WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aกกร7

กกร. คงเป้า GDP 2.75 – 3.5 % กังวลค่าไฟกระทบค่าครองชีพ ต้นทุนอุตสาหกรรมพุ่ง

 

สรุปประเด็นแถลงข่าว คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกันยายน 2565

  •       เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด ประมาณการเติบโตของจีดีพีในประเทศสำคัญๆทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง โดยที่เศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของหลายประเทศต่างอยู่ในระดับสูงเป็นภาวะ stagflation

            นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจ โลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มีเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ล่าสุดเป็นการระงับส่งก๊าซชั่วคราวของรัสเซียซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤตพลังงานในยุโรป ปัญหาด้าน supply chain ในประเทศจีนจากการขาดแคลนพลังงานที่มีเหตุจากภัยแล้ง รวมถึงการล็อกดาวน์ที่ทำให้มีผลลบต่อภาคการผลิต ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งต้องติดตามเพื่อประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของ ไทยในระยะข้างหน้า

  •        แรงกดดันเงินเฟ้อยังสูงขณะที่ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในเดือนกันยายน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เพิ่มแรงกดดันต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศ นอกจากนี้ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงภายหลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อจากแนวโน้มส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินบาทกับดอลลาร์ที่จะมีมากขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตลดลง
  •       การท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจนขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1.12 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 – 10 ล้านคน และในระยะข้างหน้ายังจะได้อานิสงส์จากการขยายเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน ประกอบกับยังมีแรงหนุนกำลังซื้อจากมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางภาวะความเสี่ยงหลายประการ อย่างไรก็ดีต้องติดตามการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าเดิม
  •       ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมาแต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัวอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 6.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5% ถึง 7.0%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.

%YoY ปี 2565

(ณ ก.ค. 65) ปี 2565

(ณ ส.ค. 65) ปี 2565

(ณ ก.ย. 65)

GDP 2.75 ถึง 4.0 2.75 ถึง 3.5 2.75 ถึง 3.5

ส่งออก 5.0 ถึง 7.0 6.0 ถึง 8.0 6.0 ถึง 8.0

เงินเฟ้อ 5.0 ถึง 7.0 5.5 ถึง 7.0 5.5 ถึง 7.0

 

  • ที่ประชุมกกร. มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

            1. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาท เป็น 4.72 บาท/ หน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20 – 30 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด

            2. การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

            3. ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง

       ที่ประชุมกกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบในการปรับขึ้นปัจจัยต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการประกอบการดังกล่าว

  • เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย มีกฎหมายใหม่ 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ได้แก่

            1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอีเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถติดต่อ และยื่นเอกสาร / คำร้องต่างๆ ทางอีเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาครัฐ

            2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ที่เปลี่ยนความผิด ที่เป็นคดีอาญาให้ไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป ทำให้ประชาชนที่ทำความผิดเล็กน้อย ยังถูกลงโทษปรับ แต่ไม่นับเป็นคดีอาญาและไม่มีประวัติอาชญากรรม

      ​นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่จะปรับปรุงการขออนุญาตต่างๆ ​กกร.ขอขอบคุณรัฐบาล และรัฐสภา ที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม

 

 

ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2565

     “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด”

       นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิชาการเศรษฐกิจ) สูง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด”โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

      เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 15.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 21.1 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 16.4 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -5.5

ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 10.7 สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -3.9 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.4 จากระดับ 41.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

            เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกรกฎาคม 2565 ลดลงจากจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -5.1 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -6.9 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 25.4 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.6

สำหรับ การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.3 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.8 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.5 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.8

      มูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.1

โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.6 โดยเฉพาะน้ำตาลทราย  ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าว และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวร้อยละ 258.8 35.5 21.5 และ 16.4 ตามลำดับ 2) สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.1 อาทิ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่ขยายตัวร้อยละ 34.6 และ 25.5 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย ตะวันออกกลาง อาเซียน 9 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 33.3 27.4 22.6 และ 4.7 ตามลำดับ   

      เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกรกฎาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 1.12 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6,126.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.8

โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 16.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1,818.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.4 ขณะที่ภาคเกษตร

สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.1 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -3.2 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดไม้ผลและหมวดปศุสัตว์ชะลอตัว สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.0 จากระดับ 86.3 ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงค่าขนส่งที่ยังเพิ่มขึ้น

      เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.61 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.99 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 61.1 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.56 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 220.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!