- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Monday, 23 March 2015 21:54
- Hits: 2766
สภาอุตฯนัดประชุมใหญ่/แนะรัฐกระตุ้นศก. จี้บิ๊กตู่ฟื้นความเชื่อมั่น
แนวหน้า : 'ประยุทธ์'ปาฐกถาเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนวันที่ 23 มี.ค.นี้ ขณะที่เอกชนรอฟังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ-กำลังซื้ออย่างไร หลังตัวเลขแนวโน้มส่งออก-จีดีพี ปีนี้คาดว่าจะออกมาไม่สดใสนัก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นัดประชุมใหญ่ของสมาชิก ส.อ.ท.ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 มี.ค.2558นี้ พร้อมเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ในการประชุมใหญ่ส.อ.ท. นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย” ขณะที่ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม จะกล่าวถึงทิศทางอุตสาหกรรมไทยในปี 2558 เพื่อให้สมาชิกส.อ.ท.ทั่วประเทศ ได้รับทราบข้อมูลว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการในการสนับสนุนเอกชนอย่างไร ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้เอกชนก็เชื่อมั่นในผลงานรัฐบาลที่กำลังระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินออกมากระจายรายได้ ซึ่งการประชุมใหญ่ของสมาชิกส.อ.ท.ครั้งนี้ ยิ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการอีก เพราะจะได้มาฟังสดจากนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรมเองว่า รัฐบาลกำลังจะทำอะไร หรือทำอะไรไปแล้วบ้าง”นายสุพันธ์กล่าว
ขณะที่ส.อ.ท.คงจะไม่เสนออะไรเพิ่มเติมมากนัก เพราะที่ผ่านมาก็ได้เสนอไปมากแล้ว และหลายมาตรการก็ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล โดยเฉพาะแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก”
นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 58 ที่ล่าสุดมีโครงการลงทุนต่าง ๆ ลงนามในสัญญาแล้ว 148,0000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33% ของรายจ่ายงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำสัญญาที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าจะเห็นได้ชัดว่ามาตรการนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใดในไตรมาส 2 (เม.ย. - มิ.ย.2558) นี้ ซึ่งขณะนี้ทางภาคเอกชน ก็กำลังลุ้นว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของภาคประชาชนได้เท่าไร
สำหรับ ภาคการส่งออก โดยส่วนตัวมองว่า จะขยายตัว 1.1 -1.5 % เนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศ 100 % เพราะคู่ค้าหลักๆ ในประเทศต่างๆ เศรษฐกิจยังขยายตัวไม่ดีนัก ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง
ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประเมินว่า จะขยายตัว 3.5 % ต่ำกว่าที่ภาครัฐมองว่า 3.8-4 % โดยปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวของจีดีพี ไม่ใช่การส่งออก แต่เป็นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 14 % และมาตรการกระตุ้นการเบิกจ่าย การลงทุนของภาครัฐ และเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมาย
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของ จีดีพี ของไทยปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.8 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4 ขณะที่คาดว่า การส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 0.8 จากเดิมร้อยละ 1 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 โตต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศ จึงทำให้แรงส่งในปีนี้ลดลงด้วย ประกอบกับความเชื่อมั่นของประชาชนและนักธุรกิจในช่วง 2 เดือนแรกของปีชะลอลง ส่งผลเอกชนชะลอการลงทุน / การใช้จ่ายภาครัฐทำได้ล่าช้า / และมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากยังเชื่อว่าในแต่ละไตรมาสจีดีพียังขยายตัวได้