- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Tuesday, 13 May 2014 21:46
- Hits: 4295
ส่งซิก ศก.ไทยโตไม่เกิน 1% เอกชนห่วงการเมืองยืดเยื้อรุนแรงซัดถล่ม
บ้านเมือง : นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนหลังพิงฝา และขอให้ทุกคนทำใจยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายได้ไม่เกิน 1% เพราะการท่องเที่ยวและการส่งออกไม่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยมากนั้น ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ว่าจะยืดเยื้อและรุนแรงหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.57 จะไม่เกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้งแต่ส่วนตัวมั่นใจว่าปีหน้าประเทศไทยจะต้องมีรัฐบาลใหม่อย่างแน่นอน และจะหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ส่วนการชุมนุมใหญ่ของ กปปส.และ นปช. เชื่อว่า ทาง นปช.ไม่อยากให้เกิดการเผชิญหน้าของมวลชน เพราะจะเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดรัฐประหาร
นายพรศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวคิดที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกว่า ขอให้ทางแบงก์ชาติ คิดให้ดี เพราะมองว่าการลดดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจทำให้คนบางคนจนลงอีกเพราะแบงก์อาจลดดอกเบี้ยเงินฝาก
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์การเมืองเป็นหลัก เพราะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจ หากไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ ยืดเยื้อจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นห่วงว่าจะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2 และการไม่มีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนอาจทำให้ภาพลักษณ์ประเทศในสายตานักลงทุนมีความเชื่อมั่นลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน
ทั้งนี้ หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อต่อไป ธนาคารได้เตรียมปรับลดเป้าสินเชื่อลงอีกจากที่เคยปรับลดลงมาแล้วเมื่อช่วงต้นปี โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 10-15% จากปีก่อนขยายได้ 25% เพราะคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะยังไม่ดีขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 สินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีจึงลดลง ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการใช้งบประมาณของภาครัฐ แต่รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการจึงทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ.
แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบรายจ่ายรวม 7 เดือนของปีงบ 2557 (1 ตุลาคม 2556-30 เมษายน 2557) อยู่ที่ 1.423 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56.36% ของงบรายจ่ายรวม (2.525 ล้านล้านบาท) และยังสูงกว่าเป้าหมาย 2.36% จากกรอบงบประมาณจ่ายรวมปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท เป็นงบประจำ 2.096 ล้านล้านบาท และงบลงทุน 4.28 แสนล้านบาท ตั้งเป้าสัดส่วนเบิกจ่ายภาพรวมทั้งปีไว้ไม่น้อยกว่า 95% และงบลงทุนไม่น้อยกว่า 82%
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงเดือนเมษายน 2557 แยกเป็นรายจ่ายประจำ วงเงิน 1.249 ล้านล้านบาท คิดเป็น 59.59% และรายจ่ายลงทุน 1.738 แสนล้านบาท คิดเป็น 40.58% ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 5.92% และนับเป็นเดือนแรกที่ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า โดยเฉพาะโครงการลงทุนระดับเกิน 1 พันล้านบาท (วงเงินรวม 7.33 พันล้านบาท) ที่ยังต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลใหม่พิจารณา
ขณะที่ผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนโครงการระดับเกิน 1 พันล้านบาทได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังเบิกจ่ายล่าช้าต่ำสุด 10 อันดับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการท่องเที่ยว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมพลศึกษา กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับ หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานฯ กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมการบินพลเรือน กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
นายณพงศ์ ศิริขันตยกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้กรมบัญชีกลางจึงได้ออกประกาศทางเว็บไซต์ของกรมฯ ว่า ภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่ชะลอ หากในไตรมาส 3 นี้ ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ช่วยเร่งรัดเบิกจ่ายให้มากที่สุดก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ต่ำกว่าเป้าหมายในเดือนเมษายน กรมฯ มีความเป็นห่วง จึงพยายามเร่งรัดหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ระดับการเบิกจ่ายยังต่ำให้เร่งรัดการเบิกจ่าย โดยกรมบัญชีกลางจะเข้าไปประสานดูว่ายังติดขัดในประเด็นใดอีกบ้าง เพื่อให้ผลเบิกจ่ายในเดือนพฤษภาคมกลับมาชดเชยในส่วนที่ขาดในเดือนก่อนหน้าด้วย