัจจัยเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การลงทุนของภาครัฐในโครงการต่างๆ อาทิ การสร้างถนน สร้างโรงเรียน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นตัวสำคัญในไตรมาสที่ 2 ให้โตเพิ่มขึ้นถึง 5 % , การลงทุนของเอกชนที่ยังขยายตัวต่อไปในอัตรา 4% และการส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยว รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15% แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นเพียงการประมาณการณ์แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงที่สุด
ขณะที่การส่งออกสินค้าแม้จะติดลบ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและต่างชาติลดกำลังซื้อ แต่การลงทุนภาครัฐการ ภาคเอกชน และการส่งออกบริการ เพิ่มสูงขึ้นก็ดุลยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ลดลงไปได้ โดยรวมแล้วเชื่อว่าทำได้สูงกว่า 3% และเชื่อว่าพอถึงไตรมาสถัดไปจะดีขึ้น เนื่องจากจีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยมาถึง 2 ครั้ง และยุโรปได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มมาตรการ QE เข้ามาในระบบ 3 เดือนติดต่อกันแล้ว
"โดยภาพรวมแล้วยอดการส่งออกสินค้าคงไม่ลดลงอีก และถ้าปัจจัยอื่นๆ เช่นการลงทุนภาครัฐภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ยังขยายตัวต่อไป เนื่องจากมีแรงส่งจากนักท่องเที่ยวยุโรป อันเรื่องมาจากการยกเลิกกฎอัยการศึก เชื่อว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่" ม.ล.ปรีดิยาธร กล่าว
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้มายื่นขอ รง.4 กว่า 4-5 พันโครงการ เป็นเงินลงทุนกว่า 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเกิดอัตราการจ้างงานประมาณ 2 แสนอัตรา โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติไปแล้วประมาณ 3,500 โรงงาน ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จนถึงมีนาคมปีนี้ เป็นเงินลงทุนกว่า 3.5 แสนล้านบาท เกิดอัตราการจ้างงานทั้งสิ้น 1.3 แสนอัตรา ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมนิคมอุตสหกรรมอีกประมาณ 5 หมื่นกว่าล้าน หากรวมกันจะมียอดลงทุนทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้านบาท และมีการจ้างงานประมาณ 1.3-1.4 แสนอัตรา
นอกจากนี้ ยังได้มีการอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่อีก 195 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 4.4 หมื่นล้านบาท และหากคำนวณแร่ที่เกิดจากการลงทุนที่อนุมัติไปจะมีเม็ดเงินสะพัดอีกกว่า 2 แสนล้านบาท
ขณะที่ นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวนาและชาวสวนยางว่า ในส่วนของมาตรการแรกที่เข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับข้าวคือ มาตรการเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้จ่ายเงินให้ไปแล้ว 3 ล้าน 5 แสนครัวเรือน วงเงิน 38.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางอ้อมอื่นๆ เช่น การจ้างเพื่อปรับปรุงระบบการชลประทาน การฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร การสนับสนุนให้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่พยายามช่วยเหลือชาวนาในเรื่องของราคาพืชผลที่ตกต่ำ
นายปิติพงษ์ กล่าวอีกว่า แต่ปัญหาอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้รัฐได้มีมาตรการให้การช่วยเหลือแล้ว โดยจะใช้เงินเข้าช่วยเหลือตำบลต่างๆ จำนวน 3,051 ตำบล เพื่อให้ไปปรับปรุงพื้นที่ อาชีพ และผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการจ่ายเงินไปแล้วกว่า 6,590 กว่าโครงการ วงเงินกว่า 3 พันล้านบาท แต่จากสถิติ 51% ของตำบลเหล่านี้อยากได้เงินไปพัฒนาแหล่งน้ำของตัวเอง
ส่วนของยางพารา ได้มีการแก้ไขปัญหาระยะสั้นซึ่งพยายามอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท เช่นเดียวกัน โดยอนุมัติจ่ายไปแล้ว 767,000 ครัวเรือน เป็นเงินกว่า 7 พันล้านบาท นอกจากนี้พยายามที่จะให้สหกรณ์มีบทบาทในการช่วยเหลือราคายางมากขึ้น ด้วยการให้เงินกู้หมุนเวียนเพื่อซื้อยางแก่สถาบันเกษตรกร วงเงินหมื่นล้านบาท เบิกไปแล้ว 3 พันกว่าล้านบาท ซึ่งในส่วนของสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างระยะยาวสำคัญที่สุด โดยเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อรายละไม่เกิน 1 แสนบาท โดยมีการยื่นขอกู้แล้วถึง 1.1 แสนราย และมีการอนุมัติปล่อยกู้ไปแล้วจำนวนหนึ่ง
ทั้งหมดนี่ เป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ในช่วงระยะเวลาต่อไปนี่เราคงจะต้องมีการปรับโครงสร้าง ในการพัฒนาการเกษตรให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อทำให้ความมั่นคงในแง่ของรายได้ของเกษตรกรมีมากขึ้น
"ถามว่า โครงการทั้งหมดนี้มีผลหรือไม่ เท่าที่เราสำรวจ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 1-7 มีนาคม เทียบกับปีที่แล้ว รายได้สุทธิของเกษตรกร ลดลงไปประมาณ 600 บาท ต่อครัวเรือน ถ้าเผื่อโครงการ 3 พันกว่าล้านที่ช่วยพื้นที่ภัยแล้งมีประสิทธิภาพ แล้วเอาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเชื่อว่าส่วนต่างตรงนี้จะลดลงไปอีก แล้วตอนนี้ก็ใกล้จะถึงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่แล้ว โครงการต่างๆ ก็จะทำให้รายได้ของเกษตรกรน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง" นายปิติพงษ์ กล่าว