WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CBธนวรรธน พลวชย copy copyม.หอการค้าฯ เผย ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค.60 อยู่ที่ 74.5 เพิ่มขึ้นจาก 73.9 ในก.ค.60 เล็งปรับเป้าจีดีพีเป็นโต 3.8% ต.ค.นี้

     ม.หอการค้าฯเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค.60 อยู่ที่ 74.5 เพิ่มขึ้นจาก ก.ค.60 ที่ 73.9 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อศก.โดยรวมส.ค.60 อยู่ที่ 62.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 62.2 ชี้ศก.ไทยจะฟื้นตัวชัดเจนใน Q4/60 เตรียมปรับเป้าจีดีพีปี 60 เป็นโต 3.8% จากเดิม 3.5-4% ในเดือนต.ค.นี้ ส่วนส่งออกคาดโต 5%

      นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 74.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 73.9 ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่อยู่ที่ 62.2 

     สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการประกาศตัวเลขของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในไตรมาส 2 ที่จีดีพีขยายตัวได้ 3.7% สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2556 ซึ่งมีแรงส่งจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริการ รวมถึงการลงทุนเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 3.5% นอกจากนี้สศช.ยังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้สูงขึ้นเป็น 3.5-4% โดยมีค่ากลางที่ 3.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.3-3.8% โดยมีค่ากลางที่ 3.5% 

       ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ยังมีมติเห็นชอบคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่ 7% ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ ออกไปอีก 1 ปี เพื่อลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ยังมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าและบริการขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่กระจายตัว

     อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม เช่น สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่งผลกระทยในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภครู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น 

       ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต 

      “การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนั้น จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดในไตรมาส 4 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 3.5-4% ได้ในปีนี้”นายธนวรรธน์ กล่าว

      นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนตุลาคมนี้ ศูนย์วิจัยฯจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้อีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.8-4% หรือเฉลี่ยที่ระดับ 3.8% โดยมองว่า ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8% และไตรมาส 4 ที่ระดับ 4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเร่งเบิกจ่ายลงทุนของภาครัฐที่จะมีอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ยังคงมองกรอบที่ 0.7-1% โดยเชื่อว่าการปรับขึ้นของราคา แอลพีจี ไม่น่าจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะที่การส่งออกปีนี้มองว่าจะขยายตัวได้อย่างน้อย 5% ขึ้นไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!