- Details
- Category: สภาอุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 02 November 2014 21:48
- Hits: 4518
ส.อ.ท.จับมือ 3 หน่วยงานวางมาตรการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน
บ้านเมือง : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมประชุมขยายผลนโยบายการให้ SME เป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม
สืบเนื่องจากที่ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมฯ ได้นำเสนอถึงความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาอุปสรรคของการพัฒนา SMEs ไทย ต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบ และที่ประชุมได้มีมติให้นโยบาย SME เป็นวาระแห่งชาติแล้วนั้น
โดยหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุน SME ได้แก่ ส.อ.ท., สสว., SME BANK และ บสย.ได้หาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริม รวมถึงการลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้กับ SME อีกทั้งเดินหน้ายกระดับ SME พร้อมขยายผลนโยบายการให้ SME เป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้วางกรอบแนวทางการส่งเสริม SME ของไทยออกเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
ในเบื้องต้นได้มีแผนงานการส่งเสริม SME ออกมาเป็นรูปธรรมในระยะสั้น โดยได้นำเสนอมาตรการขับเคลื่อน SMEs ระยะเร่งด่วนของ 4 หน่วยงาน ซึ่งเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของการลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสภาพคล่องและช่วยให้ SME สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ดังนี้
1.การสนับสนุนทางการเงินให้กับ SME ที่ต้องการสภาพคล่องหรือขยายกิจการ
1.1 ส.อ.ท.ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน อาทิ SME Bank โดย ส.อ.ท.จะคัดกรองสมาชิกที่เป็น SME ที่มีความต้องการทางการเงินให้สามารถเข้าสู่ระบบการให้บริการสินเชื่อของ SME Bank โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อ 9 เมนูคืนความสุขให้ SMEs (วงเงิน 19,000 ล้านบาท) ให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคาร SME BANK กล่าวว่า ปัจจุบันมี SMEs ยื่นขอเข้าร่วมโครงการสินเชื่อ 9 เมนูคืนความสุขให้ SME แล้วจำนวน 5,200 ราย วงเงินรวม 9,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันพบว่า SMEs ส่วนใหญ่ที่ยื่นขอกู้นั้นมีความต้องการสินเชื่อส่วนใหญ่ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท ซึ่งมองว่าการเร่งผลักดันดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และการเพิ่มจำนวนให้กู้ยืมโดยให้ใบอนุญาตกับผู้ที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถให้ SMEs กู้ยืมในลักษณะ Nano หรือ Micro Finance วงเงิน 100,000 บาทนั้น ยอมรับว่าเป็นแนวทางที่ดี ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีรายย่อยมีทางเลือกทางการเงินได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากโครงการดังกล่าวผ่านไปได้ด้วยดี อยากเสนอแนะให้กระทรวงการคลังสานต่อนโยบายดังกล่าว เช่น นำเงินมาฝากกับ SME BANK เพื่อให้ปล่อยกู้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินเอกชน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในการจัดโปรแกรม SMI Fast Track ให้บริการกับ SME (วงเงิน 16,000 ล้านบาท) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับ SME ให้สามารถเลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสม
1.2 Policy Loan เป็นแนวทางที่ต้องอาศัยนโยบายภาครัฐในการสนับสนุน โดยจะขอให้หน่วยงานทางภาครัฐที่มีเงินฝากกระจายอยู่ตามสถาบันการเงินต่างๆ นำเงินมาฝากหรือให้กู้กับสถาบันการเงินของรัฐโดยให้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาปล่อยกู้ให้กับ SME ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงนัก เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้ SME มีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่หรือต่างประเทศได้ จึงจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่สูง และให้สถาบันทางการเงินของรัฐผู้บริหารจัดการเพื่อให้เกิดความมั่นใจของเจ้าของแหล่งเงิน และสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสมได้
ทั้งนี้ SME ที่จะขอกู้ในโครงการ Policy Loan ได้นั้นจะต้องเป็น SME ที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองหรือเรียกว่า SME National Champion จากองค์กรที่เป็นหน่วยร่วม เช่น ส.ส.ว. ธพว. บสย. และ/หรือ ส.อ.ท. โดยจะมีการจัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือก SME National Champion ร่วมกันเพื่อให้ SME ที่มีศักยภาพ แต่ต้องประสบปัญหาอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูง ทำให้ไม่สามารถขยายกิจการหรือสามารถแข่งขันได้ แต่มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนต่ำกว่าตลาด เพื่อใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป
ซึ่งทั้ง 4 องค์กร คาดหวังว่าการมีเกณฑ์ในการคัดเลือก SME National Champion จะเป็นแรงจูงใจให้ SME เข้าสู่ระบบและปรับปรุง, พัฒนาตนเองให้สามารถผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้เป็น SME National Champion เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางการเงินและเข้าสู่กระบวนการ, โครงการการส่งเสริมพัฒนา SME อื่นๆ ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญยังช่วยให้เจ้าของแหล่งเงินทุนมีความมั่นใจในตัวลูกค้าว่ามีคุณภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต้นแบบ คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลในวงกว้างต่อไป โดยในส่วนนี้ SME Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐได้ขานรับและมีความพร้อมในการดำเนินงานหากมีนโยบายมอบหมายลงมา
1.3 การช่วยเหลือ SME ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และซอฟท์แวร์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เนื่องจากสถาบันการเงินไม่สามารถประเมินมูลค่าของนวัตกรรมเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่เกื้อกูลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หากรัฐบาลให้การสนับสนุน
1.4 เพิ่มจำนวนผู้ให้กู้ยืมโดยให้ใบอนุญาตกับผู้ที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถให้ SME กู้ยืมในลักษณะ Nano หรือ Micro Finance ได้อย่างถูกกฎหมายและมีการกำกับติดตามอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรม จะช่วยให้ SME มีทางเลือกทางการเงินที่ถูกกฎหมายมากยิ่งขึ้น
1.5 ปรับปรุงเงื่อนไขที่เกี่ยวกับนิติบุคคลร่วมทุน (Venture Capital) ใน พ.ร.ฎ.ฉบับที่ 396 และอื่นๆ อาทิ การจดทะเบียนกับ ก.ล.ต.สัดส่วนการร่วมทุน เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทรายอื่นสามารถดาเนินการร่วมลงทุนกับ SMEs ได้ง่ายขึ้น
1.6 ผลักดัน พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ให้มีผลออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีการร่างไว้นานแล้ว ซึ่งหากสามารถผลักดันให้เป็น พ.ร.บ.และมีผลบังคับใช้ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ SME สามารถมีหลักประกันทางทรัพย์สินได้หลากหลายขึ้น
1.7 สนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันเงินกู้ (Credit Guarantee) ของ บสย.และแก้ไขกฎหมายของ บสย.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้สามารถให้การค้ำประกันแหล่งทุนของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ทั่วถึง
2.ปรับปรุง/แก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงิน
2.1 กำหนดหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน โดยกำหนดเป็นหน่วยงานด้านนโยบาย (Policy Maker), หน่วยปฏิบัติ (Implementer) และหน่วยงานสนับสนุน (Support Service Provider)
2.2 แก้ไขนิยามของ'วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม'ให้เป็นนิยามเดียวกันทุกหน่วยงานโดยนิยามให้กว้างที่สุด เพื่อความสะดวกในการให้บริการ
2.3 จัดทำโครงสร้างส่งเสริมผู้ประกอบการตาม Life Cycle (กลุ่ม Pre-Start Up, กลุ่ม Start-up Growth, Go-Global, Turnaround)
2.4 แก้ไขกฎหมายย่อยของหน่วยงานต่างๆ โดยให้ครอบคลุมถึงวิสาหกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเดิมๆ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการ: สหกรณ์ การบริการ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มนิติบุคคลที่มีสมาชิกอย่างน้อยกึ่งหนึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ซึ่งจากแนวทางการดำเนินเหล่านี้ทั้ง 4 องค์กร จะนำไปปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และในส่วนที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายจะได้มีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงการคลัง และรัฐบาลผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และพร้อมเดินหน้าแผนระยะกลาง และระยะยาวในการผลักดันให้เกิดมาตรการในการช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนออกมาเป็นรูปธรรมต่อไป