- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Wednesday, 03 January 2018 07:05
- Hits: 5264
ม.หอการค้าไทย คาดยอดใช้จ่ายปีใหม่ 61 สะพัดกว่า 1.32 แสนลบ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า ในภาพรวมคาดว่าประชาชนทั่วประเทศจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับในช่วงปีใหม่นี้อยู่ที่ประมาณ 132,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการสำรวจมาในรอบ 13 ปี โดยแบ่งเป็น การใช้จ่ายของประชาชนในกรุงเทพฯ 64,292 ล้านบาท และการใช้จ่ายของประชาชนในต่างจังหวัด 67,757 ล้านบาท แต่ทั้งนี้หากรวมการใช้จ่ายที่ได้เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ, โครงการ "รวมใจ เพิ่มสุข ช็อปสนุก ลดรับปีใหม่" และมาตรการอื่นๆ เช่น เที่ยวช่วยชาติ ก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้รวมทั้งสิ้น 159,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4%
ทั้งนี้ หากแยกเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับตัวเองจะพบว่า 3 อันดับแรกที่ประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายมากสุด คือ การทำบุญ รองลงมา คือ ท่องเที่ยว และจัดเลี้ยงสังสรรค์ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อของขวัญให้ผู้อื่นนั้น พบว่าของขวัญยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ เงินสด/เช็คของขวัญ รองลงมา คือ การรับประทานอาหาร และกระเช้าของขวัญ
ส่วนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 83.5% ยังเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่อีก 16.5% เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวประเทศในแถบเอเชียสูงสุด รองลงมา คือ ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จะเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดภาคกลางสูงสุด รองลงมาคือ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดในภาคเหนือ โดยสถานที่ประชาชนเลือกจะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศมากสุด คือ ภูเขา รองลงมา คือ ทะเล, น้ำตก, โบราณสถาน เป็นต้น
สำหรับ การใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยว หากเป็นการท่องเที่ยวในประเทศจะเฉลี่ยคนละ 13,960 บาท แต่หากเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 60,135 บาท โดยแหล่งที่มาของเงินสำหรับการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ รองลงมา คือ โบนัส/รายได้พิเศษ และเงินออม ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 38% ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ให้เพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง
จากการสำรวจยังพบว่าสิ่งที่ประชาชนแสดงความเป็นห่วงมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.อุบัติเหตุบนท้องถนน 2.บริการขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ 3.ปัญหาการจราจร 4.ปัญหาการก่อการร้าย และ 5.ความปลอดภัยของที่พักค้างแรม
ทั้งนี้ สำหรับนักการเมืองที่ประชาชนต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยมากที่สุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองลงมา คือ นายชวน หลีกภัย อันดับสาม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และอันดับสี่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนนักแสดงที่ประชาชนอยากให้ของขวัญมากที่สุด คือ ณเดชน์ คูกิมิยะ, ญาญ่า อุรัสยา ขณะที่นักร้องที่ประชาชนอยากให้ของขวัญมากที่สุด คือ ตูน บอดี้สแลม และดา เอ็นโดรฟิน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 1.32 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับแต่มีการสำรวจมาในรอบ 13 ปี ซึ่งแม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจะไม่สูงมากนักเพียงแค่ 2.1% เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว ทำให้ได้เริ่มเห็นการซื้อสินค้าคงทน และสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าการจับจ่ายใช้สอยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 61
"เรามองว่า ปีนี้บรรยากาศชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 4% มีความเป็นไปได้แน่นอน เพราะมีการซื้อสินค้าในจำนวนชิ้นที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทั้งสินค้าคงทน สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเชื่อว่าการใช้จ่ายและกำลังซื้อของประชาชนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในภายในปลายไตรมาส 2 ปีหน้า" นายธนวรรธน์ระบุ
อินโฟเควสท์
เกาะติดเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจไทยปี 2561 : จุดเริ่มต้นของความรุ่งเรือง? (1)
ไทยโพสต์ : ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และรองอธิการบดีฝ่ายอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ปี 2560 ซึ่งกำลังจะผ่านพ้นไปอีกไม่กี่วันข้างหน้า เป็นปีที่คนไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสลับไปมาตลอดทั้งปี นักวิเคราะห์ นักวิจัยด้านเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนมุมมองและการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหลายครั้งหลายครา และในที่สุดใกล้สิ้นปี กูรูด้านเศรษฐกิจก็ลงความเห็นคล้ายๆ กันว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว และกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีอาการซึมตัวมานานหลายปี ทำให้ทุกคนยังมีความกังวลว่าปีหน้าฟ้าใหม่ ปี 2561 เศรษฐกิจโลกจะยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจริงหรือไม่ และเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะฟื้นตัวแบบกระจายให้คนไทยทุกคนได้รับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
เริ่มต้นของการเหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทยด้วยการเหลียวหลังตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจไทยในรอบปี 2560 ที่กำลังจะหมดไปกันก่อนดีกว่านะครับว่าเป็นอย่างไร เริ่มต้นด้วยข้อเท็จจริงและข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1-3 ของปีนี้ขยายตัว 3.3%, 3.7% และ 4.3% ตามลำดับ หรือขยายตัวเฉลี่ย 3.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี เรียกได้ว่าหักปากกาเซียนทุกราย เพราะในช่วงต้นปีไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เกิน 3.5% โดยเฉพาะตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัว 4.3% ก็ไม่มีใครคิดเลยว่าจะสูงถึงขนาดนี้ ส่งผลให้ทุกหน่วยงานต้องปรับตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยส่วนใหญ่ปรับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยให้อยู่ในระดับ 3.8-3.9%
ทำไมเศรษฐกิจไทยถึงเติบโตแรงขึ้น ในระยะหลังๆ นี้ แม้ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่ายอดขายสินค้าและบริการยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร และมนุษย์เงินเดือนยังรู้สึกว่าเงินทองนั้นหาได้ไม่คล่องตัวมากนัก คงต้องตอบด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันว่า เป็นเพราะเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งจากการส่งออกสินค้าและบริการ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศในตราสารหนี้และตราสารทุน ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ จากการที่เงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 35.5-36.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 35.5-36.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าในรอบปีนี้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด มูลค่าส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 21,435 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 13.4% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 58 เดือน และยังเป็นการเติบโตเกิน 2 หลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 11 เดือนของปีนี้ขยายตัวประมาณ 10.0% สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่หักปากกาเซียนอย่างมาก เพราะในช่วงต้นปีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2-3% และได้มีการปรับตัวเลขคาดการณ์ให้สูงขึ้นหลายครั้ง จนล่าสุดตัวเลขการคาดการณ์การส่งออกในปีนี้อยู่ที่ระดับ 8-10% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกปี 2561 จะขยายตัว 6-6.5% โดยมีมูลค่าจะอยู่ที่ประมาณ 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับตั้งแต่นี้เราอาจกลับเข้ามาสู่ยุคทองของการส่งออกอีกครั้งหลังจากที่การส่งออกของไทยขยายตัวในระดับต่ำตั้งแต่ปี 2555-2559 คือขยายตัว +2.9%, -0.3%, -0.5%, -5.8% และ +0.5% ตามลำดับ
การส่งออกได้กลายเป็นพระเอกที่ช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2560 และจะเป็นพระเอกคู่กับการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาครัฐในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 4% และเติบโตแบบกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทั้งประเทศในปี 2561
สำหรับ การเหลียวหลังแลหน้าเศรษฐกิจไทยในส่วนของการแลหน้าและคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่าจะเป็นอย่างไร แจ่มใสแค่ไหนนั้น คงต้องเริ่มต้นด้วยการ SWOT Analysis หาจุดอ่อนจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย และโอกาสกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจโลกในปี 2561 เสียก่อน
เริ่มต้นด้วยการหาปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะประกอบด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเด่นชัดขึ้นจะส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย การลงทุนของภาครัฐขนาดใหญ่โดยเฉพาะ Mega Projects และการลงทุนในพื้นที่ EEC การเมืองไทยมีเสถียรภาพ อีกทั้งจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีหน้า อัตราดอกเบี้ยไทยและโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ และราคาน้ำมันที่อยู่ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันคือไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยลบมีความน่าจะเกิดขึ้นไม่มากนักเช่น เศรษฐกิจโลกมีปัญหาและชะลอตัวลงอีกครั้ง การเกิดสงครามระหว่างประเทศ การก่อการร้ายขนาดใหญ่ที่สร้างความกลัวต่อคนทั้งโลก ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลก และราคาพืชผลทางการเกษตรทรุดตัวต่ำลง เป็นต้น
ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจในไทยได้มองเหมือนๆ กันว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีนี้ โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวเท่ากับปีนี้ หรือสูงกว่าเล็กน้อยประมาณ 3.8%-4.0% เพราะยังเห็นว่าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่มาก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าปีนี้อย่างชัดเจนโดยขยายตัวประมาณ 4.1%-4.5% เพราะเชื่อว่าความเสี่ยงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก
สำหรับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลังจากการบวกลบคูณหารหักกลบลบหนี้แล้วเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในระดับ 4.2%-4.5% และยังเชื่ออีกว่าปี 2561 จะเป็นปีเริ่มต้นของความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง คุยกันต่อในฉบับหน้านะครับ.